×

7 เหตุการณ์สำคัญในวงการบันเทิงไทย เมื่อโควิด-19 ส่งผลกระทบให้วงการบันเทิงทั้งระบบต้องปรับตัวเพื่อเติบโต

30.12.2020
  • LOADING...
7 เหตุการณ์สำคัญในวงการบันเทิงไทย เมื่อโควิด-19 ส่งผลกระทบให้วงการบันเทิงทั้งระบบต้องปรับตัวเพื่อเติบโต

HIGHLIGHTS

  • ต้องยอมรับว่าโควิด-19 นั้นยาวนานและส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่หลายคนคาดคิด และเพราะด้วยความยาวนานนี้เองที่ส่งผลกระทบแบบโครงสร้างทั้งระบบให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าจะพูดให้ถูก ดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้มากๆ ว่าโควิด-19 อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการดูหนัง หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงธุรกิจภาพยนตร์ไปในแบบที่แม้โลกจะพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว 
  • แต่เมื่อมีวิกฤต มนุษย์ฉลาดพอจะปรับตัว และมันตามมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ อีเวนต์ โชว์ และคอนเสิร์ตออนไลน์ของศิลปินมากมายหลายตาค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นการประคับประคองชีวิตและความรู้สึกของทั้งตัวศิลปินและแฟนเพลงให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปให้อย่างดีที่สุด 
  • แม้การผ่อนปรนระยะที่ 3 จาก ศบค. ที่อนุญาตให้โรงภาพยนตร์และโรงละครสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่เพราะช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันดีว่าได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและวิถีชีวิตของมนุษย์มหาศาล มันได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ลมหายใจของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ได้สิ้นสุดลง

ย้อนกลับไปตอนนับถอยหลัง ‘เคานต์ดาวน์’ เข้าสู่ปี 2020 เชื่อว่าหลายคนคงคิดคล้ายๆ กันว่าตัวเลข 2020 ที่สวยชนิดที่ถ้าจัดประมูลเลขทะเบียนรถสวยมงคลก็คงจะได้เงินไปหลายบาท นั้นน่าจะเป็นปีที่ดีและนำพามาซึ่งความหวังใหม่ๆ 

 

แต่ถึงเวลานี้ก็คงอย่างที่ได้รับรู้รับทราบกันแล้วว่า โรคระบาดโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 ได้เปลี่ยนทุกความหวังของคนทั่วโลกให้กลายเป็น ‘วิกฤต’ ชนิดที่สร้างผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมย่าน แทบทุกวงการ ซึ่งหนึ่งในวงการที่ได้รับผลกระทบนักหนาที่สุดไม่แพ้ใครก็คือ อุตสาหกรรมบันเทิงทั้งระบบ และแน่นอนว่าในระดับย่อยอย่าง ‘บันเทิงไทย’ เองก็ต้องเจอเข้ากับวันที่ซบเซาไม่แพ้กัน 

 

มา! จะจบปีแล้ว สูดลมหายใจเข้าปอดแล้วร้อง ฮึบ! แล้วมาสรุปกันหน่อยว่าโควิด-19 แสดงอิทธิฤทธิ์อะไรบ้างในรอบปีที่ผ่านมา 

 

 

  1. แมทธิว-ลิเดีย-แพรวา เมื่อคนบันเทิงติดโควิด-19 จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทย ‘ตื่น’ ว่าโรคระบาดใกล้ตัวกว่าที่คิด  

“สวัสดีครับ ผมแมทธิวอยากจะแจ้งให้ทุกคนทราบ ยิ่งคนที่ใกล้ชิดผมและได้สัมผัสในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ว่าผมเป็นโควิด-19 ไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยและทั่วโลกตอนนี้ ขอแจ้งข้อมูลสั้นๆ ไว้ก่อน และจะแจ้งรายละเอียดอีกครั้งเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม” 

 

แมทธิว ดีน คือคนบันเทิงไทยรายแรกที่เริ่มต้นออกมาประกาศผ่าน Instagram ส่วนตัวว่า เขาติดโควิด-19 พร้อมทั้งเตือนให้คนที่อยู่ใกล้กับเขาในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา เฝ้าระวังอาการเป็นพิเศษ ก่อนที่ในเวลาต่อมา ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ ภรรยาสาว ก็ได้แจ้งผลตรวจโควิด-19 ว่าเป็นบวกเช่นกัน อีกเคสในเวลาไล่เลียกัน แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ นักแสดงสาวจากนาดาว บางกอก ก็ได้เปิดเผยผ่าน Instagram ส่วนตัวว่า ตรวจพบโควิด-19 พร้อมๆ กับเปิดไทม์ไลน์การใช้ชีวิตของเธอในช่วงก่อนจะตรวจพบเชื้อ 

 

จากจุดเริ่มต้นของการประกาศสู่สาธารณชนของคนทั้งสามคนไม่ได้ส่งผลเพียงแค่แสดงออกในแง่การรับผิดชอบต่อสังคม แต่ผลของการ ‘ประกาศ’ ครั้งนี้ยังเป็นเหมือนการกระตุ้นเตือนและปลุกให้คนไทยทั้งประเทศและทุกภาคส่วนได้ ‘ตื่น’ ขึ้นมารับรู้ ใส่ใจ และยอมรับอย่างจริงจังมากขึ้น ว่าภัยของโรคระบาดนั้นใกล้ตัว ติดต่อง่าย และอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของตัวเองและคนรอบตัวได้มากกว่าที่คิด 

 

 

  1. จอขนาดใหญ่และเบาะในโรงภาพยนตร์กลายเป็นสถานที่อันเงียบเหงา 

โรงภาพยนตร์เงียบเหงาไร้ผู้คน โปสเตอร์ในกรอบ Coming Soon กลายสภาพเป็นของค้างโรง ภาพยนตร์เก่าถูกปรับให้ต้องเข้าโรงฉายอีกครั้ง ขณะที่ภาพยนตร์ใหม่ทุนสูงทั้งไทยและฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่องประกาศเลื่อนฉายแบบไม่แน่ใจอนาคต

 

ต้องยอมรับว่าคงไม่มีวิกฤตครั้งไหนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไทยทั้งระบบได้มากเท่านี้มาก่อน เริ่มต้นจากรัฐสั่งปิดโรงภาพยนตร์ชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน หวังสกัดการระบาด ขณะเดียวกันก็เป็นการอุดเส้นเลือดและหลอดลมที่จะมาหล่อเลี้ยงธุรกิจบันเทิงทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กอย่างโรงภาพยนตร์ ค่ายผู้ผลิต รวมไปถึงกลุ่มคนทำงานที่อยู่รอดได้จากอุตสาหกรรมนี้ 

 

ภาพการปรับตัวในไทยเองก็กระทบภาพยนตร์ทั้งค่ายหนังและโรงภาพยนตร์อย่างน่าเหนื่อยแทน เพราะต้องพยายามหาวิธีให้คนอินกับการรับชมภาพยนตร์บนจออีกครั้ง เราได้เห็นอีเวนท์ Drive-In Cinema, การนำภาพยนตร์ระดับคลาสสิกกลับเข้าโรงฉายอีกครั้ง ฯลฯ แต่ถ้ามองในหลักความจริง นั่นก็เป็นอีเวนต์ชั่วครั้งชั่วคราวที่ไม่สามารถต่อลมหายใจในระยะยาวได้ 

 

ต้องยอมรับว่าโควิด-19 นั้นยาวนานและส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่หลายคนจะคาดคิด และก็เพราะด้วยความยาวนานนี้เองที่ส่งผลกระทบแบบโครงสร้างทั้งระบบให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าจะพูดให้ถูก ดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้มากๆ ว่าโควิด-19 อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการดูภาพยนตร์ หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงธุรกิจภาพยนตร์ไปในแบบที่แม้โลกจะพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว โรงภาพยนตร์ก็อาจจะไม่ได้กลับมาคึกคักเท่าเดิม (หรือถ้ามองโลกในแง่ดีสุดๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายปี) แม้ว่าเบลล่า ราณี จะเพิ่งขึ้นแท่นเป็นนางเอกร้อยล้านสดๆ ร้อนๆ จาก อีเรียมซิ่ง ก็เถอะ แต่ภาพรวม ณ นาทีนี้ ดูเหมือนแพลตฟอร์มสตรีมมิงค่อยๆ เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ และขยับเข้ามามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทั่วโลกมากขึ้นทุกที ตอนนี้ในระยะยาวก็คงต้องลุ้นกันต่อว่ามนต์ขลังของโรงภาพยนตร์จะกลับมาได้ไหม และจะกลับมาได้ในกี่ปี 

 

 

  1. ลาก่อนโรงภาพยนตร์สกาลา

อีกหนึ่งโมเมนต์น่าเศร้าของปีนี้ที่ก็อยู่ในองคาพยพของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เช่นกัน เพราะถึงแม้การผ่อนปรนระยะที่ 3 จาก ศบค. ที่อนุญาตให้โรงภาพยนตร์และโรงละครสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่เพราะช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันดีว่าได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและวิถีชีวิตของมนุษย์มหาศาล มันได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ลมหายใจของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ได้สิ้นสุดลง หลังจากสิ้นสุดกิจกรรม ‘La Scala ลาสกาลา’ Final Touch of Memory ‘La Scala ลาสกาลา’ เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 4-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

 

  1. คอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิง ยกเลิก! แล้วไปเจอกันบนโลกออนไลน์  

ไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์ แต่วงการดนตรีเองก็กระทบอย่างหนัก! เพราะต้องยกเลิกทั้งคอนเสิร์ตและงานโชว์จนหมด ไหนจะยังรวมไปถึงคอนเสิร์ตของศิลปินเบอร์สำคัญที่แฟนๆ รอคอย พากันทยอยยกเลิกเปิดการแสดง ไม่ว่าจะเป็น Green Day, Hyukoh, GOT7 และอีกเพียบ

 

แต่เมื่อมีวิกฤต มนุษย์ฉลาดพอจะปรับตัว และมันตามมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ บนโลกออนไลน์ อีเวนต์ โชว์ และคอนเสิร์ตออนไลน์ของศิลปินมากมายหลายตาค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นการประคับประคองชีวิตและความรู้สึกของทั้งตัวศิลปินและแฟนเพลงให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปให้อย่างดีที่สุด 

 

เราได้เห็นค่ายเพลง What The Duck ริเริ่มโปรเจกต์สุดท้าทายอย่าง ‘Whal & Dolph Online Market Concert’ คอนเสิร์ตออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรกของเมืองไทย ที่ได้เสียงตอบรับจากแฟนเพลงด้วยการขายบัตรจำนวน 1,000 ใบ หมดภายใน 10 นาที หรือ ‘Stamp #แอบดู BIRTHDAY LIVE’ คอนเสิร์ตออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรกของ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ที่เชิญชวนแฟนเพลงมาร่วมแอบดูปาร์ตี้วันเกิดของเขาอย่างใกล้ชิดติดขอบจอ

 

ไปจนถึงคอนเสิร์ตแบบรวมศิลปินมากมายในระดับเฟสติวัลแบบออนไลน์กับ ‘First Interactive Online Music Festival: Top Hits Thailand’ ที่รวบรวมศิลปินเพลงทั้งรุ่นพี่ รุ่นกลาง และคลื่นลูกใหม่ ที่กำลังมีผลงานเพลงฮิตระดับประเทศในเวลานี้มารวมตัวกัน และเติบโตไปสู่อีเวนต์คอนเสิร์ตแบบออนไลน์ในระดับเอเชียที่ศิลปินไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่าง ‘a-nation online 2020’ เทศกาลฤดูร้อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก

 

และค่ายเพลงน้องใหม่จากฝั่งเอเชียอย่าง 88rising ที่จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ ‘Asia Rising Forever’ โดยรวบรวมศิลปินเอเชียไว้มากมาย ที่สำคัญคือมี ภูมิ วิภูริศ เจ้าของบทเพลง Lover Boy เป็นหนึ่งในไลน์อัพอยู่บนเวทีนี้ด้วย นี่แค่ยกมาส่วนหนึ่ง จริงๆ ตลอดปี 2020 ยังมีอีเวนต์ออนไลน์ปีนี้อีกเพียบ! 

 

 

  1. ถ่ายซีรีส์แบบ Home Quarantine 

ไม่ใช่เพียงแต่คอนเสิร์ต เพราะสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลให้กองถ่ายภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องต้องหยุดและเลื่อนการถ่ายทำออกไปชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานรูปแบบใหม่ๆ ของเหล่าผู้กำกับและนักแสดงเหล่านี้ได้ในโปรเจกต์ กักตัว Stories หนังสั้นที่จะถูกเล่าผ่าน VDO Call 10 เรื่อง จาก 10 ผู้กำกับ 19 นักแสดง โดยค่ายนาดาว บางกอก 

 

นำทีมโดย ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์และผู้กำกับจากนาดาว บางกอก ที่อยากจะสร้างซีรีส์สนุกๆ เพื่อมอบความสุขให้กับผู้ชมในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในตอนนี้ และได้ชักชวนเพื่อนผู้กำกับอีก 9 คน ได้แก่ หมู ชยนพ (Friend Zone, Suckseed ห่วยขั้นเทพ), แคลร์ จิรัศยา (One Year 365 วันบ้านฉัน บ้านเธอ), เสือ พิชย (Spike!), กุ๊ก ธนีดา (Shoot! I Love You), วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ (Great Men Academy), ก๋วยเตี๋ยว จตุพงศ์ (มิวสิกวิดีโอเพลง เก็บเธอเอาไว้ดูก่อน – Whal & Dolph), อัด อวัช (นักร้องนำวง mints และนักแสดงจากซีรีส์ Spike!), และ มีน ทศพร (มือเขียนบทจากซีรีส์ เลือดข้นคนจาง) มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวผ่านการถ่ายทำในรูปแบบ VDO Call 

 

โดยมี 19 นักแสดงจากค่ายนาดาว บางกอก เช่น เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช, แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์, ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร, กันต์ ชุณหวัตร, ตน-ต้นหน ตันติเวชกุล ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะต้องรับบทเป็นนักแสดงแล้ว ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นตากล้องในการสร้างสรรค์ภาพให้ออกมาตามที่ผู้กำกับต้องการ รวมถึงการจัดสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขาเองอีกด้วย  

 

งานนี้ก็พิสูจน์ความสร้างสรรค์ของคนไทยได้เป็นอย่างดีว่า ถึงอยู่บ้านเราก็ผลิตงานได้แบบไม่ต้องง้อทีมสร้างขนาดใหญ่เหมือนที่เคยเป็นมา 

 

 

  1. #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง เมื่อคนบันเทิงรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกทางการเมือง 

นับเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสที่คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกทางสังคมและการเมืองหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยเริ่มดีขึ้น ปรากฏการณ์นี้ตามมาพร้อมๆ กับเรียกหาการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของแฮชแท็ก #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง กลายประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เมื่อมีคนในวงการบันเทิงหลากหลายแขนง ทั้งผู้กำกับ นักแสดง นักดนตรี ศิลปินเพลงไทยจำนวนมาก ร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนการรับฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างปลอดภัย และเรียกร้องให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง

 

โดยกลุ่มบุคคลในวงการบันเทิงนี้ก็ล้วนเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์, ณัฐ ศักดาทร, เจนนี่ ปาหนัน, เก้า สุภัสสรา, แสตมป์ อภิวัชร์, ไอซ์ พาริส, วี วิโอเลต, ใบเฟิร์น อัญชสา, TRINITY, แบงค์ ธิติ, เจเจ กฤษณภูมิ, สิงโต ปราชญา, คริส พีรวัส, วง Serious Bacon, เต ตะวัน, น้ำหนึ่งและฝ้าย BNK48 และอื่นๆ อีกมากมาย โดยหลักๆ แล้วออกมาโพสต์ข้อความเพื่อเรียกร้องต่อรัฐให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชน หยุดคุกคามประชาชน และไม่ควรมีใครหายไปเพราะพูดความจริง

 

สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงในประเด็นนี้คือ การที่บุคลากรที่ออกมาพูดเรื่องนี้ส่วนใหญ่มีจำนวนมากที่เป็นข้อความจากศิลปินหรือนักแสดงวัยรุ่น ที่ล้วนอยากส่งต่อและเป็นหนึ่งพลังให้เกิดการพูดถึงประเด็นดังกล่าวในวงกว้าง และนับเป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ได้ว่ากลุ่มคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากสามารถที่จะเป็นกระบอกเสียงแทนเสียงของคนอื่นได้ดังมากขึ้นในอนาคต

 

 

  1. Big Mountain Music Festival 2020  

กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ของวงการเพลง เมื่อเทศกาลดนตรี Big Mountain Music Festival 2020 ต้องยุติการแสดงทุกเวทีของวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ในเวลา 22.00 น. พร้อมกับความคิดเห็นและคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเทศกาลดนตรีที่ได้ชื่อว่า ‘ใหญ่’ ที่สุดในประเทศไทย แม้เหตุผลของทางภาครัฐ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา จะแถลงว่า ที่ประชุมมีมติออกคำสั่งปิดสถานที่จัดงาน เนื่องจากทีมผู้จัดงานไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ที่เสนอต่อจังหวัดนครราชสีมา 

 

แต่ขณะเดียวกันผู้ชมงานและคนไทยจำนวนมากที่ติดตามข่าวก็อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าการสั่งยกเลิกงาน Big Mountain Music Festival 2020 ก่อนกำหนดนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในงานหรือไม่ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X