ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘โคคา-โคล่า’ หรือ ‘โค้ก’ เครื่องดื่มน้ำดำที่ทำหน้าที่ส่งมอบความสดชื่นให้กับคนทั่วโลกมา 138 ปีแล้ว แต่กว่าเครื่องดื่ม ‘โคคา-โคล่า’ จะเดินทางมาส่งมอบความสดชื่นให้กับคนไทยก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492)
ในยุคบุกเบิก ‘โค้ก’ เดินสายการผลิตด้วยเครื่องจักรบรรจุขวดขนาดเล็กที่ชื่อ ‘ดิกซี่’ เพียง 2 เครื่อง ผลิตเครื่องดื่มขนาด 6.5 ออนซ์ ด้วยกำลังการผลิต 160 ขวดต่อนาที ภายในโรงงานบนถนนหลานหลวง โดยมีรถขนส่งเพียง 7 คัน เดินสายส่งความซ่าและสดชื่นให้กับคนไทยในราคาขวดละ 1 บาท
โค้ก กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนไทยในเวลารวดเร็ว เมื่อความต้องการของตลาดเริ่มขยายวงกว้าง จุดเริ่มต้นของ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้น
ปฐมบท ‘ไทยน้ำทิพย์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โคคา-โคล่า ในประเทศไทย
‘ไทยน้ำทิพย์’ ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2502 โดยกลุ่มนักธุรกิจจากครอบครัวสารสิน, เคียงศิริ และบุญสูง ได้ร่วมกับ บริษัท โคคา-โคลา เอ็กซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้ง บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท โรงงานแห่งแรกบนถนนหลานหลวง ถูกย้ายไปแห่งใหม่บนถนนสีลม เพื่อรองรับธุรกิจที่เติบโตขึ้น
หลังจากนั้น บริษัทตัดสินใจปักเสาเข็มสร้างโรงงานบรรจุขวดแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกในต่างจังหวัดที่ขอนแก่น ใน พ.ศ. 2510 บนพื้นที่ 27 ไร่ ปัจจุบันขยายพื้นที่เป็น 35 ไร่ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดน้ำอัดลมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การมาถึงของ โคคา-โคล่า ‘ชนิดกระป๋อง’ สู่ทศวรรษแห่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ใน พ.ศ. 2512 ไทยน้ำทิพย์ ย้ายโรงงานและสำนักงานใหญ่จากถนนสีลมมาที่หัวหมาก เพื่อขยายกำลังการผลิต โดยมีเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัยถึง 3 เครื่อง มีกำลังการผลิต 200-250 ล้านลิตรต่อปี
หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2520 เพื่อรองรับตลาดภาคเหนือที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทเดินหน้าขยายความสดชื่นด้วยการเปิดโรงงานที่จังหวัดลำปาง บนพื้นที่ 54 ไร่ เพิ่มกำลังการผลิต 100-150 ล้านลิตรต่อปี
จากนั้นไม่นาน บริษัทก็ทุ่มงบลงทุนกว่า 450 ล้าน สร้างโรงงานไทยน้ำทิพย์แห่งใหม่ที่ปทุมธานี ใน พ.ศ. 2524 เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดน้ำอัดลมภาคกลาง โดยนำระบบกำจัดน้ำเสียอะนาโรบิคมาใช้ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียอาคเนย์
ปัจจุบัน โรงงานไทยน้ำทิพย์ ปทุมธานี ยังได้ชื่อว่าเป็นโรงงานที่มีสายการผลิตเครื่องดื่มแบบกระป๋องเร็วที่สุดในประเทศไทย โดยสามารถผลิตเครื่องดื่มได้ 2,000 กระป๋องต่อนาที
โดย พ.ศ. 2539 เปิดโรงงานรังสิตบนพื้นที่ 205 ไร่ เพื่อขยายการผลิตและจัดจำหน่ายในพื้นที่ภาคกลาง
ไม่แต่เฉพาะโรงงานที่ขยายต่อเนื่องไปทั่วประเทศ เมื่อกำลังคนเพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงย้ายสำนักงานใหญ่จากหัวหมากไปที่โครงการนอร์ธปาร์ค ถนนวิภาวดีรังสิต ใน พ.ศ. 2540 และปีเดียวกัน ยังเปิดโรงงานที่โคราช บนพื้นที่ 60 ไร่ ขยายกำลังการผลิตและจัดจำหน่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ถึง 200 ล้านลิตรต่อปี
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ทศวรรษ ไทยน้ำทิพย์ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานระดับโลกของการผลิตสินค้า ทั้งการยกระดับศักยภาพโรงงาน ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
‘ไทยน้ำทิพย์’ กับภารกิจพิทักษ์โลก
เส้นทางการเติบโตของ ‘ไทยน้ำทิพย์’ ยังสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลกผ่านการดำเนินการด้านความยั่งยืนบน 3 เสาหลัก ได้แก่
1. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะน้ำ คือหัวใจสำคัญในทุกผลิตภัณฑ์ของ ‘ไทยน้ำทิพย์’ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นภารกิจสำคัญขององค์กร โดยใช้กลยุทธ์ 3R ด้วยการ ลด (Reduce) ปริมาณการใช้น้ำ โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่นำมาใช้คือแอปพลิเคชัน ‘บำรุง’ ที่พัฒนาโดยบริษัทไทย นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต รวมถึง บำบัด (Recycle) น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้ว เช่น ติดตั้งระบบ Membrane Bio Reactor บำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบ R.O. (Reverse Osmosis) เพื่อนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดจนสะอาดได้มาตรฐานกลับมาใช้ใหม่ในขั้นตอนการผลิต (ไม่ใช่วัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องดื่ม)
โดยโรงงานไทยน้ำทิพย์ทั้ง 5 แห่ง ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 907 ล้านลิตร สะท้อนถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม
2. การรับมือในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดภายในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ปัจจุบันโรงงานไทยน้ำทิพย์ครบทั้ง 5 แห่ง ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดรวม 12.6242 MWp คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน
นอกจากนี้ยังมีการนำรถยกสินค้าพลังงานไฟฟ้า (EV Forklift) มาใช้ในคลังสินค้า และรถขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้า (EV Truck) ที่ติดตั้งระบบ Telematics มาใช้บริหารจัดการการขนส่ง ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกล้อง AI ช่วยจับตาความเสี่ยงของพฤติกรรมการขับขี่ เพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถ โดยใน พ.ศ. 2566 สามารถลดการใช้พลังงานได้ 34.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
3. สร้างวงจรปิดของบรรจุภัณฑ์
‘ไทยน้ำทิพย์’ ขานรับเทรนด์รักษ์โลกตั้งแต่ พ.ศ. 2552 โดยเริ่มจากการลด (Reduce) ปริมาณพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ผ่านการ Lightweight โดยยังคงรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ จนทำให้สามารถลดการใช้เม็ดพลาสติกลงได้กว่า 7,645 ตัน
นอกจากลดการใช้ ไทยน้ำทิพย์ ยังออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ (Redesign) พลิกโฉม ‘สไปรท์’ จากขวดเขียวเป็นขวดใส เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำบรรจุภัณฑ์กลับไปรีไซเคิล
โดยใน พ.ศ. 2566 ‘ไทยน้ำทิพย์’ จับมือ ‘โคคา-โคล่า’ เปิดตัวขวด Recycled PET (rPET) ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% (ยกเว้นฉลากและฝาขวด) โดยเริ่มจาก ‘โค้ก’ ขนาด 1 ลิตร และปีนี้ก็เพิ่งเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ rPET เพิ่มเติมในโค้กขนาด 300 มิลลิลิตร และ 510 มิลลิลิตร
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดเก็บและรีไซเคิลขวดพลาสติกและกระป๋องที่ใช้แล้ว (Collection & Recycling) เพื่อสร้างวงจรปิดของบรรจุภัณฑ์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทย และกระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์
ขวบปีที่ 65 และก้าวต่อไปของ ‘ไทยน้ำทิพย์’
ใครจะเชื่อว่าจากเครื่องดิกซี่ 2 เครื่อง ที่มีกำลังผลิตเพียง 160 ขวดต่อนาที ปัจจุบัน ไทยน้ำทิพย์มีสายการผลิต 21 สาย ที่มีกำลังการผลิตรวมกันถึง 450 ล้านยูนิตเคสต่อปี จากโรงงานที่ทันสมัยระดับโลกที่มีจำนวน 5 แห่ง ในปทุมธานี รังสิต นครราชสีมา ขอนแก่น และลำปาง คลังสินค้ามากกว่า 50 แห่ง รถขนส่งสินค้าที่มีเทคโนโลยี Telematics และกล้อง AI ที่ทันสมัยกว่า 1,100 คัน ซึ่งรวมถึงรถ EV เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน
จากผลิตภัณฑ์แรก ‘โคคา-โคล่า’ ขนาด 6.5 ออนซ์ วันนี้ ไทยน้ำทิพย์ มีผลิตภัณฑ์กว่า 250 รายการ เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภค ให้บริการร้านค้ากว่า 430,000 แห่งในประเทศไทย และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์
จากจุดเริ่มต้นที่มีการบริหารงานแบบธุรกิจครอบครัว โดยมีพนักงานเพียงไม่กี่คน วันนี้ ไทยน้ำทิพย์ ถือเป็นหนึ่งใน Bottling Partner ของ The Coca-Cola Company ที่ได้รับการยอมในระดับภูมิภาค ดูแลพื้นที่ 63 จังหวัดในประเทศไทย ครอบคลุมกรุงเทพฯ, ภาคเหนือ, อีสาน, ตะวันออก และตะวันตก (ยกเว้นภาคใต้) โดยมีผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอประกอบไปด้วย โค้ก, แฟนต้า, สไปรท์, ชเวปส์, เอแอนด์ดับบลิว รูทเบียร์, น้ำส้ม มินิทเมด สแปลช, มินิทเมด พัลพิ, น้ำดื่มน้ำทิพย์, และ อู-ฮ่า มีการจ้างงานพนักงาน หรือ ฅนไทยน้ำทิพย์ กว่า 8,000 ชีวิต
ไทยน้ำทิพย์ นอกจากจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการนำผลิตภัณฑ์ ‘โคคา-โคล่า’ มาส่งความสดชื่น มอบความสุขให้คนไทยแล้ว ในทุกย่างก้าวตลอด 65 ปีของไทยน้ำทิพย์ ยังทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงด้วยคุณภาพระดับโลก ขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ทำในสิ่งที่ถูกต้องและยั่งยืนเพื่อลูกค้า ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทย ผ่านบทพิสูจน์มากมาย จนได้รับรางวัลและการยอมรับในหลายด้าน อาทิ
การจัดอันดับบริษัทคู่ค้า (ซัพพลายเออร์) อันดับ 1 ในธุรกิจประเภท FMCG และผู้ผลิตเครื่องดื่ม ที่ลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจโมเดิร์นเทรดในประเทศไทยให้การยอมรับ จากการสำรวจประจำปี 2024 ของแอดแวนเทจ กรุ๊ป (Advantage Group International) บริษัทผู้ทำวิจัยตลาดระดับโลก โดยได้รับการยอมรับในด้านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ด้านการดำเนินงาน ด้านวิสัยทัศน์ และด้านชื่อเสียง (Reputation) สะท้อนความเชื่อมั่นของลูกค้าในการร่วมธุรกิจกับไทยน้ำทิพย์
นอกจากนี้ ไทยน้ำทิพย์ ยังคว้ารางวัลด้านทรัพยากรบุคคล ได้แก่ รางวัล Kincentric Best Employer Thailand 2024 และ HR Excellence Awards 2024 ระดับ Gold ‘Excellence in Corporate Wellness’
แน่นอนว่าเป้าหมายการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนของไทยน้ำทิพย์จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ แต่บริษัทยังตั้งเป้าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เดินหน้าส่งมอบความสดชื่นไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าให้สังคมไทย พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อขยายการเติบโตทางธุรกิจต่อไป