×

โปรดฟังเราหน่อย นี่คือ 6 สิ่งจากเมืองต้นแบบที่เราเห็นและอยากให้กรุงเทพฯ เป็น

06.05.2022
  • LOADING...
6 สิ่งจากเมืองต้นแบบที่เราเห็นและอยากให้กรุงเทพฯ เป็น

ใกล้ถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเข้ามาทุกที หลายผู้สมัครทั้งสังกัดพรรคการเมืองและอิสระต่างชูนโยบายหาเสียงกันทุกกระบวนท่า บางคนชูเรื่องการศึกษา บางคนชูเรื่องความเป็นอยู่ บางคนบอกว่าต้องการสานต่อสิ่งเดิมที่ทำเอาไว้ ฯลฯ ไม่ว่าวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ใครจะได้รับความไว้วางใจสูงสุดจากคนกรุงเทพมหานคร THE STANDARD POP แค่เพียงอยากบอกว่า ขอให้คุณดูแลกรุงเทพมหานครให้ดี เราอยากเห็นกรุงเทพฯ ดีขึ้น ไม่ใช่แค่แง่ปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพด้วย

 

ข้อดีของการเดินทางคือทำให้เราได้เปิดโลก ได้เห็น ได้สัมผัสในสิ่งที่บ้านเมืองอื่นมี และอยากหยิบเอาสิ่งดีๆ ของจุดหมายปลายทางเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดยังบ้านเรา และไม่ว่าใครจะได้ขึ้นแท่นสวมหมวกผู้ว่าฯ กทม. นี่คือ 7 สิ่งที่เราเห็นว่าดีจากเมืองใหญ่ทั่วโลก และเราหวังว่ากรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร จะสามารถพัฒนาไปสู่สิ่งเหล่านั้นบ้างในอนาคต

 

 

Tokyo 

“เราอยากมีฟุตปาธเดินง่าย ทั้งคนทั่วไปและคนพิการ แบบญี่ปุ่น”

 

ใครที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นคงเคยเห็นแล้วว่าคนญี่ปุ่นนั้นเดินดี เดินเก่ง และเดินทน ไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เวลาเราไปเที่ยวตามเมืองใหญ่ ด้วยฟุตปาธที่กว้างขวางเดินง่ายก็ทำให้เราเดินเพลินๆ โดยไม่รู้ตัว มีงานศึกษาหลายชิ้นพบว่า เมืองที่มีทางเท้าดี เดินไปไหนมาไหนสะดวก ช่วยให้เมืองดีขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ประชาชนสุขภาพดี (เดินเยอะขึ้น) ร้านรายย่อยขายดี (คนเดินมาจับจ่ายใช้สอย) และปลอดภัย (ทางเดินไม่เปลี่ยว ปลอดภัย และน่าอยู่มากขึ้น) กรุงเทพมหานครมีปัญหาทางเท้าเป็นประเด็นใหญ่ที่มีปัญหามาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าที่แคบแถบเดินไม่ได้ มีสิ่งกีดขวางเต็มไปหมด ยังไม่รวมถึงหลุมบ่อและความแข็งแรงของพื้นถนนที่เหยียบทีก็ชวนให้ขาพลิก เลอะเปรอะเปื้อนยามฝนตกและมีน้ำขัง

 

เราแค่อยากเห็นฟุตปาธกรุงเทพฯ เป็นเหมือนญี่ปุ่นบ้าง ที่เดินง่าย เดินเพลิน แข็งแรงคงทน ไม่มีสิ่งกีดขวาง และต้อนรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือผู้พิการ อันที่จริงมิใช่คนไทยไม่อยากเดิน แต่ดูฟุตปาธบ้านเราสิ เดินแต่ละทีแค่ระยะทางสั้นๆ ก็รู้สึกราวกับไปออกรบ

 

 

Singapore

“อยากมีต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่นเหมือนสิงคโปร์”

 

สิงคโปร์มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพมหานคร แต่มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 66 ตารางเมตร ขณะที่คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อคนเพียง 6.23 ตารางเมตร น้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้เสียอีก (9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน)

 

ตามทฤษฎีแล้วสิงคโปร์เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนแถบเส้นศูนย์สูตร จะต้องมีสภาพอากาศร้อนชื้นกว่ากรุงเทพฯ ทว่าในความเป็นจริง ทุกครั้งที่เดินทางไปสิงคโปร์เรากลับรู้สึกเย็นกว่ากรุงเทพฯ มากนัก สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ตามอาคารต่างๆ มีพื้นที่สีเขียว ถึงแม้กฎหมายจะบังคับก็เถอะ เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทยเรา คงไม่ต้องบอกว่ารู้สึกร้อนระอุแค่ไหนยามออกสู่กลางแจ้ง ริมถนนตัดต้นไม้จนเหี้ยน สถานที่สำคัญ แลนด์มาร์กต่างๆ แทบไม่มีเงาของร่มไม้ให้เห็นเลย 

 

 

Taipei

“ระบบขนส่งมวลชนราคาถูกและครอบคลุมแบบไทเป”

 

ทุกครั้งที่เดินทางไปไทเปเรามักมีคำถามว่า ทำไมรถไฟฟ้าบ้านเราถึงไม่ถูกแบบนี้บ้างนะ แถมเดินทางแต่ละทีต้องนั่งรถต่อเรือต่อรถไฟฟ้าวุ่นวายไปหมด 

 

อันที่จริงไทเปไม่ใช่เมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนดีที่สุดในโลก แต่หากเทียบบรรยากาศของบ้านเมืองที่คล้ายเรามาก ค่าเงินยังแทบจะเทียบดอลลาร์ไต้หวันต่อบาท มันก็อดชวนเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ว่าทำไมขนส่งมวลชนเขาถึงครอบคลุมทั้งในเมืองจนถึงชานเมือง แถมยังมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา ทั้งค่ารถไฟฟ้า ค่ารถเมล์ ค่าเรือ หรือจักรยานเช่าที่มีขี่ทั่วเมืองแบบปลอดภัย

 

 

Paris

“มีมิวเซียมเท่ๆ ไว้เดินเล่นเยอะเหมือนปารีส”

 

ไม่ใช่เพราะปารีสมีลูฟวร์ถึงทำให้ปารีสกลายเป็นหมุดหมายของคนชอบเที่ยวมิวเซียม แต่เพราะบ้านเมืองนี้มีพิพิธภัณฑ์หลบอยู่ตามตรอกซอกซอยเต็มไปหมด มากเกือบ 300 แห่งทั่วเมือง มากที่สุดในโลก ครอบคลุมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ตั้งแต่ยุคโบราณไปจนถึงปัจจุบัน มีทั้งของรัฐบาลและเอกชนให้เลือกดูเต็มไปหมด

 

เราไม่ได้ต้องการให้กรุงเทพฯ มีพิพิธภัณฑ์เยอะขนาดนั้น แต่เรามีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ไว้ให้เด็กรุ่นใหม่มีสถานที่เที่ยว สถานที่เดต และที่แฮงเอาต์ที่มากกว่าห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ให้เขาได้มีเวลาเดินดูสิ่งแปลกใหม่ หาแรงบันดาลใจ ได้ความรู้ และสนุกกับการเที่ยวแบบสร้างสรรค์เฉกเช่นประชากรในเมืองใหญ่ทั่วโลก

 

 

Copenhagen

“เราอยากมีพื้นที่สาธารณะดีๆ อย่างโคเปนเฮเกน”

 

แม้โคเปนเฮเกนจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของจักรยานโลกและครองแชมป์เมืองที่คนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก แต่สิ่งที่เราประทับใจมากกว่าการใช้จักรยานคือ Public Space หรือพื้นที่สาธารณะ ที่ทางเมืองออกแบบเพื่อรับรองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นก็มีตั้งแต่สนามเด็กเล่น เลนจักรยาน สระว่ายน้ำในแม่น้ำ ที่อาบแดด ฯลฯ 

 

การออกแบบพื้นที่สาธารณะของโคเปนเฮเกนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นสถานที่แฮงเอาต์ไว้ถ่ายรูปสวยเหมือนบ้านเรา หากแต่เป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง สร้างค่านิยมใหม่ ค่อยๆ เปลี่ยนและชักจูงให้คนเขาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพง่ายขึ้น ก่อนที่จะมาเป็นเมืองคุณภาพขนาดนี้โคเปนเฮเกนเคยประสบปัญหามลภาวะฝุ่นควันทางอากาศและน้ำเน่าเสียเช่นเดียวกับเมืองอื่น แต่พวกเชื่อว่าไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สร้างได้ จึงทุ่มเม็ดเงินในการปรับเปลี่ยนเมืองและไลฟ์สไตล์ผ่านพื้นที่สาธารณะ และดูเหมือนว่าจะได้ผลมากเสียด้วย เพราะตอนนี้โคเปนเฮเกนกลายเป็นเมืองอากาศสะอาด น้ำในแม่น้ำสะอาดถึงขนาดมีสระว่ายน้ำกลางแจ้งในแม่น้ำให้คนเมืองไปนอนอาบแดด เล่นน้ำ และใช้ชีวิตกันแถวนั้นในหน้าร้อนด้วย

 

 

Shanghai

“อยากได้อากาศสะอาด ผังเมืองล่วงหน้าเหมือนเซี่ยงไฮ้”

 

หากคุณไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้และบุกตะลุยเที่ยวทั้งย่านต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ จะเห็นว่าเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีมิวเซียมเจ๋งๆ เยอะมาก กระจัดกระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง ทั้งโซนสำคัญในย่านเก่าและเมืองใหม่ที่รัฐบาลมีแผนพัฒนาเอาไว้ หากคุณเป็นคนช่างสังเกตสักนิดจะเห็นว่าในย่านเมืองใหม่นั้นผังเมืองในพื้นที่จะประกอบไปด้วยคอนโดที่อยู่อาศัย มิวเซียม โรงเรียน โรงพยาบาล และคอมมูนิตี้มอลล์ และ Copy and Paste เช่นนี้ในอีกหลายย่าน เช่น ละแวก M50 คอมมูนิตี้อาร์ตขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ Wusong หรือ Power Station of Art ซึ่งอยู่ตรงสถานี Xizang South Road

 

เซี่ยงไฮ้เคยเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาเรื่อง PM2.5 มากเป็นอันต้นๆ ของโลก ไม่ต่างจากปักกิ่งเท่าไรนัก ทว่า 5 ปีที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ปรับโครงสร้างผังเมืองใหม่ ย้ายโรงงานออกรอบนอก และแปลงสภาพแหล่งเสื่อมโทรมเหล่านั้นให้กลายเป็นมิวเซียมและพื้นที่สาธารณะให้คนมาใช้ชีวิต ทั้งยังเข้มงวดต่อการใช้พลังงานถ่านหิน สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า จนทำให้ตอนนี้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นหนึ่งเมืองที่มีอากาศสะอาดมากขึ้น โดยฝุ่น PM2.5 ลดลงมากกว่า 36% ภายใน 5 ปี

 

อันที่จริงกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างจากเซี่ยงไฮ้มากนัก ถ้าเขาทำได้เราก็ทำได้เช่นกัน ประชาชนทุกคนสมควรมีสิทธิในการใช้อากาศบริสุทธิ์ในการดำรงชีพ ถ้าบ้านเมืองเรายังเป็นแบบนี้ต่อไป การใช้ชีวิตในเมืองก็คงลำบากและยากเต็มที

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X