×

นักเทรดกว่า 6 พันราย ส่งความเห็นถึง ก.ล.ต. ต่อข้อเสนอคุมลงทุนคริปโต ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท

03.03.2021
  • LOADING...
นักเทรดกว่า 6 พันราย ส่งความเห็นถึง ก.ล.ต. ต่อข้อเสนอคุมลงทุนคริปโต ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัตินักลงทุนคริปโต โดยได้กำหนดคุณสมบัติด้านการเงิน เช่น ต้องมีรายได้ต่อปี (ไม่นับรวมกับคู่สมรส) ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป มีความรู้และประสบการณ์ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หรือลงทุนในหุ้น-ฟิวเจอร์ไม่น้อยกว่า 2 ปี เปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และทำแบบทดสอบได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 80% หากคุณสมบัติไม่ผ่านจะลงทุนโดยตรงไม่ได้ แต่ต้องลงทุนผ่าน ‘ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล’ เท่านั้น 

 

ร่างคุณสมบัติดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนักลงทุนที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่นักลงทุนคริปโตกังวลเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านการเงินค่อนข้างมาก โดยมีนักลงทุนร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วราว 6 พันราย 

 

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในการเสวนา ‘เจาะทุกประเด็นการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโตฯ’ ว่า ก.ล.ต. ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ออกมาบังคับใช้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับความเห็น ซึ่งหลังจากที่เปิดจนถึงขณะนี้มีผู้แสดงความเห็นมาแล้วกว่า 6 พันราย

 

สาเหตุที่ ก.ล.ต. มีแนวคิดปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโตฯ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก ซื้อขายได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน รวมถึงในประเทศไทยเมื่อพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ แล้ว และต่างประเทศก็มีแนวคิดออกมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติม ทั้ง ฮ่องกง อังกฤษ อินเดีย และอีกหลายประเทศ รวมทั้งออกคำเตือนผู้ลงทนให้ระมัดระวังด้วย

 

นอกจากนั้นหลังจากติดตามสถานการณ์การซื้อขายในไทยพบว่า ผู้ลงทุนรายใหม่ๆ สนใจเข้ามาลงทุนในคริปโตฯ มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่อายุน้อย ซึ่งมีคนอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 3% ของผู้ลงทุนในคริปโตฯ ทั้งหมด ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์การเงินอื่น 

 

แต่มีเพียงบางส่วนที่มีประสบการณ์ลงทุนในคริปโตฯ ก.ล.ต. จึงห่วงใยและพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ลงทุน รวมถึงออกคำเตือนผู้ลงทุนเพื่อให้ตระหนักในข้อเท็จจริงเหล่านี้ พร้อมกับกำชับผู้ประกอบธุรกิจต้องให้ข้อมูลลูกค้าอย่างเหมาะสม ทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วย

 

จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายระดมทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า มูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกสูงขึ้นมาอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในเดือนพฤษภาคม 2561 มูลค่าอยู่ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2563 เพิ่มเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าตลาดปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงความผันผวนรุนแรงและรวดเร็ว และมีคริปโตฯ มีสัดส่วนค่อนข้างสูงในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

 

“ไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของคริปโตฯ เป็นเท่าไร เพราะขึ้นกับคนทั่วโลกที่จะยอมรับหรือเห็นคุณค่าหรือพึงพอใจในตัวเหรียญ และทุกคนสามารถเข้าถึงซื้อขายได้ทุกที่ทุกเวลา ราคาไม่มีเพดานไม่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์ ขึ้นกับดีมานด์ซัพพลาย ราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลงวันละ 20% หรือ 50% เป็นเรื่องปกติ บิตคอยน์เคยทำสถิติ 3 วัน ลดลง 83% มีความผันผวนและเสี่ยงสูงจริงๆ”

 

ขณะเดียวกันบนเวทีเสวนาออนไลน์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน โดยมี นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน และ สุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาด ตัวแทนจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ร่วมรับฟังความคิดเห็นและตอบคำถามแก่นักลงทุน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก 

 

โดย ก.ล.ต. ระบุว่า การกำหนดร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัตินักลงทุนคริปโตฯ ในคุณสมบัติด้านการเงินนั้น ก.ล.ต. อ้างอิงจากหลักเกณฑ์ที่ใช้กำกับหลักทรัพย์เป็นหลัก และสาเหตุที่ร่างคุณสมบัติด้านการเงินเกิดขึ้น ก็เพื่อปกป้องนักลงทุนจากความเสี่ยงที่อาจได้รับความเสี่ยงจากการลงทุนคริปโตฯ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ราคาเคลื่อนไหวผันผวน 

 

การกำหนดร่างคุณสมบัติด้านการเงินก็เพื่อให้นักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยป้องกันการสูญเสียเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงร่างหลักเกณฑ์เท่านั้น ยังไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่แท้จริงแต่อย่างใด ผู้ลงทุนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในเอกสารเปิดรับฟังความคิดเห็นได้ 

 

สำหรับความกังวลเรื่องคุณสมบัติด้านความรู้ ส่วนนี้ ก.ล.ต. กำกับดูแลผ่านตัวกลาง คือผู้ประกอบการที่เป็นนายหน้า หรือเป็นตลาดแลกเปลี่ยน ซึ่งได้หารือกับทางผู้ประกอบการไปแล้ว โดยแนวทางการกำหนดคุณสมบัติด้านความรู้จะมีทางเลือกให้ปฏิบัติที่หลากหลาย อาทิ พิจารณาคุณสมบัติจากไลเซนส์ด้านการลงทุนที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. หรือการใช้แบบทดสอบความรู้ฉบับกลาง (ทุกผู้ให้บริการใช้ร่วมกัน) เป็นต้น 

 

โดย ก.ล.ต. เปิดทางให้ผู้ประกอบการสามารถรวมตัวกันเพื่อจัดทำบททดสอบความรู้ผู้ลงทุน และนำมาหารือกับ ก.ล.ต. อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นบททดสอบความรู้ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

 

นอกจากนี้มีข้อกังวลจากนักลงทุนคริปโตฯ ที่แสดงความคิดเห็นออนไลน์เข้ามาค่อนข้างมากในเรื่องนิยามความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดูไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับ TFEX และ DW ซึ่ง ก.ล.ต. ชี้ให้เห็นความต่างว่าจะพิจารณาจากสินทรัพย์อ้างอิงเป็นหลัก ซึ่ง ก.ล.ต. จัดกลุ่มให้ TFEX และ DW เป็น Traditional Asset มีสินทรัพย์อ้างอิงคือหลักทรัพย์ ขณะที่คริปโตฯ เป็น Digital Asset และ ก.ล.ต. มองว่า การจะเป็นผู้มีความรู้เพียงพอที่จะเข้าลงทุนในคริปโตฯ ได้นั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีบื้องหลังด้วย อาทิ การเก็บสินทรัพย์ใน e-Wallet และการโอน Token เป็นต้น

 

“หากร่างคุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโตฯ ได้ข้อสรุปและประกาศใช้แล้วปรากฏว่าผู้ลงทุนไม่ผ่านคุณสมบัติ ก.ล.ต. ไม่ได้บังคับให้ผู้ลงทุนขายสินทรัพย์หรือหยุดลงทุนทันที ผู้ลงทุนสามารถถือครองสินทรัพย์นี้ต่อไปได้ แต่จะไม่สามารถซื้อเพิ่มได้จนกว่าจะผ่านคุณสมบัติที่กำหนด เช่นเดียวกันกับการทดสอบความรู้ หากทดสอบไม่ผ่านในทันทีก็สามารถไปเพิ่มเติมความรู้และกลับมาทดสอบใหม่จนกว่าจะผ่านก็ได้ ซึ่งคนที่ Verify คุณสมบัติคือผู้ประกอบการที่ผู้ลงทุนใช้บริการอยู่ ไม่ใช่ ก.ล.ต.”​ ตัวแทนจากสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าว 

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวถึงวันที่ 27 มีนาคม 2564 และคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป 

 

นักลงทุนคริปโตฯ สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดนี้ ซึ่งในเบื้องต้น ก.ล.ต. กำหนดคุณสมบัตินักลงทุนคริปโตฯ ไว้ดังนี้

 

1. คุณสมบัติในด้านฐานะการเงิน ได้แก่

 

ก. มีรายได้ต่อปี (ไม่นับรวมกับคู่สมรส) ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

ข. มีสินทรัพย์สุทธิ (ไม่นับรวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยประจำ) ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

ค. มีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (Port Size) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

 

2. คุณสมบัติด้านความรู้

โดยจะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หรือมีประสบการณ์ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เช่น ผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น หรือเป็นผู้ทดสอบผ่านหลักสูตรด้านการลงทุน CFA, CISA, CAIA, CFP เป็นต้น

 

ผู้ลงทุนที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ‘จะไม่สามารถลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีได้โดยตรง’ โดยสามารถลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีได้ผ่านผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจ ‘ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล’ (DA Fund manager) เท่านั้น

 

ทั้งนี้ในการเปิดบัญชีใช้บริการใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

 

ไม่เพียงแค่คุณสมบัติในด้านฐานะการเงินและด้านความรู้เท่านั้น แต่เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ก.ล.ต. จึงเห็นควรกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (Knowledge Test) ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้ประกอบการจะต้องจัดให้มีการทดสอบความรู้ครอบคลุมหัวข้อเรื่องลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล และจะสามารถเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้ต่อเมื่อผู้ลงทุนมีคะแนนการทดสอบความรู้ในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80%

 

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตการบังคับใช้กฎเกณฑ์ในการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนนี้จะไม่นำไปใช้กับคริปโตเคอร์เรนซีที่ผู้ออกมีกลไกการกำหนดมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงส่วนผสมของทรัพย์สินดังกล่าว เช่น สกุลเงิน (Fiat Currency) พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ เป็นต้น (Stable Coin)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 


 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X