THE STANDARD เข้าร่วมชมนิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 วันเปิดงาน โดยถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมงานได้พบกับช่างภาพของหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับชมนิทรรศการ ‘ภาพข่าว’ ขณะพวกเขาอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กับสนามหลวง และเป็นผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้น
โดยมีทั้งภาพที่เคยได้รับการเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ไปแล้ว และภาพที่ยังไม่เคยได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อใดมาก่อน เนื่องจากผู้จัดนิทรรศการนี้ได้รับฟิล์มจากช่างภาพโดยตรง ซึ่งอนุเคราะห์ให้นำมาเผยแพร่ด้วยเหตุผลเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ จึงมีทั้งภาพที่หลายคนเคยเห็นแล้วผ่านสื่อต่างๆ และภาพที่ทุกคนยังไม่เคยเห็น
และนี่คือปากคำและคนที่ถ่ายภาพเหล่านั้น อันเสมือนเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานสำคัญที่ได้บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองในวันนั้น เพื่อค้นหาความจริงในวันนี้
อ่านบทสัมภาษณ์: ปากคำ ‘ช่างภาพ-สื่อมวลชน’ ประจักษ์พยาน ในประวัติศาสตร์บาดแผล ‘6 ตุลา 19’
การเมืองตอนนั้นมีการแบ่งฝ่ายเป็น ‘เผด็จการ-ประชาธิปไตย’ ผ่านมา 40-50 ปีก็ยังได้ยิน 2 คำนี้ ‘เผด็จการ-ประชาธิปไตย’ ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเพราะผลประโยชน์และพวกพ้อง
สายัณห์ พรนันทารัตน์ อดีตช่างภาพบางกอกโพสต์
นึกเสียว่าทุกคนต้องถ่ายภาพให้ได้ ถ่ายเหตุการณ์ให้ได้ดีที่สุด การจะวางตัวไปอยู่ข้างหนึ่งข้างใดเป็นไปไม่ได้ เพราะหน้าที่เราคือสื่อมวลชน ต้องทำได้ อยู่ซ้ายอยู่ขวาไม่ได้ เรามีหน้าที่ส่งเข้ากอง บ.ก. แล้วกอง บ.ก. เป็นผู้ตัดสินใจ
ใครเสียผลประโยชน์จากข่าวที่ลงไปก็โกรธพวกเรา มีการแบ่งฝ่าย ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่
สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพสยามรัฐ
ผมไม่แน่ใจว่า ทำไม 6 ตุลา จบไปง่ายๆ ทั้งที่หลักฐานต่างๆ มีอยู่เยอะแยะมาก มีการฆ่ากัน แต่ก็ไม่มีการรื้อฟื้น ทุกอย่างจบ เหมือนภารกิจเสร็จ เขาได้เป็นรัฐบาลก็จบแล้ว
ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพเดลินิวส์ ผู้ถ่ายภาพตอกอก
พอ 6 ตุลา มีการกวาดต้อนเข้าป่า โรงพิมพ์ก็ส่งพี่ไปอยู่กรมตำรวจ ยังนึกในใจ เขาเก็บตัวเราหรือเปล่า คล้ายๆ ว่า เอ็งซ้ายนี่หว่า ไปอยู่ใกล้ๆ ตำรวจ เผื่อเขาจะจับเข้าคุกก็จับไป นี่เรื่องจริง
ประกิต หลิมสกุล (กิเลน ประลองเชิง) สื่อมวลชน