×

ชวนค้นหาคนหาย ในนิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ ในวาระครบรอบ 46 ปี กับภาพถ่ายที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
20.08.2022
  • LOADING...
6 ตุลา

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ระบุว่า พวกเขาได้รับฟิล์มขาวดำจำนวน 14 ม้วนจากช่างภาพไทยกลุ่มหนึ่ง โดยภาพเหล่านี้ยังไม่มีการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ แม้ภาพที่เพิ่งค้นพบไม่ได้บ่งชี้ถึงหลักฐานใหม่ แต่ให้รายละเอียดและข้อมูลใหม่ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐและผู้คนที่เกี่ยวข้อง จุดที่มีนักศึกษา-ประชาชนถูกยิงหรือทำร้ายเสียชีวิต ใบหน้าและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เหตุการณ์และบรรยากาศช่วงก่อนและหลังการล้อมปราบ 

 

นอกจากนั้น โครงการได้สืบค้นภาพเพิ่มเติมจากศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจำนวน 750 ภาพ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ให้รายละเอียดใหม่และยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน  

 

ภาพถ่ายคือหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่บันทึกความรุนแรงจากรัฐและมวลชนในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และช่วงเวลาขณะนั้น 

 

ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลา กระจัดกระจายไปตามสำนักงานหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวต่างประเทศ และบุคคล 

 

ขณะที่ภาพถ่ายส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดทำข้อมูล เช่น ระบุช่างภาพ สถานที่ หรือช่วงเวลา อีกทั้งภาพจำนวนมากยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะ

 

ปีนี้ (2565) โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ได้วางแผนที่จะจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายภาย ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ จำนวน 50-60 ภาพ ภายใต้ธีม ‘ปิศาจอยู่ในรายละเอียด’ หรือ ‘The devil is in the detail’ โดยจัดกลุ่มภาพออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. สืบค้นข้อเท็จจริง (Investigation)
  2. อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) 

 

โดยภาพที่นำเสนอพิจารณาจากรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  1. เป็นภาพที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน 

 

  1. เป็นภาพที่อาจคุ้นเคย แต่ไม่เคยให้เห็นรายละเอียดของ ‘ปีศาจ’ ที่ซ่อนอยู่ เช่น ภาพ ‘ตอกอก’ ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งหากขยายจะเห็นยอดเจดีย์ของวัดพระแก้วอยู่ข้างหลัง

 

  1. เป็นภาพที่อาจไม่เคยเห็นความเชื่อมโยง แต่เมื่อจัดกลุ่มเหตุการณ์ในภาพ จะเห็นความเชื่อมโยงของผู้คนและเหตุการณ์

 

นิทรรศการภาพถ่าย ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ’ เชิญชวนสาธารณะสืบหา ‘ปิศาจ’ ที่อยู่ในรายละเอียดภาพถ่าย 6 ตุลา ที่เพิ่งค้นพบใหม่ และเชิญชวนสาธารณะส่งมอบเอกสารหลักฐานต่างๆ มายังโครงการ ควบคู่กับนิทรรศการ โดยโครงการจะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตามหาผู้คนในภาพถ่าย ภาพยนตร์สารคดี และงานเสวนา 

 

ท้ายที่สุด โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ระบุว่า พวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเจาะลึกแบบขยายผลผ่านนิทรรศการภาพถ่ายจะกระตุ้นให้สาธารณะเห็นภาพกว้างของการเมืองไทยชัดเจนยิ่งขึ้น การมองลึกลงไปในภาพถ่าย 6 ตุลา จะทำให้เห็นการเมืองไทยในภาพใหญ่ และเกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมการเมืองต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องในวาระ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ได้สืบค้นข้อมูลและติดต่อช่างภาพทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 และทำงานต่อเนื่องมาจนกระทั่งเป็นนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ ที่จะจัดแสดงในวันที่ 1-30 ตุลาคม 2565 ที่ Kinjai Contemporary เชิงสะพานกรุงธนบุรี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising