หลังการประชุม ครม. วันนี้ (24 มีนาคม) ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า
มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ยังมีมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ 7 ข้อ ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระ ได้แก่
1.สินเชื่อรายย่อย ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท โดย ธพว. อัตราดอกเบี้ย 3% ช่วง 2 ปีแรก
2.ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แบ่งเป็น ภ.ง.ด. จากเดือนพฤษภาคม เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และ ภ.ง.ด. 51 จากเดิมเดือนสิงหาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน 2563
3.ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษี และชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน
4.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการ สถานบริการ โดยเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีสถานบริการออกไป 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
5.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เป็นระยะเวลา 3 เดือน
6.ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงช่วงกันยายน 2563
7.ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-bank) ให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ Leasing ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงธันวาคม 2564
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์