×

6 ปีหลังการหายตัวไปของ ‘บิลลี่’ ต้องคืนความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิชุมชนของเขา

โดย THE STANDARD TEAM
17.04.2020
  • LOADING...

ครอบครัวของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง พบเห็นเขาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 ปีก่อน ไม่กี่วันหลังจากวันที่ 17 เมษายน 2557 เขาหายตัวไปหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว

 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การสอบสวนของรัฐบาลไทยต่อการหายตัวไปของบิลลี่มีความคืบหน้าอย่างมาก แต่พนักงานอัยการกลับสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีร้ายแรงเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ในขณะที่ครอบครัวยังคงรอคอยความยุติธรรมอยู่

 

ในโอกาสครบรอบการหายตัวไปของเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องอีกครั้งให้ทางการรับประกันว่าครอบครัวของบิลลี่สามารถเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาในช่วงที่หายตัวไปจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ควรมีผู้ถูกลงโทษจากการเสียชีวิตของเขา

 

การขาดความยุติธรรมเนื่องจากการหายตัวไปของบิลลี่ เน้นให้เห็นถึงการต่อสู้ของครอบครัวที่ต้องเผชิญกับวงจรการละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ถูกบังคับไล่รื้อและทำลายทรัพย์สินในปี 2553 และ 2554 การขู่ฆ่าเนื่องจากเรียกร้องการเยียวยาต่อความเสียหายเหล่านั้น การหายตัวไปของบิลลี่ในปี 2557 และการที่ไม่สามารถเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวของเขาได้ ทางการต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคที่กั้นขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัวเขา รวมทั้งการเยียวยาต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขาหรือการหายตัวไปของเขา มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ทางการต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระดับประเทศ

 

ในเดือนกันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานสอบสวนคดีพิเศษ พบหลักฐานชิ้นสำคัญ รวมทั้งเศษเถ้ากระดูกที่อยู่ในถังน้ำมัน ซึ่งจมน้ำบริเวณอุทยานจุดที่บิลลี่หายตัวไป และพบว่าดีเอ็นเอของกระดูกตรงกับแม่ของบิลลี่ เป็นการยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว 2 เดือนหลังจากนั้น ดีเอสไอเสนอให้ดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา การควบคุมตัวบุคคลอย่างผิดกฎหมาย และการซ่อนเร้นอำพรางศพต่อผู้ต้องหา 4 คน รวมทั้งอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นผู้ควบคุมตัวบิลลี่ พร้อมกับเจ้าหน้าที่อีก 2 นาย

 

อย่างไรก็ดี ความหวังที่จะได้รับความยุติธรรมของครอบครัวบิลลี่ก็ริบหรี่ลงในเดือนมกราคม 2563 เมื่อพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในทุกข้อหา ยกเว้นข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอ้างว่าขาดหลักฐานยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว  

 

ในช่วงก่อนที่ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย บิลลี่เป็นนักปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง เขาทำงานกับชาวบ้านและนักกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อหาทางตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งครอบครัวของเขาเอง ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกบังคับไล่รื้อและถูกวางเพลิง เขาบอกกับ พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของเขาในตอนนั้นว่า “คนที่เกี่ยวข้องไม่พอใจฉันมาก พวกเขาบอกว่าถ้าหาตัวพบจะฆ่าฉัน ถ้าฉันหายตัวไป ก็ไม่ต้องตามหา ไม่ต้องกังวลว่าหายไปไหน พวกเขาอาจฆ่าฉันแล้วก็ได้”  

 

นับแต่หายตัวไป ศาลมีคำพิพากษาในปี 2561 ที่บิลลี่มีส่วนช่วยในการรวบรวมพยานหลักฐานช่วงที่หายตัวไป ซึ่งยืนยันว่าเจ้าหน้าที่อุทยานกระทำการอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการวางเพลิงเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้าน รวมทั้งบ้านปู่คออี้ของบิลลี่ ต่อมาในปี 2562 คณะกรรมการแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการให้สถานะแหล่งมรดกโลกกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไป โดยอ้างข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชุมชนของบิลลี่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ร้องเรียนว่า กฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้กับอุทยานแห่งชาติจะยิ่งจำกัดสิทธิของพวกเขา พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้อำนาจพนักงานอุทยานมากขึ้นในการอนุโลมให้ผู้ใดอยู่ในป่าได้ตามเงื่อนไขที่อุทยานกำหนด ให้อำนาจในการตรวจค้นและทำลายโดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งอาจนำไปสู่การบังคับไล่รื้อและการทำลายทรัพย์สินของพวกเขา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิตามที่บิลลี่ต่อต้านในช่วงก่อนที่เขาหายตัวไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising