×

6 ประโยคตรึงใจ ระหว่างทาง Train to Busan ที่ตั้งคำถามว่า เราอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหนในสายตาเด็กๆ

13.07.2020
  • LOADING...

หากมองเพียงผิวเผิน Train to Busan (2016) คือภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากแดนโสมที่นำสองวัตถุดิบชั้นเยี่ยมอย่าง ซอมบี้และการเอาชีวิตรอด (และกงยู) มาเป็นจุดขายเพื่อเรียกให้ผู้ชมตีตั๋วเข้าโรงภาพยนตร์ 

 

แต่ถ้ามองผ่านฝูงซอมบี้สุดคลั่ง เราจะเห็นว่าหัวใจสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเรื่องราวแห่งการเติบโตของชายผู้ประสบความล้มเหลวในฐานะพ่อ ที่ได้เรียนรู้จากลูกสาวของตัวเอง รวมถึงตัวละครหลากชีวิตและอุปนิสัยภายในเรื่อง ยังเป็นภาพสะท้อนให้เราได้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตอนนี้เรากำลังเป็นผู้ใหญ่แบบไหน และมอบบทเรียนแบบไหนให้กับเด็กๆ ในทุกวันนี้

 

THE STANDARD POP ขอพาทุกท่านย้อนชม 6 ฉากสุดตราตรึงใจจาก Train to Busan อุ่นเครื่องก่อนที่จะกลับไปรับชมบรรยากาศแบบนั้นในโรงภาพยนตร์อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 

 

และสำหรับคนที่ผู้อ่าน THE STANDARD POP สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพื่อลุ้นรับตั๋วชมภาพยนตร์ Train to Busan และ Train to Busan Presents: Peninsula ได้ทาง

https://www.facebook.com/thestandardpop/photos/a.726095644412114/1236885126666494/?type=3&theater

 

 

 

ประโยคเตือนสติจากผู้เป็นแม่ ที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าภายนอก ซอกวู (กงยู) จะเป็นคนหนุ่มอนาคตไกลที่ขยันขันแข็งจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นแบบอย่างที่ใครอีกหลายคนอยากจะเป็น แต่หากมองในฐานะพ่อ แทบจะเรียกได้ว่าเขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

 

มีความสามารถ ขยันขันแข็ง รู้เหลี่ยมคมในการทำธุรกิจ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง คือหัวใจสำคัญที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จได้ หากแต่การเอาชนะหัวใจของคนเป็นลูก มันอาจไม่จำเป็นต้องมีความสามารถ มีไหวพริบ ขยันขันแข็ง หรือซื้อของเล่นราคาแพง (ที่จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยซื้อให้ลูกไปแล้ว) มาให้

 

คำตอบอาจอยู่ที่เคล็ดลับสั้นๆ ง่ายๆ คือ ‘ความใส่ใจ’ และมีเวลาดูแลหัวใจดวงน้อยๆ ให้มากขึ้นเท่านั้นเอง

 

 

เมื่อหนูน้อย ซูอา (คิมซูอัน) บังเอิญมาพบนักธุรกิจ (คิมอึยซอง) ในช่วงที่เจ้าหน้าที่รถไฟกำลังขับไล่คนจรจัดที่แอบหนีขึ้นมาในรถ ก่อนที่นักธุรกิจจะสั่งสอน ‘บทเรียน’ ที่คิดว่า ‘ถูกต้อง’ ที่สุดให้กับซูอา

 

“นี่หนู ถ้าไม่ตั้งใจเรียนเดี๋ยวจะเป็นเหมือนเขานะรู้ไหม”

 

แม้ว่าถ้าฟังเผินๆ ประโยคที่ใครหลายคนเคยได้ยินในวัยเด็กประโยคนี้ จะมีที่มาจาก ‘ความหวังดี’ อยู่บ้าง แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น นี่คือประโยคที่ค่อยๆ ปลูกฝังให้เด็กตีตรา ‘คุณค่า’ ของคนคนหนึ่งด้วยสถานะทางสังคม อาชีพการงาน หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ภายนอกของคนอื่น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่ง ‘การดูถูกเหยียดหยาม’ ให้กับพวกเขา

 

สุดท้ายแล้ว ที่เด็กๆ อยากตั้งใจเรียน อาจไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะเติบโตไปเป็นคนจรจัด แต่กลัวว่าจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามคนอื่นก็ได้

 

 

บทเรียนสำคัญ และเป็นบทเรียนสุดท้ายที่คนเป็นพ่ออย่าง ซอกวู ได้ ‘เรียนรู้’ จากลูกสาวของตัวเอง 

 

ในระหว่างที่ซอกวูพยายามทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกสาว จนไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร เขาพยายามทำหน้าที่ของคนเป็น ‘พ่อ’ ให้ดีที่สุด เท่าที่คนเคยแต่ทำงานเพื่อหากำไรสูงสุดอย่างเขาจะทำได้ 

 

ถึงแม้ถ้าทำตามนั้นทั้งคู่อาจปลอดภัย แต่สิ่งที่ซูอารู้สึกได้ คือความน่ารังเกียจในฐานะ ‘มนุษย์’ ที่เป็นห่วงแต่ตัวเองจนไม่สนใจว่าคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกเดียวกับที่ภรรยาตัดสินใจทิ้งซอกวูไปเช่นกัน

 

 

 

ซังฮวา (มาดงซอก) คุณพ่อป้ายแดงคนนี้ คือหนึ่งในตัวละครจาก Train to Busan ที่ผู้ชมทั้งรัก ประทับใจ และเชื่อใจว่าหลายคนต้องเสียน้ำตาให้กับประโยคสั้นๆ นี้อย่างแน่นอน 

 

ซังฮวาคือตัวละครขั้วตรงข้ามของซอกวู ที่พยายามช่วยเหลือคนอื่น แม้สถานการณ์จะคับขัน และภรรยาของตัวเองกำลังตั้งท้อง และก่อนที่ซังฮวาจะยอมเสียสละตัวเองเพื่อช่วยให้ภรรยาของเขาและคนอื่นๆ หนีเอาตัวรอด เขาก็ได้ทำหน้าที่ของพ่อที่แม้จะยังไม่เคยเจอหน้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการมอบสิ่งที่จะอยู่ติดตัวกับเด็กน้อยคนนี้ไปตลอดกาล

 

“ยุนซูยอน นั่นคือชื่อลูกของเรา”

 

ยุนซูยอน จึงไม่ได้เป็นเพียง ‘ชื่อ’ ที่เขาตั้งให้กับลูกก่อนจะจากไปเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ตัวตน ของเขาจะคงอยู่ภายในชื่อที่จะติดตัวลูกของเขา เพื่อคุ้มครองและดูแลลูกของตัวเองตลอดไป

 

 

อีกหนึ่งฉากสุดสะเทือนใจที่ทำให้ผู้ชมทั้งโศกเศร้าและเจ็บปวด เมื่อกลุ่มของซอกวูสามารถช่วยเหลือ อินกิล (เยซูจุง) พี่สาวของ ยองกิล (พัคมยอนชิน) มาได้สำเร็จ แต่กลุ่มผู้รอดชีวิตกลับพยายามขวางไม่ให้พวกซอกวูเข้ามาในโบกี้ได้ เพราะกลัวว่าพวกซอกวูจะติดเชื้อมาด้วย จึงทำให้อินกิลถูกซอมบี้เข้าทำร้ายในที่สุด 

 

“ยัยโง่เอ้ย ชอบทำดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ ทำไมเธอถึงได้ชอบเป็นแบบนั้น โง่ชะมัดเลย”

 

แม้จะเป็นคำพูดประชดประชัน แต่ยิ่งฟังมันก็ยิ่งเจ็บปวด เพราะหากอินกิลเห็นแก่ตัวและพยายามเอาตัวรอด เธอก็คงจะเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต แต่เธอกลับยอมให้คนอื่นๆ หนีไปก่อนตนเอง และจากลาน้องสาวด้วยรอยยิ้มที่ยังคงตราตรึงผู้ชมจนถึงทุกวันนี้ 

 

เมื่อรอยยิ้มสุดท้ายจางหายไป เราได้แต่หวังลึกๆ ว่าในโลกความจริง คนที่ชอบทำดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น อย่างอินกิลจะไม่กลายเป็น ‘คนโง่’ อย่างที่ยองกิลได้กล่าวไว้จริงๆ  

 

 

หลังจากที่ผู้ชมได้ติดตามเรื่องราวการเอาชีวิตรอด และการเรียนรู้เพื่อเป็นพ่อที่ดีขึ้นของซอกวู ซึ่งเคยเป็นคนเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าสิ่งใด แต่ในท้ายที่สุดเหตุการณ์ต่างๆ ก็ค่อยๆ ทำให้เขากลายเป็นคนที่ดีขึ้น จนวาระสุดท้ายที่คุณพ่อผู้ล้มเหลวสามารถมอบบทเรียนสำคัญ ที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ต่อไป นั่นคือการสอนให้ลูกสาวรู้จักกับคำว่า ‘ความกลัว’ 

 

“กลัวสิ พ่อก็กลัว”

 

ในเวลาที่เขาควรจะทำตัวเข้มแข็งเพื่อให้กำลังใจซูอันที่กำลังหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่ถาโถมเข้ามา แต่ซอกวูกลับเลือกที่จะไม่ปิดบังและแสดงความรู้สึก ‘กลัว’ เพื่อแสดงให้ลูกสาวของเขาได้เห็นว่า บางครั้งการที่เรายอมรับว่าเรากลัวก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป 

 

เมื่อรับรู้ว่ากลัว เราจึงเข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็ง เราจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสง่างาม

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising