การเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของหุ้น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปั๊มน้ำมันที่สาขามากที่สุดในประเทศไทย มีส่วนผสมของธุรกิจค้าปลีก และเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ
THE STANDARD WEALTH ชวนติดตามข้อมูลที่สำคัญเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาลงทุน ดังนี้
1. OR เป็นหุ้นไฮบริดระหว่างปั๊มน้ำมันและค้าปลีก แต่ธุรกิจค้าปลีกมีส่วนสร้างกำไรมากกว่าปั๊มน้ำมัน
สัดส่วนธุรกิจ (จำนวนสาขา)
ปั๊มน้ำมัน 2,296 แห่ง
ค้าปลีก: คาเฟ่ อเมซอน 3,440 แห่ง, ร้านสะดวกซื้อ Jiffy และ 7-Eleven 2,046 แห่ง
สัดส่วนรายได้
ธุรกิจน้ำมัน 91.38%
ธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่นๆ 3.66%
สัดส่วน EBITDA
ธุรกิจน้ำมัน 68.67%
ธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่นๆ 25.04%
ฉะนั้นหากมองไปข้างหน้า นักลงทุนก็ควรจะพิจารณาโอกาสการขยายตัวของธุรกิจที่มีศักยภาพการทำกำไรสูงกว่าเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
2. อัตรากำไรสุทธิไม่สูง
OR มีสองธุรกิจหลักที่สร้างรายได้คือปั๊มน้ำมันและค้าปลีก โดยปี 2560-2562 บริษัทมีรายได้รวม 550,717.6 ล้านบาท 599,173.9 ล้านบาท และ 583,393.0 ล้านบาท ตามลำดับ โดยงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้รวม 319,308.41 ล้านบาท
ขณะที่กำไรสุทธิปี 2560-2562 จำนวน 12,671.1 ล้านบาท 9,493.1 ล้านบาท และ 10,895.8 ล้านบาท ตามลำดับ และงวด 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 5,868.5 ล้านบาท
ส่วนอัตรากำไรสุทธิปี 2560-2562 อยู่ที่ 2.3% 1.6% และ 1.9% ตามลำดับ ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มีอัตรากำไรสุทธิ 1.8%
3. แผนการใช้เงินระดมทุนส่วนใหญ่ยังเทน้ำหนักไปที่ปั๊มน้ำมัน-ธุรกิจต่างประเทศ
มูลค่าระดมทุนครั้งนี้ราว 41,760-46,980 ล้านบาท (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกิน) โดยบริษัทมีแผนสำหรับ
ธุรกิจน้ำมัน
- 13,300 ล้านบาท สำหรับขยายสถานีบริการ PTT Station
- 8,500 ล้านบาท สำหรับลงทุนคลังน้ำมันและศูนย์กระจายสินค้า
- 3,800 ล้านบาท สำหรับลงทุนสำหรับการตลาดพาณิชย์ธุรกิจน้ำมัน
ธุรกิจค้าปลีก
- 9,800 ล้านบาท สำหรับขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก
ธุรกิจต่างประเทศ
- 5,000-9,500 ล้านบาท สำหรับลงทุนธุรกิจต่างประเทศ
อื่นๆ
- 679-8,309 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนและคืนหนี้
4. เทรนด์รถยนต์ EV อาจเป็นความเสี่ยงต่อ OR
ด้วยแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคตดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ซึ่งหากพิจารณาจากธุรกิจหลักของ OR แล้วอาจจะเสียเปรียบในเชิงการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า OR จะสามารถบริหารจัดการและเข้าสู่ตลาด EV Car ได้ในที่สุด โดยอาศัยจุดเด่นด้านเครือข่ายปั๊มน้ำมันมากที่สุดในประเทศมาเป็นแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาด หรือเรียกได้ว่าไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ OR ที่ต้องจับตาก็คือจะขยับตัวได้รวดเร็วเพียงใด
5. หลังเข้าตลาด ปตท. ยังถือหุ้น 75-77.5%
บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 390 ล้านหุ้น ภายหลังเข้าตลาด ปตท. ยังถือหุ้น 77.5% (ภายใต้สมมติฐานว่าจะไม่มีการใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) และ 75% (ภายใต้สมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน)
เท่ากับว่าสภาพคล่องหุ้นหมุนเวียนในตลาดของ OR จะอยู่ที่ 22.5-25% อย่างไรก็ตาม ในสัดส่วนนี้มีหุ้นที่นักลงทุนสถาบันถืออยู่ด้วย ซึ่งโดยธรรมชาติการลงทุนจะเน้นลงทุนระยะกลาง-ยาวมากกว่า
6. ราคา IPO คิดเป็นค่า P/E ใกล้เคียงอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ
ในการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทกำหนดกรอบราคาเสนอขาย 16-18 บาทต่อหุ้น มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) 23.9-26.9 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยของบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันทั้งในและต่างประเทศอยู่ที่ 31.7 เท่า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์