×

61 ปีที่ผ่านไป ประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อของ ‘ฟุตบอลยูโร’ ในความทรงจำ

11.06.2021
  • LOADING...
ฟุตบอลยูโร

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • นี่เป็นครั้งแรกและคงเป็นครั้งเดียวที่ฟุตบอลยูโรจัดการแข่งขันแบบ Pan-European หรือทั่วทวีปยุโรปจริงๆ เพื่อเป็นการฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของการแข่งขัน หลังจากที่เริ่มต้นแข่งครั้งแรกในปี 1960
  • ยูโรรอบสุดท้ายครั้งแรกในปี 1960 นั้นใช้เวลาในการแข่งกันสั้นมากๆ แค่ 5 วันเท่านั้น โดย 3 จาก 4 ทีมเป็นทีมจากประเทศคอมมิวนิสต์ ได้แก่ สหภาพโซเวียต, ยูโกสลาเวีย และเช็กโกสโลวะเกีย มีฝรั่งเศสแค่ประเทศเดียวที่เป็นประเทศประชาธิปไตย
  • ฟุตบอลยูโรมาไต่ระดับในเชิงของความนิยมสูงสุดในยูโร 1996 ที่ประเทศอังกฤษ ชาติที่บอกว่าเขาคือ ‘Home of Football’ และเป็นชาติที่ทำ Sport Marketing น่าจะเก่งที่สุดเกือบต้นๆ ของโลก ทำให้กระแสของการแข่งขันนั้นพุ่งทะยานมาก
  • ปัจจุบันกระแสความนิยมของการแข่งขันฟุตบอลในระดับทีมชาตินั้นลดลงจากอดีตมาก มนต์ขลังที่เคยมีเสื่อมลงไปมากด้วยหลายสาเหตุ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการที่มีการจัดรายการแข่งขันใหม่ๆ อย่างเนชันส์ลีกเพิ่มเติมเข้ามาแย่งความสำคัญ

ในที่สุดฟุตบอลยูโร 2020 ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้วในคืนนี้ (และใช่ครับเราได้ดูกันสดๆ แล้ว!) หลังจากที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกมา 1 ปีเต็มหลังโลกเผชิญกับโรคระบาดระดับมหันตภัยเงียบอย่างโควิด-19

 

ด้วยความที่ผมเองมีความผูกพันกับฟุตบอลยูโรเป็นพิเศษ เพราะเป็นรายการฟุตบอลระดับเมเจอร์รายการเดียวที่ได้มีโอกาสไปทำข่าวตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์เมื่อปี 2008 ที่ประเทศออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน เมื่อมีข่าวว่าจะต้องเลื่อนการแข่งขันออกมา 1 ปีก็แอบรู้สึกเสียใจแทนอยู่ไม่น้อย

 

ใจมันอดคิดถึงภาพบรรยากาศที่สวยงามที่เคยได้ไปสัมผัสมาไม่ได้ ภาพกองทัพ ‘Oranje’ ที่เปลี่ยนเมืองบาเซิลให้กลายเป็นสีส้ม (และได้ยินเสียงตะโกน Hup Holland Hup! ตลอดเวลา) ยังจำการเต้นรำของสาวชาวสเปนที่หน้า ‘หลังคาทอง’ ในเมืองอินส์บรุค และชายหนุ่มผู้หนึ่งที่กรีดนิ้วลงบนสายกีตาร์ในซอกหลืบแห่งหนึ่งในเมืองซาลซ์บูร์ก ไม่ไกลจากรูปปั้นของโมสาร์ต สิ่งเหล่านี้ถูกจารึกลงในความทรงจำ


มากกว่านั้นคือประสบการณ์การทำงานในแบบ ‘ระดับโลก’ ของจริง เพราะถึงจะเป็นสื่อเล็ก หนังสือพิมพ์กีฬาโนเนมเล่มหนึ่งในประเทศที่ห่างไกล แต่เมื่ออยู่ที่หน้างานแล้วจะเป็น เมธา หรือ โจนาธาน วิลสัน เราทุกคนอยู่ในสมรภูมิข่าวเดียวกัน


อยู่ที่ว่าใครจะเก็บเรื่องเก็บราวอะไรมาฝากคุณผู้อ่านกันได้มากกว่า ลึกกว่า และคมกว่ากัน

 

สิ่งที่ดีคือหลังการเลื่อนมา 1 ปี ยูโร 2020 สามารถกลับมาได้อีกครั้งจริงๆ ซึ่งแม้จะยังไม่ใช่การกลับมาอย่างเต็มร้อยเหมือนวันวานเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด แต่อย่างน้อยมันก็เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นกลับมาสู่ความเป็นปกติของโลก

 

ที่แอบเสียดายคือหากทุกอย่างเป็นปกติ ฟุตบอลยูโรครั้งนี้จะเป็นฟุตบอลยูโรที่มีความพิเศษมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

เพราะนี่เป็นครั้งแรกและคงเป็นครั้งเดียวครับที่มีการจัดการแข่งขันแบบ Pan-European หรือทั่วทวีปยุโรปจริงๆ เพื่อเป็นการฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของการแข่งขัน หลังจากที่เริ่มต้นแข่งครั้งแรกในปี 1960

 

เมืองเจ้าภาพนั้นเริ่มจากเมืองบิลเบา ประเทศสเปนทางตะวันตกสุด สู่บากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจานที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกที่สุด เรียกว่าเปรียบเป็นคนก็คือกางแขนเหยียดแทบจะสุดแล้ว

 

ปกติแล้วเจ้าภาพของการแข่งขันจะเป็นชาติเดี่ยวหรือเจ้าภาพร่วมที่มีพรมแดนติดกัน (เพื่อลดการลงทุนลงและเพิ่มโอกาสในการประชาสัมพันธ์ของสองประเทศเพื่อนบ้านในคราวเดียวกัน) ครั้งนี้มีเมืองเจ้าภาพมากถึง 11 แห่งด้วยกัน ซึ่งความจริงควรจะมี 12 แห่ง น่าเสียดายที่กรุงดับลินไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีพอที่จะทำให้แฟนบอลกลับเข้ามาชมเกมในสนามได้หรือไม่

 

เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าภาพยูโรหนนี้คือแฟนฟุตบอลต้องกลับเข้ามาชมเกมในสนามได้ ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับมาตรการและสถานการณ์ของแต่ละชาติ

 

ในทางหนึ่งการมีเมืองเจ้าภาพมากขนาดนี้ถูกมองว่าเป็นความยุ่งยากและสิ้นเปลืองอย่างมาก เป็นไอเดียที่ไม่เข้าท่า

 

แต่หากอยากจะมองหาแง่งามของเรื่องนี้แล้ว มันก็แอบน่าสนุกนะครับที่เราจะได้บินข้ามไปข้ามมาในหลายเมืองทั่วยุโรปโดยใช้ฟุตบอลนำทาง

 

ช่างสมกับเป็นไอเดียของ ‘นโปเลียนลูกหนัง’ มิเชล พลาตินี ผู้พิชิตยุโรปทั้งแดนดินเสียจริงเชียว!

 

สุดโต่ง ดูไม่มีตรรกะรองรับ แต่ก็น่าตื่นเต้นในคราวเดียวกัน

 

มาร์โก ฟาน บาสเทน ศูนย์หน้าเพชฌฆาตพรายกระซิบตำนานแห่งยูโร 1988

 

ยูโรหนนี้ยังเป็นครั้งแรกด้วยครับที่มีการขยายจำนวนทีมเป็น 24 ทีม หลังจากที่แข่งในแบบ 16 ทีมมาตั้งแต่ปี 1996 ในฟุตบอลยูโรที่ประเทศอังกฤษ

 

การปรับเพิ่มจำนวนทีมครั้งนี้ทำให้นี่เป็นฟุตบอลยูโรโฉมที่ 4 แล้วครับ โดยโฉมแรกสุดในการแข่งขันครั้งปฐมฤกษ์เมื่อปี 1960 ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นมีทีมที่เข้าร่วมชิงชัยในรอบสุดท้ายเพียงแค่ 4 ทีมเท่านั้น (โดยมีทีมที่ร่วมแข่งขันทั้งหมด 17 ทีมในรอบคัดเลือก)

 

โดยหลังจากที่ อองรี เดอ โลเนย์ อดีตเลขาธิการสพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสได้เสนอแนวคิดชวนให้ทีมยุโรปมาแข่งชิงแชมป์กันเอง (ถ้าจะสังเกตคนฝรั่งเศสนั้นมีส่วนสำคัญกับการคิดอย่างสร้างสรรค์ให้โลกฟุตบอลมากนะครับ เช่น ฟุตบอลโลกก็เกิดขึ้นในช่วงที่ ชูลส์ ริเมต์ เป็นประธาน FIFA หรือรางวัลลูกฟุตบอลทองคำก็มาจากแนวคิดของ กาเบรียล อาร์โนต์ บรรณาธิการนิตยสาร France Football) เหมือนในอเมริกาใต้ที่มีการชิงแชมป์โคปาอเมริกากันมาตั้งแต่ปี 1916 (ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรกเสียอีก)

 

ความคิดนี้ได้รับการสานต่อจนกลายเป็นความจริงในปี 1958 – 3 ปีหลังจากที่เดอ โลเนย์เสียชีวิต – และมีการจัดทัวร์นาเมนต์รอบสุดท้ายในอีก 2 ปีถัดมา

 

โดยยูโรรอบสุดท้ายครั้งแรกนั้นใช้เวลาในการแข่งกันสั้นมากๆ ครับแค่ 5 วันเท่านั้น  3 จาก 4 ทีมเป็นทีมจากประเทศคอมมิวนิสต์ ได้แก่ สหภาพโซเวียต, ยูโกสลาเวีย และเช็กโกสโลวะเกีย มีฝรั่งเศสแค่ประเทศเดียวที่เป็นประเทศประชาธิปไตย

 

ปีแรกเป็นสหภาพโซเวียตที่ได้แชมป์ไปครับ เอาชนะยูโกสลาเวียได้ 2-1 ในช่วงของการต่อเวลาพิเศษ

 

แล้วยูโรก็แข่งแบบ 4 ทีมนี้มาเรื่อยๆ ครับ ระดับความสำคัญนั้นถือว่าเป็นรองฟุตบอลโลกค่อนข้างชัด น้ำหนักของถ้วยรางวัลอองรี เดอ โลเนย์ (ตั้งให้เพื่อเป็นเกียรติ) ถือว่าเป็นรองถ้วยชูลส์ ริเมต์

 

จนกระทั่งมาเพิ่มทีมเป็น 8 ทีมในฟุตบอลยูโร 1980 ที่ประเทศอิตาลีเป็นเจ้าภาพ (มีมาสคอตเป็นเจ้า Pinocchio ตุ๊กตาไม้จมูกยาวจอมขี้จุ๊ ที่กำลังโด่งดังในช่วงเวลานั้นพอดี) ซึ่งฟุตบอลยูโรครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่เริ่มทำให้รายการชิงความเป็นหนึ่งของยุโรปเริ่มมีความสำคัญและได้รับความสนใจมากขึ้น

 

เยอรมนีตะวันตกได้แชมป์ในครั้งนั้นไปครับ และเป็นแชมป์สมัยที่ 2 ของพวกเขา แต่โลกกลับจดจำวีรกรรมของเหล่า Golden Generation ของเบลเยียมที่ประกอบไปด้วย ฌอง-มารี พัฟฟ์ ยอดผู้รักษาประตูระดับตำนานที่ถูกลืม, เอริค เกเร็ตส์, แยน คูเลอมองส์ และ เรเน ฟานเดอร์เรคเคน ที่เขี่ยอิตาลีเจ้าภาพตกรอบ และเกือบจะคว้าแชมป์ได้หาก ‘ไอ้ยักษ์โขมด’ ฮอร์สต์ ฮรูเบสช์ ไม่พังประตูชัยก่อนหมดเวลาแค่ 2 นาทีเสียก่อน

 

ไม่งั้นเราจะได้เห็นและจดจำ ‘เทพนิยายมันเนอเกิน พิส’ มากกว่า ‘เทพนิยายเดนส์’ ที่เป็นหนึ่งในเรื่องคลาสสิกที่สุดของฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลก

 

ลองจินตนาการสิครับว่าทีมที่ได้เป็น ‘มวยแทน’ เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลยูโร 1992 ที่ประเทศสวีเดนหลังจากที่ยูโกสลาเวียถูกแบนจากการแข่งขัน แต่กลับหักปากกาเซียนพิชิตแชมป์โลกอย่างเยอรมนีตะวันตกได้ในรอบชิงชนะเลิศ และคว้าแชมป์ได้แบบมหัศจรรย์มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน?

 

สำหรับคนที่อาจจะเกิดไม่ทัน ที่ผมคิดว่าใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันคือการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อฤดูกาล 2015-16

 

ฟุตบอลยูโรครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายของโฉมที่ 2 ที่มีจำนวน 8 ทีมครับ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่านี่คือ ‘ยุคทอง’ ของฟุตบอลยูโรอย่างแท้จริงในแง่ของเกมการแข่งขันครับ

 

เพราะเรื่องราวของเบลเยียมในปี 1980 มาถึงการครองยุโรปของฝรั่งเศสในปี 1984 ที่นำมาโดย ‘นโปเลียนลูกหนัง’ มิเชล พลาตินี ซึ่งเรียกได้ว่าเล่นได้สมบูรณ์แบบเกือบที่สุด และการปลดล็อกคว้าแชมป์ในระดับเมเจอร์ได้ของเนเธอร์แลนด์ในยูโร 1988 ที่คนทั่วโลกได้จดจำ 3 ทหารเสือชาวดัตช์ รุด ฮุลลิท, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด และมาร์โก ฟาน บาสเทน

 

โดยเฉพาะลูกยิงใบไม้ร่วงจากมุมที่ไม่มีใครคิดว่าจะยิงได้ของ ‘เพชฌฆาตพรายกระซิบ’ ในเกมนัดชิงชนะเลิศกับสหภาพโซเวียตนั้นยังคงเป็นประตูที่สวยที่สุดตลอดกาลของฟุตบอลยูโรจนถึงทุกวันนี้

 

จากนั้นก็คือเทพนิยายเดนส์ที่กล่าวไปข้างต้นครับ

 

โมเมนต์แห่งความทรงจำกับท่าฉลองประตูสุดห่าม The Dentist’s Chair ของ พอล แกสคอยน์ & เดอะแก๊ง

 

อย่างไรก็ดีฟุตบอลยูโรมาไต่ระดับในเชิงของความนิยมสูงสุดในยูโร 1996 ที่ประเทศอังกฤษ ชาติที่บอกว่าเขาคือ ‘Home of Football’ และเป็นชาติที่ทำ Sport Marketing น่าจะเก่งที่สุดเกือบต้นๆ ของโลก ทำให้กระแสของการแข่งขันนั้นพุ่งทะยานมาก

 

บรรยากาศของการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมทำให้แฟนบอลในยุค 90 ที่ได้ติดตามการแข่งขันในครั้งนั้นยังเก็บความทรงจำนั้นไว้อย่างดี (ผมเองก็เช่นกันครับ) ทั้งเรื่องราว (ประตูของพอล แกสคอยน์, ลูกชิปของ คาเรล โพบอร์สกี, Golden Goal ของโอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์) บทเพลง (Three Lions) หรือชุดแข่งขันของยูโรครั้งนั้นก็ยังเป็นไอเท็มคลาสสิกตลอดกาล

 

แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมายูโรไม่ได้ไต่ระดับไปถึงจุดนั้นได้อีกครับ แต่ก็ยังคงความนิยมและได้รับความสนใจในระดับสูงอยู่ครับ

 

เราได้เห็นเทพนิยายเทพเจ้ากับการคว้าแชมป์แบบเหลือเชื่อของกรีซในยูโร 2004 ที่ประเทศโปรตุเกส และโปรตุเกสก็ไปทำแบบเดียวกันด้วยการคว้าแชมป์ยูโร 2016 ได้ที่ประเทศฝรั่งเศส (ด้วยโค้ชพิเศษที่ชื่อ คริสเตียโน โรนัลโด)

 

เช่นกันกับการที่เราได้เห็นการครองโลกของขุนพล ‘La Furia Roja’ หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่าทีม ‘กระทิงดุ’ สเปนที่คว้าแชมป์ยูโร 2 สมัยติดในปี 2008 และ 2012

 

อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าฟุตบอลยูโรได้เดินทางมาถึงจุดที่กำลังถูกท้าทายในหลายด้านครับ โดยเฉพาะในแง่ของความนิยมและความสำคัญ

 

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีหลังคือกระแสความนิยมของการแข่งขันฟุตบอลในระดับทีมชาตินั้นลดลงจากอดีตมาก มนต์ขลังที่เคยมีเสื่อมลงไปมากด้วยหลายสาเหตุ และหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือการที่มีการจัดรายการแข่งขันใหม่ๆ อย่างเนชันส์ลีกเพิ่มเติมเข้ามาแย่งความสำคัญอีก

 

ในเชิงของคนดูบอล บางทีก็ไม่มีอะไรมากไปกว่ามันมีให้ดูเยอะเกินไปจนขาดความรู้สึก ‘ถวิลหา’

 

แต่ในยูโรครั้งนี้ ด้วยความที่เราไม่ได้ดูฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ระดับชาติมา 3 ปีเต็ม (ปกติจะห่างกันแค่ 2 ปี) และด้วยความที่เรามีการแข่งขันฟุตบอลแบบที่มีแฟนฟุตบอลในสนามแบบจริงจังแบบนี้มานานปีกว่า

 

มีความรู้สึกเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ครับว่านี่น่าจะเป็นฟุตบอลยูโรที่กลับมาสนุกสนานและมีสีสันมากอีกครั้งหนึ่ง

 

หวังว่าเมื่อจบนัดชิงชนะเลิศที่เวมบลีย์ในวันที่ 11 กรกฎาคม เราจะมีนิทานลูกหนังเอาไว้เล่าให้รุ่นต่อๆ ไปฟังในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

“เอ็งรู้ไหมว่ายูโร 2020 นี่มันสุดยอดจริงๆ”

 

หวังใจไว้เช่นนั้นนะครับ 🙂

 

 

รวมบทความฟุตบอลยูโร 2020 ที่น่าสนใจ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X