ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน 2567 เกิดคดีความที่เป็นที่สนใจของประชาชนมากมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคดีเหล่านี้เกิดจากการฉ้อโกงที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายของประชาชนเป็นวงกว้าง และอีกส่วนที่สำคัญคือ ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม
THE STANDARD สรุปข้อมูล 6 คดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน ดังนี้
‘คดีดิไอคอนกรุ๊ป’ หรือที่หลายคนเรียกว่าจักรวาลดิไอคอน คดีความเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง
เนื่องจากคดีนี้สร้างผลกระทบไปถึงหลายภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานราชการ, เอกชน, มูลนิธิ และกระทบไปถึงคนหลายวงการ ทั้งนักการเมือง, นักแสดง, นักกฎหมาย, นักธุรกิจ และนักร้องเรียน
ในเรื่องความเสียหาย ณ ปัจจุบัน (เดือนพฤศจิกายน 2567) มีประชาชนเดินทางมาแสดงตัวว่าได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 9,000 คน เกิดความเสียหายมากกว่า 2 พันล้านบาท
ด้วยขอบเขตความเสียหายที่เป็นวงกว้างและคดีมีความซับซ้อน ทำให้ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นหลักคือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
มีผู้ถูกกล่าวหาตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
- บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคล
- บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล
- โค้ชแล็ป-จิระวัฒน์ แสงภักดี
- บอสปีเตอร์-กลด เศรษฐนันท์
- บอสปัน-ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร
- บอสหมอเอก-ดร.ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ
- บอสสวย-นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์
- บอสโซดา-ญาสิกัญจน์ เอกชิสนุพงศ์
- บอสโอม-นันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา
- บอสวิน-ธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์
- บอสแม่หญิง-กนกธร ปูรณะสุคนธ์
- บอสอูมมี่-เสาวภา วงษ์สาขา
- บอสทอมมี่-เชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์
- บอสป๊อป-หัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์
- บอสจอย-วิไลลักษณ์ เจ็งสุวรรณ
- บอสอ๊อฟ-ธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์
- บอสแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี
- บอสมิน-พีชญา วัฒนามนตรี
- บอสกันต์-กันต์ กันตถาวร
‘กฤษอนงค์’
จากนักร้องเรียนที่เป็นตัวแทนพาผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษคดีดิไอคอนกรุ๊ป สู่การถูกเปิดเผยข้อมูลคลิปเสียงว่าเรียกรับผลประโยชน์จากบุคคลในคดีเดียวกัน (ทำงานให้ 2 ฝ่าย) ทำให้ กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ เจ้าของเพจกฤษอนงค์ต้านโกง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้ง 2 ข้อหาหลัก คือ กรรโชกทรัพย์ และเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน จนนำมาสู่การจับกุมตัวในที่สุด
‘สามารถและแม่’
สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตรองโฆษกและอดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นนักการเมืองแทบจะคนแรกๆ ที่ถูกพูดถึงในคดีดิไอคอนกรุ๊ป สืบเนื่องมาจากคลิปเสียงปริศนาที่คนนำไปผูกโยงว่าอาจเป็นสามารถ แม้ต่อมาฝั่งดิไอคอนกรุ๊ปจะเคลื่อนไหวผ่านทางทนายความว่าไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ให้สามารถเลยก็ตาม
แต่ในท้ายที่สุดตำรวจกลับพบเส้นทางการเงินสำคัญระหว่างตัวบุคคลในดิไอคอนกรุ๊ป (บอสพอล) โอนถึงมารดาของสามารถ ซึ่งถูกส่งต่อให้สามารถอีกทอด มูลค่ามากเกินล้านบาท และทำมาอย่างต่อเนื่อง
‘ทนายตั้ม-ภรรยา’
เรื่องนี้มีที่มาจากรายการ คุยทุกเรื่องกับสนธิ หรือ Sondhitalk ซึ่งดำเนินรายการโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ที่เปิดเผยพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ และเบิกตัวผู้เสียหายซึ่งก็คือ จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย อดีตลูกความและนายจ้างของบริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด
โดยหลักใหญ่ใจความที่เจ๊อ้อยเปิดเผยนำมาสู่การเปิดแผลว่า ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เคยได้รับทรัพย์สินไปมากมาย เพื่อแลกกับการเป็นธุระจัดการธุรกิจและเรื่องส่วนตัวให้เจ๊อ้อยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศกับครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เจ๊อ้อยรับรู้ได้ถึงความผิดปกติในการบริหารทรัพย์สิน จึงเลิกจ้างทนายตั้มและเริ่มทวงถามเงินและรถต่างๆ ที่ไหว้วานเป็นธุระให้ จนนำมาสู่ข้อเท็จจริงที่ว่าเงินของเจ๊อ้อยถูกแปลงเป็นของทนายตั้มไป และเจ๊อ้อยขอดำเนินคดีทันที
‘หมอบุญ’
คดีนี้นับเป็นเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในวงการตลาดหุ้นไทย หลังศาลอาญาออกหมายจับ นพ.บุญ วนาสิน พร้อมกับภรรยา บุตรสาว และพวก รวม 9 คน
จากการที่ นพ.บุญ ชักชวนนักธุรกิจ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ให้ร่วมลงทุนใน 5 โครงการ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วย
- โครงการสร้างศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า
- โครงการ Wellness Center ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง
- ลงทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม
- Medical Intelligence อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ในรูปแบบทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ดอกเบี้ยกับผู้เสียหาย และจ่ายเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ พร้อมเช็คเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าในชื่อ นพ.บุญ โดยมี จารุวรรณ วนาสิน และ ณวรา วนาสิน บุคคลในครอบครัว เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญา โดยช่วงแรกให้ดอกเบี้ยกับผู้ที่เข้าร่วมลงทุนตามสัญญา แต่ต่อมาไม่ได้ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด
‘แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์’
จากจุดเริ่มต้นที่มีผู้เสียหาย 2 คนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจ หลังซื้อทองคำจากบริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการโดย กานต์พล เรืองอร่าม หรือ ป๋าเบียร์ และ กรกนก สุวรรณบุตร หรือ แม่ตั๊ก นำมาสู่การเปิดศูนย์รับแจ้งความทั่วประเทศเพื่อรวบรวมผู้เสียหายที่ซื้อทองคำได้แพงเกินกว่าราคาตลาด ได้รับของไม่ตรงตามการโฆษณาในไลฟ์ และไม่สามารถนำทองคำที่ซื้อมาไปขายต่อที่ร้านทองอื่นๆ ได้ นำมาสู่การขุดคุ้ยเรื่องของป๋าเบียร์และแม่ตั๊ก 2 สามีภรรยาที่มีชีวิตในโลกออนไลน์ร่ำรวยว่าเป็นไปเกินจริง
และจบลงที่ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค, ร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ
‘เชฟอ้อย’
การจับกุม ยุวดี ชัยศิริพาณิชย์ หรือ เชฟอ้อยกระทะเหล็ก เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้รับเรื่องจากผู้เสียหายที่รู้จักกับเชฟอ้อยผ่านรายการโทรทัศน์
จากนั้นได้ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารเชฟอ้อย มีความสนิทสนมกัน ทางเชฟอ้อยเห็นว่าผู้เสียหายต้องการจะขายทองคำ เพชร และพระเครื่อง มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท จึงเสนอตัวจะเป็นนายหน้า เชฟอ้อยจ่ายเงินก้อนแรกเรียบร้อย 5 แสนบาท แต่ต่อมาประสบปัญหาทางธุรกิจ จึงไม่สามารถผ่อนคืนให้กับผู้เสียหายได้
‘เชน ธนา-ภรรยา’
ว่าด้วยเรื่องของหนี้ ธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์ หรือ เชน ธนา เล่าถึงที่มาของเรื่องนี้ว่า สั่งสินค้าจากบริษัทผู้เสียหาย ซึ่งสินค้ามีทั้งหมด 2 ล็อต ล็อตแรกขายดี แต่เพียง 7 วันหลังจากรับสินค้า ได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าสินค้ามีปัญหาในการขออนุญาตโฆษณา กล่องผลิตภัณฑ์ไม่สามารถนำไปโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่ซื้อไว้ได้
ทำให้บริษัทของเชนต้องเรียกสินค้าคืนทั้งหมด นอกจากนี้ สินค้าไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงไว้คือ เนื้อผลิตภัณฑ์ต้องเป็นสีเหลือง แต่ของที่ได้รับกลับเป็นสีส้ม บริษัทของเชนจึงไม่ได้จ่ายค่าผลิตใดๆ ที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การที่บริษัทดังกล่าวต้องแจ้งความเอาผิดเงินค่าผลิตสินค้าจำนวน 79 ล้านบาท
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร