×
SCB Omnibus Fund 2024

โควิด-19 ยิงหมัดฮุกใส่ 7-Eleven จนรายได้ 1Q64 ลดลง 15% ขณะที่กำไรเหลือเพียง 947 ล้านบาท หายไปกว่า 75.4%

12.05.2021
  • LOADING...
7-Eleven

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาปีกว่าๆ ยังเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่ผู้คนทำงานจากที่บ้านและไม่ออกไปไหน จึงซื้อสินค้าในร้านที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ทั้งรายได้และกำไรลดลงอย่างถ้วนหน้า

 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า รายได้รวม 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

 

สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลดลงของรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบทางลบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในเดือนมกราคม ทำให้การบริโภคภายในประเทศ และกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการท่องเที่ยวชะลอการฟื้นตัวไปอีก

 

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้กำไรสุทธิลดลงกว่า 54.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เหลืออยู่เพียง 2,599 ล้านบาท ซึ่งนอกจากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินสืบเนื่องจากการเข้าลงทุนในบริษัทร่วมเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งเป็นการเข้าซื้อธุรกิจของเทสโก้ โลตัส 

 

เจาะลึกลงไปในธุรกิจหลักนั้นคือร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven พบว่า ไตรมาส 1 ปี 2564 มีร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 155 สาขา ทำให้สิ้นไตรมาสมีร้านรวมทั้งสิ้น 12,587 สาขา ส่วนใหญ่ 85% เป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

 

ขณะที่รายได้ของ 7-Eleven นั้น มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 15.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 65,024 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 77 บาท ในขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 845 คน

 

สรุปแล้วธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีกำไรสุทธิ 947 ล้านบาท ลดลง 75.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากผลประกอบการที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และภาระดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน

 

สำหรับปี 2564 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) วางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขา โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

  • การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท
  • การปรับปรุงร้านเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท
  • โครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท
  • สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising