×

‘อาคม’ แนะ 6 แนวทางธุรกิจประกันภัยปรับตัวรับวิถี New Normal

26.10.2021
  • LOADING...
Arkhom Termpittayapaisith

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand InsurTech Fair 2021 โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้แสดงความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทด้านการบริหารความเสี่ยงให้กับสังคมไทย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ 

 

และในอนาคตอันใกล้นี้ การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ความท้าทายที่จะยังคงอยู่ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ภายหลังยุคโควิด คือ ผู้คนและภาคธุรกิจมีการพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก การทำธุรกรรมออนไลน์หรือการทำงานจากที่บ้านกลายเป็นสิ่งธรรมดาในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้สามารถติดต่อและให้บริการลูกค้าความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญของเทคโนโลยี

 

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจะร่วมเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพมั่นคงทั้งจากภายในและภายนอก และประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาให้ได้ ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการประกันภัยให้แก่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 

 

พร้อมกันนี้ รมว.คลัง ยังแนะนำให้ภาคธุรกิจประกันเร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ใน 6 ด้าน ได้แก่

 

  1. ด้านเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมกับภาครัฐ การจ่ายค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต และการเสียภาษี สามารถทำผ่านมือถือได้ โดยหวังให้ภาคประกันภัยนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อลดภาระการเดินทาง และลดการใช้กระดาษ

 

  1. ด้านสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจะต้องปรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

 

  1. ด้านการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2565 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของจำนวนประชากรไทย ดังนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นแหล่งออมเงินเพื่อตอบโจทย์ประชากรจะมีความสำคัญ

 

  1. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันไทยยังขาดประกันวินาศภัยที่ให้ความคุ้มครองไปถึงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ และถนนต่างๆ ในขณะที่ทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้ว

 

  1. ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG คือการพัฒนาองค์รวม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และลดของเสียที่เกิดขึ้น ควบคู่กับ ESG โดยเฉพาะด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ

 

  1. การบริหารความเสี่ยง ซึ่งจำเป็นต้องมีในทุกธุรกิจ โดยต้องมีการคาดการณ์ความเสี่ยงของธุรกิจในอนาคต มีการทดสอบความอ่อนไหวของธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัยจะต้องมีเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X