×

รำลึก 44 ปี 6 ตุลาคม : ‘เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา’

05.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ผ่านบันทึกฉบับเต็มที่มีชื่อว่า ‘ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519’ ซึ่งมีความยาวถึงสิบหน้ากระดาษว่าเป็นเจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา
  • ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค 6 ตุลาคม 2519 บอกว่า นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นความจงใจที่จะให้เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ปกครอง

ผ่านมากว่า 44 ปีแล้ว สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถือว่าเป็นความวิปโยคครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สำหรับกรณี 6 ตุลาคม 2519 หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘วันฆ่านกพิราบ’

 

 

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้ผ่านบันทึกฉบับเต็มที่มีชื่อว่า ‘ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519’ ซึ่งมีความยาวถึงสิบหน้ากระดาษ โดยระบุในตอนหนึ่งว่า

     

“…เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในเดือนตุลาคม 2516 เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปแบบประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคน บ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า ‘สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์’ และกิตติวุฑโฒภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2519 เองก็ยังมีผู้กล่าวว่า การฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก

     

“ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ…”

     

วันที่ 6 ตุลาคม คือวันที่เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดนและลูกเสือชาวบ้านเป็นแกนนำ ได้ใช้กำลังเข้าทารุณกรรมและสังหารชีวิตนักศึกษาอย่างไร้ปราณี ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย (บางแหล่งอ้างถึงหลักร้อยราย)

     

นับจากวันนั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนนักศึกษาและเหล่าประชาชนยังคงเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ แต่คงมีหลายคนที่เกิดไม่ทัน วันนี้กงล้อประวัติศาสตร์ได้หมุนเวียนมาเตือนความทรงจำในอดีตกันอีกครั้ง ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นอนุสนธิเตือนสติและอนุสรณ์ของความกล้าหาญที่เอาชีวิตของตนเองเป็นเครื่องปกป้องประชาธิปไตยและต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

 


ภาพอีกภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นและสร้างความสะเทือนใจอย่างมากคือ ภาพที่เด็กน้อยยืนหัวเราะอยู่ในขณะที่มีประชาชนคนหนึ่งถูกฆ่าอย่างทารุณ เมื่อเขาถูกสังหารในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ จากนั้นมีการนำเอาเชือกผูกคอ ลากศพวิ่งไปตามสนามหญ้ารอบท้องสนามหลวง แล้วนำร่างของเขามาแขวนไว้ที่ต้นมะขาม โดยมีประชาชนกลุ่มหนึ่งยืนมองดูอย่างสนุกสนาน
     

ภาพนี้ถูกบันทึกไว้โดยช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ที่มีชื่อว่า Neal Ulevich เมื่อปี 1977 ซึ่งเป็นภาพในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ สำนักข่าว AP

     

สะท้อนถึงความโหดเหี้ยม โหดร้ายทารุณ ที่แสดงออกมาจากสัญญะร่างกายที่ไม่มีใครอาจลบเลือนภาพทรงจำที่ปรากฏในอดีตได้

 

 

ยังมีชุดภาพถ่าย 6 ตุลาคม 2519 ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยเห็น ซึ่งถูกบันทึกไว้โดย แฟรงค์ ลอมบาร์ด นักข่าวจากนิวซีแลนด์บันทึกภาพนี้ไว้ เฟซบุ๊ก ‘บันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6’ 

     

เขาถ่ายภาพนี้ไว้เมื่อเวลา 10.45 น. ของเช้าวันที่ 6 ต.ค. 2519 ภาพเหล่านั้นเปิดเผยให้เห็นถึงความชัดเจนของอารมณ์ความรู้สึกบนใบหน้า เสื้อผ้าที่เปื้อนเลือด สีเขียวของพื้นสนามหญ้า และโดยอย่างยิ่งร่างของ ปรีชา แซ่เอีย ที่ถูกแขวนอยู่กับต้นมะขามของยามสายวันนั้น เขามอบถ่ายภาพชุดนี้ให้กับโครงการ เพื่อที่ว่าอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิด 6 ตุลาคมซ้ำอีก

 

 

ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค 6 ตุลาคม 2519 ผ่านการล้มกระดานของทหาร ยิ่งคนในแวดวงนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเขา มาถึงวันนี้เขามีอายุ 60 ปีแล้ว เข้าสู่วัยเกษียณเต็มตัว แต่ยังคงไม่เคยลืมเหตุการณ์นี้

     

เขาบอกกับ THE STANDARD ถึงบทเรียนและเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้ว่า

     

เหตุการณ์ 6 ตุลาคมไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นความจงใจของฝ่ายปกครองที่สูญเสียอำนาจตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ร่วมมือกับกลุ่มอำนาจใหม่ มีความมุ่งหวังที่จะทำลายพลังก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งก็คือกลุ่มนิสิตนักศึกษา และจะเห็นว่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม การเมืองไทยก็มีรัฐประหารมาโดยตลอด และกลุ่มอำนาจเก่าก็กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง จึงเป็นความต้องการของคนกลุ่มนี้ เป็นความจงใจให้เกิดขึ้นในการเมือง

     

อีกบทเรียนหนึ่งที่สำคัญก็คือ มันเป็นการพิสูจน์แล้วว่า ชนชั้นปกครองมีความโหดร้ายเพียงใด การต่อสู้กับคนเหล่านี้ถึงเลือดเนื้อและชีวิต จึงอยากฝากให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ว่า อย่าใจร้อน เพราะเมื่อถึงเวลาเขาอาจจะจัดการแบบประวัติศาสตร์ที่เคยทำมา แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาเขาก็อาจจะจัดการโดยใช้รูปแบบอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องอดทน ระมัดระวัง สะสมชัยชนะ รอคอยเวลาที่เหมาะสม

     

“งานรำลึกถึงเหตุการณ์นี้จะยังจัดต่อเนื่องตลอดไป ตลอดไปเท่าที่บรรยากาศและสถานการณ์บ้านเมืองจะอำนวย ซึ่งเชื่อว่าธรรมศาสตร์ก็จะเป็นหลักในเรื่องนี้ตลอดไปเช่นกัน”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X