ผู้สนใจขอไลเซนส์เป็นผู้ให้บริการ ‘ธนาคารไร้สาขา’ (Virtual Bank: VB) ต้องมีคุณลักษณะแบบใด หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิด 7 หลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ฉบับล่าสุด! (Final)
ประกาศ เปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการวันแรก วันที่ 20 มีนาคม 2567 ประกาศผลผู้ได้ใบอนุญาตเดือนมิถุนายน 2568 ก่อนเริ่มเปิดดำเนินการได้จริงในเดือนมิถุนายน 2569
เปิด 7 คุณสมบัติที่แบงก์ชาติมองหา
- มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ตาม Green Line โดยไม่เกิด Red Line
โดย ธปท. จะประเมินจากสิ่งที่ผู้สมัครเสนอมา ยกตัวอย่างเช่น
– รูปแบบ / แผนการประกอบธุรกิจ
– ความสามารถในการตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม
– ความเป็นไปได้ทั้งด้านการเงินและทรัพยากรอื่นๆ
– ความสามารถในการบริหารรายได้และต้นทุนอย่างยั่งยืน
– KPI ในการดำเนินงานตามแผนการประกอบธุรกิจที่ชัดเจน
ทั้งนี้ สิ่งที่ ธปท. อยากเห็น (Green Line) ได้แก่
– บริการทางการเงินรูปแบบใหม่หรือเพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิมผ่านช่องทางดิจิทัล
– มีบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs กลุ่ม Unserved / Underserved
– สร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีแก่ลูกค้า
– ส่งเสริมและกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม
ส่วนสิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็น (Red Line) ได้แก่
– แนวทางประกอบธุรกิจที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน / ผู้ใช้บริการ ในวงกว้าง
– การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะหรือความมั่นคง
– การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
– การเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม
- การเข้าถึงการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น
– แนวทางการได้มา / เข้าถึง การบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นไปตามแนวนโยบาย Data Governance ของ ธปท.*
– แนวทางการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถโอนย้ายข้อมูลของตนได้สะดวกตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด
- ความสามารถในการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล
- การใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และให้บริการได้ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น
– กรรมการอย่างน้อย 1 คน และผู้บริหารในตำแหน่งสูงสุดด้านเทคโนโลยี มีประสบการณ์ในงานด้าน IT หรือการให้บริการด้านดิจิทัล อย่างน้อย 3 ปี
– แผนงานด้านระบบ IT เหมาะสมกับแผนการประกอบธุรกิจ ซึ่งได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่มีคุณสมบัติตามที่ ธปท. กำหนด
– รวมถึงแผน IT Outsource (ถ้ามี) โดยต้องไม่ใช้ระบบเงินฝาก / สินเชื่อ / Mobile และ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่น
- ความรู้ ความสามารถ และธรรมาภิบาล ของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น
– คุณสมบัติและประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ Virtual Bank
– มีธรรมาภิบาลที่ดี และไม่มีลักษณะต้องห้ามหรือประวัติการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีนัยสำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ
– การมีโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างคณะกรรมการ ที่สะท้อนกลไกในการกำกับดูแลกิจการและการควบคุมภายในที่ดีตามหลักเกณฑ์ของ ธปท.
- ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงินและวัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture) ที่ดี ยกตัวอย่างเช่น
– แผนการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนการประกอบธุรกิจ รวมถึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวนโยบายของ ธปท.
– แผนการเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (Risk Culture)
– แผนการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งครอบคลุมถึงการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม และการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ
– แผนการเลิกประกอบกิจการ (Exit Plan) ที่เตรียมแนวทางรองรับและดูแลลูกค้าอย่างเหมาะสม กรณีมีเหตุจำเป็นต้องเลิกกิจการในช่วงระยะแรกของการประกอบธุรกิจ (Phasing)*
- ฐานะและการสนับสนุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น ยกตัวอย่างเช่น
– ฐานะและผลการดำเนินงานของผู้ถือหุ้นสำคัญ
– ความสามารถและความมุ่งมั่นของผู้ถือหุ้นหลักที่จะสนับสนุนทางการเงินให้แก่ Virtual Bank ทั้งในกรณีต้องการสภาพคล่องหรือเงินทุน รวมถึงกรณีจำเป็นต้องชดใช้คืนเงินฝากตาม Exit Plan
สรุปไทม์ไลน์ คนไทยจะได้ใช้เมื่อไร?
วันที่ 19 มีนาคม 2567: ธปท. จะจัดประชุมชี้แจงให้แก่ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาต
โดยสามารถศึกษารายละเอียดที่เว็บไซต์ ธปท.
วันที่ 20 มีนาคม 2567: เปิดรับสมัครคำขออนุญาต
ผู้ยื่นคำขออนุญาตต้องลงทะเบียนใช้งาน Digital Signature กับ TDID และลงทะเบียน BOT SecureNET กับ ธปท. เพื่อใช้ยื่นคำขอและเอกสารผ่านช่องทาง Microsoft Teams
โดยสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธปท.
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร ผู้ที่สนใจตั้ง Virtual Bank สามารถส่งคำถามผ่านเว็บไซต์ได้เพียงช่องทางเดียว โดย ธปท. จะมีการประกาศคำถามและคำตอบผ่านสาธารณะ เนื่องจากจะไม่มีการส่งคำถามเป็นการส่วนตัวหรือขอเข้าพบ
วันที่ 19 กันยายน 2567: ปิดรับสมัครคำขออนุญาต
โดยหลังจากปิดรับสมัคร ธปท. จะพิจารณาเอกสารและข้อมูล เพื่อคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และกระทรวงการคลังพิจารณารายชื่อตามที่ ธปท. เสนอ
เดือนมิถุนายน 2568: กระทรวงการคลังประกาศผลการคัดเลือก
ทั้งนี้ หากมีเหตุอันควร อาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 3 เดือน
หลังจากนั้นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank จากกระทรวงการคลัง
เดือนมิถุนายน 2569: เปิดดำเนินการ Virtual Bank
ทั้งนี้ หากมีเหตุอันควร อาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 1 ปี
มีใครสนใจขอใบอนุญาตบ้าง?
สำหรับรายชื่อบริษัทผู้สนใจสมัครของไลเซนส์ ธปท. ระบุว่า จะรู้ชัดในเดือนมิถุนายนปี 2568 เลย โดยระหว่างทาง ธปท. จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาก่อน
สำหรับจำนวนผู้สนใจสมัครอาจมากกว่าที่ออกข่าวก็ได้ โดยต้องรอดูว่าสุดท้ายคนที่บอกว่าสนใจจะยื่นจริงหรือไม่ หรือคนที่ไม่เคยออกข่าวเลยสุดท้ายจะมายื่นหรือไม่
ก่อนหน้านี้มีกลุ่มบริษัทที่เคยแสดงความสนใจและเป็นข่าวอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม 1: KTB + AIS + GULF
กลุ่ม 2: SCB + KakaoBank (ของเกาหลีใต้)
กลุ่ม 3: JMART Group + Partner
แบงก์ชาติยัน ยึดเกณฑ์คลัง ให้ตั้ง Virtual Bank ได้ไม่จำกัดจำนวน
วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ยืนยันว่า ใช้หลักการเดียวกับประกาศกระทรวงการคลัง ที่ไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย
แต่กระนั้น ตามที่ ธปท. เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ วิภาวินก็ยังมองว่า จำนวนที่เหมาะสมคือ ‘ไม่เกิน 3 ราย’ แต่ในอนาคตก็ต้องพิจารณาอีกครั้งตามประกาศของกระทรวงการคลัง
ยืนยัน Virtual Bank ช่วยในการเข้าถึงบริการทางการเงินของลูกค้ารายเล็กได้
วิภาวินกล่าวว่า กลุ่มคนที่ไม่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็น SMEs รายย่อย หรือผู้ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีประวัติการเงินที่ยาวนานกับสถาบันการเงินพอ
โดยจากประสบการณ์ต่างประเทศพบว่า Virtual Bank ในประเทศบราซิล จีน และเกาหลีใต้ ช่วยตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นอย่างมาก
ไม่ได้กำหนดสัดส่วนลูกค้า SMEs-Underserved-Unserved
วิภาวินระบุว่า ธปท. ไม่ได้กำหนดว่า Virtual Bank ต้องมีสัดส่วนลูกค้ารายเล็กและรายย่อย (SMEs) กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) เป็นสัดส่วนเท่าไรของพอร์ต โดยจะเปิดให้ผู้สมัครเสนอมาก่อนตามศักยภาพและความสามารถ แต่ระบุว่า สัดส่วนดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณา
หากผู้สนใจเป็นธนาคารรายเดิม-ผู้เล่นรายใหญ่ จะเกิดปัญหาการครองตลาดหรือไม่
วิภาวินยืนยันว่า ผู้ที่สนใจต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ 7 ข้อ รวมไปถึงการต้องมาในรูปแบบใหม่ การให้บริการที่แตกต่าง และตอบโจทย์ได้ดีขึ้น เช่น บริการทางการเงินที่ตรงกับจริตของลูกค้า และบริการทางการเงินที่กระตุ้นการแข่งขัน ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นและการลดค่าธรรมเนียมบริการเงินฝาก
นอกจากนี้ยังหวังว่า การเข้ามาของ Virtual Bank จะทำให้ต้นทุนการดำเนินการในระยะยาว (หลังจากต้องลงทุนในระบบในช่วงแรก) จะต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และอาจส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั่วไปได้
ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท ปิดกั้นรายเล็กหรือไม่
ธปท. ระบุว่า ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท เป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับการรองรับการดำเนินงานในช่วงแรกที่ต้องลงทุนเยอะก่อนที่รายได้จะเข้ามา
โดยตัวเลขทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาทในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาทในระยะปกติ ธปท. ประเมินจาก Virtual Bank ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศที่พบว่า การติดตั้งและวางระบบก็คิดเป็นมูลค่าราว 1.2 พันล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ Virtual Bank ที่จะเกิดขึ้นมาก็ต้องมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่มั่นคง เพื่อให้ทางการและประชาชนมั่นใจ
“มีตัวอย่างของ Virtual Bank ที่ปิดกิจการในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งเปิดให้ตั้ง Virtual Bank แบบไม่จำกัด โดยรายเล็กก็สามารถเปิด Virtual Bank ได้ ทำให้มีหลายรายที่เปิดต่อไม่ไหวและต้องปิดตัวไป บทเรียนนี้ทำให้ ธปท. กำหนดเกณฑ์ Exit Plan ว่าต้องมีการเตรียมการดูแลลูกค้าอย่างไรหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน”