วันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ไฟเขียวโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป 50 ล้านคน
โดยเริ่มลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/67 ผ่านแอปของรัฐบาล ยืนยันเงินเข้ากระเป๋าครั้งเดียวแน่นอนไตรมาส 4 หวังโครงการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโต 1.2-1.6% พร้อมย้ำหลักเกณฑ์คนที่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทว่า “ทำตามคำแนะนำของแบงก์ชาติ ว่าให้ดูแลเฉพาะกลุ่ม”
ทั้งนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงคำจำกัดความของคำว่า ‘ร้านค้าขนาดเล็ก’ พร้อมถามต่อว่า ร้าน 7-Eleven และ Makro นับว่าเข้าข่ายร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุปเงื่อนไข ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 10,000 บาท แจก 50 ล้านคน เงินเข้ากระเป๋าเมื่อไร ใครมีสิทธิได้บ้าง
- เศรษฐาเชื่อ ประชาชนจะรู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายดี แจกเงิน 10,000 บาท 50 ล้านคน ไม่ให้คนมีเงินเก็บเกิน 5 แสน เพราะฟังคำแนะนำ ธปท.
- 7-Eleven ยังอดใจไม่ไหว กระโดดเข้าสู่สังเวียน Affiliate Marketing ที่ให้คนทั่วไปมาช่วยขายของแลกคอมมิชชัน 1-5%
โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบว่า สำหรับรายละเอียด (คุณสมบัติร้านค้าเล็ก) ยังต้องมีการสรุปกันอีกที
แต่ในเบื้องต้นรัฐบาลมองว่าร้านค้าระดับ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ลงมา นับว่าเข้าข่ายร้านค้าขนาดเล็ก ดังนั้น Makro และห้างสรรพสินค้าจะไม่ถูกเข้าร่วม
ระหว่างการรอความชัดเจนในการกำหนดนิยามของคำว่า ‘ร้านค้าขนาดเล็ก’ ที่เหมาะสมจะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นักวิชาการบางคนมองว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะใช้คำนิยามจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีการกำหนดคำนิยามของร้านวิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprise) ไว้อยู่แล้ว คือต้องมีรายได้ (Revenue) ต่อปีไม่เกิน 50 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 30 คนในภาคการค้าและบริการ
ซึ่งตามคำนิยามจากกระทรวงพาณิชย์ 7-Eleven อาจไม่เข้าข่าย เพราะ 7-Eleven อยู่ภายใต้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ซึ่งรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2566 รายได้ 399,558 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 15,403 ล้านบาท จากมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 14,545 สาขา
ลึกลงไปมีการระบุถึงยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 80,837 บาท มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 83 บาท ในขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 965 คนในปีที่ผ่านมา
ดังนั้นหากนำรายได้เฉลี่ยต่อวันมาคูณด้วยจำนวน 365 วัน ก็จะเท่ากับตัวเลขราว 29.5 ล้านบาทต่อสาขาต่อปี ซึ่งก็สามารถเข้าข่ายร้านขนาดเล็กตามกระทรวงพาณิชย์
แต่ที่สุดแล้ว 7-Eleven จะเข้าข่ายหรือไม่ยังเป็นที่ชัดเจน เพราะที่สุดต้องรอคณะกรรมการสรุปอีกที ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ระหว่างรายได้ต่อสาขาหรือรายได้ทั้งบริษัท
แต่หากคำนวณจากรายได้เฉลี่ยต่อสาขาที่ 29 ล้านบาทต่อปี ก็อาจมีสิทธิ์เข้าข่าย แต่คงจะเป็นการยุ่งยากในการคัดกรองสาขาที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปีออกไปหรือไม่
ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุ มองบวกต่อการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในส่วนความชัดเจนของแหล่งเงินทุนและเงื่อนไขการใช้ หุ้นในกลุ่มค้าปลีกน่าจะได้รับประโยชน์อย่างน้อยจากเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบที่คึกคักขึ้น เน้น CPAXT, CPALL และ BJC
โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินระหว่างประชาชนกับร้านค้า จำกัดเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ส่วนร้านค้ากับร้านค้าไม่กำหนดเงื่อนไขขนาดร้านค้า การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้นตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ส่วนการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
โดยรวมประเมินเป็นบวก รัฐประเมินว่าจะสร้าง Upside ต่อ GDP ราวปีละ 1.2-1.8% นอกจากนี้ จากภาพตลาดจะคลายกังวลต่อแหล่งที่มาดังกล่าว ขณะที่คาดว่า GDP ไทยและกำไรหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ อาทิ ค้าปลีก จะมี Upside อย่างน้อยจากเม็ดเงินใหม่ที่หมุนเวียนในระบบที่คึกคักมากขึ้น ทำให้เรายังมองบวกต่อ CPALL, CPAXT และ BJC ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ อยู่ระหว่างติดตาม ดังนี้
CPALL เข้าข่ายร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดหรือไม่ สำหรับการใช้เงินในส่วนแรกที่บังคับระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก
BJC, CPAXT, CRC, DOHOME, GLOBAL, HMPRO และ ILM สามารถเข้าร่วมโครงการในฐานะการขายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าได้หรือไม่