นับเป็นบิ๊กดีลในของอุตสาหกรรมค้าปลีกโลกที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และเป็นข้อตกลงการซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ ในปีนี้ เมื่อ Seven & i Holdings ผู้เป็นบริษัทแม่ของยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในญี่ปุ่น ได้บรรลุข้อตกลงที่จะซื้อกิจการ Speedway ซึ่งเป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อและสถานีบริการน้ำมันในสหรัฐฯ จาก Marathon Petroleum ด้วยมูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.56 แสนล้านบาท
แม้จะจ่ายเงินไปมหาศาล แต่นี่ก็อาจเป็นดีลที่คุ้มค่า เพราะ Seven & i ผู้เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต Ito-Yokado และห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นและที่อื่นๆ รวม 69,000 สาขาทั่วโลก วางแผนให้ ‘สหรัฐฯ’ เป็นขุมทรัพย์ต่อไปที่ต้องการจะเจาะ
โดยต้องการให้การดำเนินงานของสหรัฐฯ เป็นเสาหลักในการเติบโต เนื่องจากตลาดร้านสะดวกซื้อในบ้านเกิดเริ่มอิ่มตัว แม้วันนี้บริษัทจะเป็นผู้เล่นที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จากดำเนินงานร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ประมาณ 9,000 แห่งก็ตาม ขณะที่ Speedway เป็นร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ซึ่งมีสาขาประมาณ 4,000 แห่ง ส่วนอันดับ 2 เป็นของ Alimentation Couche-Tard ซึ่งบริหารร้าน Circle K จำนวน 8,000 สาขาด้วยกัน
การเข้าซื้อกิจการ Speedway ซึ่งดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อและสถานีบริการน้ำมันจะช่วยเพิ่มความเป็นผู้นำกลุ่มค้าปลีกของญี่ปุ่นในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย 7-Eleven กล่าวว่าข้อตกลงล่าสุดจะนำมาซึ่งจำนวนสาขาในสหรัฐฯ และแคนาดาประมาณ 14,000 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021
“นี่เป็นอีกก้าวในประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เราเป็นผู้ค้าปลีกระดับโลก” ริวอิจิ อิซากะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว
ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ได้มีรายงานข่าวเรื่องดีลดังกล่าว แต่ครั้งนั้นมีการประเมินว่าจะมีมูลค่ามากถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะมีรายงานว่ายกเลิกดีลในเดือนมีนาคมหลังจากกังวลเรื่องราคา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
นักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายคนบอกว่าราคาที่เสนอครั้งแรกนั้นสูงเกินไป แต่บางคนก็บอกว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับ Seven & i ที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอเมริกาเหนือ ซึ่งปีงบประมาณล่าสุดคิดเป็นสัดส่วนยอดขายกว่า 40% ก้าวกระโดดอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในญี่ปุ่น 7-Eleven กำลังเผชิญแรงท้าทายจากตลาดร้านสะดวกซื้อที่กำลังอิ่มตัว ตลอดจนประชากรที่มีแนวโน้มลดน้อยลงและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ตลาดแรงงานมีข้อจำกัดและกดดันรูปแบบธุรกิจ 24/7 ของ 7-Eleven
ในขณะที่แดนลุงแซม แม้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากวิกฤตโควิด-19 แต่ในระยะยาวนั้นประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งรูปแบบธุรกิจก็ต่างจากในญี่ปุ่นที่ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองและย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น แต่ร้านสะดวกซื้อที่มีปั๊มน้ำมันอยู่ด้วยเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดในสหรัฐฯ
และด้วยการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ ร้านสะดวกซื้อถูกประเมินว่า ‘ไมล์สุดท้าย’ ที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการส่งมอบพัสดุไปยังผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อ Speedway ก็ใช่ว่าจะเป็นโอกาสให้กับ Seven & i ไปเสียหมด เพราะอนาคตของรถยนต์เครื่องยนต์เผาไหม้กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ Seven & i ต้องใช้เงินอีกมากเพื่อลงทุนในสถานีชาร์จ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Business/Business-deals/7-Eleven-parent-to-buy-US-convenience-store-Speedway-for-21bn
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-08-02/7-eleven-owner-to-buy-marathon-s-speedway-unit-for-21-billion?srnd=deals
- https://www.reuters.com/article/us-marathon-ptrlum-speedway-seven-i-hldg/marathon-petroleum-sells-speedway-to-7-eleven-owner-for-21-billion-idUSKBN24Y0RT