×

6 ประเด็นการค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ไทยต้องจับตาในปี 2021

29.12.2020
  • LOADING...
6 ประเด็นการค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ไทยต้องจับตาในปี 2021

HIGHLIGHTS

10 mins read
  • การสร้างเวทีการค้าเสรีใหม่ๆ โดยการสร้างพันธมิตรเพื่อโดดเดี่ยวจีน โดยเฉพาะพันธมิตรรอบมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกจะยังคงเป็นนโยบายหลักของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของ โจ ไบเดน
  • สงครามการค้าที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีทำให้จีนได้บทเรียน และต้องทบทวนแนวทางลดการพึ่งพาตลาดและแหล่งวัตถุดิบภายนอกประเทศลง และเพิ่มศักยภาพและบทบาทของตลาดภายในให้กลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นั่นนำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจสองวงจร (Dual Circulation) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีของจีน 
  • ในขณะที่จีนกำลังขยายอิทธิพล และสหรัฐฯ ก็ต้องการปิดล้อมจีน ไทยในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจก็จำเป็นที่จะต้องวางตำแหน่งของตนให้ดี
  • RCEP จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่า 6 จาก 10 ประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียนให้สัตยาบัน และ 3 จาก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนให้สัตยาบัน โดยคาดการณ์กันว่า RCEP จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในราวกลางปี 2021 ซึ่งจะเป็นวาระที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน

ปี 2021 โลกเข้าสู่โหมดการฟื้นตัวในหลายภูมิภาค หลังบอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ในปี 2020 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าหลายประเทศจะกลับมาขับเคลื่อนการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในฐานะกลไกสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และปีหน้าก็เป็นโอกาสดีที่กรอบความร่วมมือ RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจมีผลบังคับใช้

 

แต่ปี 2021 ภายใต้บริบทใหม่หลัง โจ ไบเดน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็อาจสร้างความท้าทายให้กับไทยในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการค้ากับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ ดังนั้นการวางตัวของไทยในการรักษาสมดุลแห่งอำนาจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ 

 

ไปดูกันว่าในเวทีการค้าโลก ปี 2021 มีกรอบความร่วมมือใดบ้างที่ไทยควรให้ความสำคัญและคว้าโอกาสเพื่อไม่ให้ตกขบวน รวมถึงวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และจีนในโลกบริบทใหม่

 

 

สหรัฐอเมริกาและยุทธศาสตร์ Indo-Pacific
โจ ไบเดน จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2021 ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของประธานาธิบดียังคงพิจารณาว่าการขยายตัวและการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อสหรัฐฯ

 

ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนในนาม Indo-Pacific Strategy ยังคงดำเนินต่อไป แน่นอนว่าพรรคเดโมแครตซึ่งมีนโยบายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในรูปแบบ Neo-Liberal Institutionalism ที่เน้นการสร้างเวทีการค้าเสรีใหม่ๆ โดยการสร้างพันธมิตรเพื่อโดดเดี่ยวจีน โดยเฉพาะพันธมิตรรอบมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกจะยังคงเป็นนโยบายหลักของสหรัฐฯ

 

แต่อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่สหรัฐฯ ประกาศกับทุกประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า (ซึ่งไทยก็เข้าข่าย 1 ใน 15 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ) ก็จะยังคงดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็ในระยะสั้น (ปี 2021) ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนอเมริกันจำนวนมาก (โดยเฉพาะผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์) พิจารณาว่าที่ผ่านมาพวกเขาได้รับผลประโยชน์จากนโยบายสงครามการค้าภายใต้แนวคิด America First

 

ดังนั้นหากนโยบาย Make America Lead Again ของไบเดนเริ่มต้นโดยการยกเลิกมาตรการสงครามการค้า นั่นหมายความว่ากลุ่ม Fandom ของทรัมป์จะรู้สึกทันทีว่ารัฐบาลภายใต้การนำของไบเดนเป็นปรปักษ์กับพวกเขา ซึ่งนั่นคงทำให้ภารกิจที่สำคัญที่สุดในช่วง 100 วันแรกของไบเดนในการสร้างความปรองดองในหมู่คนอเมริกันไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน

 

ดังนั้นในระยะสั้น สงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป แต่คงไม่รุนแรงก้าวร้าวเหมือนสมัยทรัมป์ และในระยะกลาง การเริ่มต้นเวทีการเจรจาการค้าเสรีใหม่ที่ต้องการโดดเดี่ยวจีน และต้องเป็นเวทีที่สหรัฐฯ เป็นผู้ร่างกฎกติกา คนอเมริกันเป็นกรรมการผู้คุมกฎ และอเมริกาเป็นผู้เล่นก็จะเริ่มเปิดตัวขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงปี 2022 และไม่แน่ว่าโมเดลแบบเดิมที่เริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคงในการคบจีนเพื่อปิดล้อมโซเวียตจนกลายเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้อาจกลายเป็นการคบอินเดียและเอเชียใต้เพื่อปิดล้อมจีน ในทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่พัฒนากลายเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกก็มีความเป็นไปได้

 

 

เศรษฐกิจสองวงจรและการเดินหน้า BRI ของจีน
จีนเริ่มต้นปี 2020 ด้วยวิกฤตโควิด-19 แต่เมื่อจีนใช้ยาแรงในการปิดเมือง จำกัดวงล้อมการแพร่ระบาด เศรษฐกิจจีนก็ค่อยๆ เงยหัวขึ้น และมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในแดนบวกได้ในไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเกือบจะเรียกได้ว่าเศรษฐกิจจีนกลับไปอยู่ในจุดที่เคยอยู่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคร้าย

 

เท่านั้นยังไม่พอ ปี 2020 จะเป็นปีสุดท้ายที่ประเทศจีนจะมีประชากรอยู่ใต้เส้นความยากจน (Poverty Line) นั่นเท่ากับว่าปี 2021 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนจะเป็นประเทศที่ปราศจากคนจน และเป้าหมายการพัฒนาของจีนในอนาคตจะต้องเปลี่ยนเป็นเพิ่มจำนวนและยกระดับฐานะ (Enlarge and Enrich) ให้กับชนชั้นกลาง

 

ส่วนเรื่องสงครามการค้าที่ลุกลามไปจนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีกลับทำให้จีนได้รับบทเรียนจากการพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากจนเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีชั้นสูง เทคโนโลยี 5G ของ Huawei และ ZTE ของจีนถูกแบนในหลายประเทศ เช่นเดียวกับ WeChat และ TikTok ในขณะที่ผู้ผลิตจีนเองก็ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึง Android Service และสถาปัตยกรรมหลัก ARM ของหน่วยประมวลผลบน Smart Devices ต่างๆ นั่นทำให้จีนต้องกลับมาทบทวนแนวทางการเดินหน้าเศรษฐกิจจีนที่ต้องลดการพึ่งตลาดและแหล่งวัตถุดิบภายนอกประเทศลง และเพิ่มศักยภาพและบทบาทของตลาดภายในให้กลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นั่นนำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจสองวงจร (Dual Circulation) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (5-Year Plan) ฉบับที่ 14 ซึ่งจะเป็นแนวทาง (Guideline) การเดินหน้าเศรษฐกิจจีนต่อไปในระหว่างปี 2021-2025

 

ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ของจีนจึงเป็นแผนที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะนำพาจีนให้เดินหน้าต่อไป ในฐานะแผนที่ 1 ของซีรีส์แผนพัฒนาฯ อีก 5 ฉบับที่จะตามมาระหว่างปี 2021-2050 ซึ่งเป็นวาระที่จีนจะเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (1 ตุลาคม 1949-2049) ซึ่งจีนต้องการบรรลุความฝันของจีน 3 ข้อ ได้แก่


1. เป็นประเทศเข้มแข็งและทันสมัยขั้นกลางในปี 2035
2. เป็นประเทศเข้มแข็งและทันสมัยอย่างเต็มที่ในปี 2049
3. มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ภายใต้นโยบายจีนเดียว

 

ซึ่งแน่นอนว่าความฝันของจีนจะบรรลุได้โดยเริ่มต้นจากการเสริมสร้างความเข็มแข็งของโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่จะเชื่อมโยงเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน โดยรถไฟจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากลาว ผ่านจีน ไปสู่ทุกจุดในยุโรปจะเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2021

 

จีนจะเชื่อมสัมพันธ์กับยุโรปและอาเซียนมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับรักษาดุลอำนาจระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศกับภายนอกประเทศ โดยเน้นการสร้างและพึ่งพาตนเองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI, 5G, Supercomputing, Quantum Computing, Next Generation Smartphone, Renewable Energy, Material Science, New Energy Vehicles, Biotechnology และ Space Science ร่วมกับการเพิ่มกำลังซื้อและเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้ระดับกลางในประเทศทั้งที่อยู่ในเมืองและในชนบทผ่านโครงการสร้างและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน

 

 

อาเซียนท่ามกลางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และการเดินหน้าประชาคมอาเซียน
จากข้อ 1 และ ข้อ 2 จะเห็นได้ว่าประชาคมอาเซียนซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกกำลังอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่จีนกำลังขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่าน BRI และสหรัฐฯ ก็กำลังพยายามปิดล้อมจำกัดเขต BRI ด้วยยุทธศาสตร์ทางการทหารและความมั่นคงภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

 

ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขยายขอบเขตการเฝ้าระวังด้านการทหารและความมั่นคงของกองเรือที่ 7 จากกองบัญชาการแปซิฟิกของสหรัฐฯ (USPACOM) เป็นกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ (USINDOPACOM) โดยกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ประกอบด้วย


1. กองกำลังทางเรือ ประกอบด้วยเรือรบและเรือสนับสนุนประเภทต่างๆ รวม 200 ลำ (เรือบรรทุกเครื่องบิน 5 ลำ) และเครื่องบิน 1,100 ลำ
2. กองกำลังทางบก กำลังพลประมาณ 106,000 นาย เครื่องบิน 300 ลำ และเรือ 5 ลำ
3. กองกำลังทางอากาศ ประกอบด้วยนักบินและพลเรือนประมาณ 46,000 คน และเครื่องบินมากกว่า 420 ลำ
4. กองกำลังนาวิกโยธินกว่า 86,000 คน และเครื่องบิน 640 ลำ

 

สหรัฐฯ พยายามสร้างพันธมิตรด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ในการปิดล้อมจีนภายใต้ชื่อกลุ่ม Quadrilateral Security Dialogue หรือ The Quad และได้วางประเทศไทย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีความสำคัญสูงสุดในการสร้างวงล้อมในการปิดล้อมจีน (US Forward Defense Ring)

 

ในขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พยายามเสนอแนะให้อาเซียนยกระดับกรณีพิพาทในอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนในบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดแย้งในระดับทวิภาคีระดับเวียดนาม-จีน ฟิลิปปินส์-จีน ให้เป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคระหว่างจีนและอาเซียน ทั้งที่อาเซียนเองยึดหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด อาเซียนจึงไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนโดยตรง (ต้องอย่าลืมว่าไทยไม่มีอาณาเขตในทะเลจีนใต้ เช่นเดียวกับที่เมียนมาไม่ได้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และลาวก็ไม่มีพรมแดนทางทะเล)

 

ดังนั้นในปี 2021 นอกจากการเฝ้าจับตารอคอยการบังคับใช้เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกระหว่าง 10 ประเทศอาเซียนกับคู่เจรจาหลักคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในนาม Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) แล้ว ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไน อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องจับตาคือท่าทีของอาเซียนและจีนในการเดินหน้าไปสู่การลงนามในระเบียบปฏิบัติ (China-ASEAN South China Sea Code of Conduct: COC) ภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2021 นี้หรือไม่ (นายกรัฐมนตรีจีนเคยกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในคราวที่เดินทางมาประชุมที่ประเทศไทยในปี 2019)

 

เช่นเดียวกับที่ต้องพิจารณาการดำเนินการของบรูไนในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2040 ซึ่งจะต้องเริ่มศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการประกาศใช้ภายหลังจากที่อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์ฉบับปัจจุบันในปี 2025

 

 

BIMSTEC กับไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอด
ในขณะที่จีนกำลังขยายอิทธิพล และสหรัฐฯ ก็ต้องการปิดล้อมจีน ไทยในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจก็จำเป็นที่จะต้องวางตำแหน่งของตนให้ดี แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องไม่เลือกข้าง เราต้องไม่เป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง เราต้องเน้นการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ให้ได้รับประโยชน์ที่ดีที่สุด และต้องรู้จักที่จะสร้างและรักษาดุลแห่งอำนาจให้ดี ไทยต้องไม่เป็นศัตรูกับใคร และต้องสร้างพันธมิตรที่ดีที่สุดในการเพิ่มอำนาจการต่อรองกับมหาอำนาจ แน่นอนว่าในเวทีระดับภูมิภาค ประชาคมอาเซียนที่ไทยมีบทบาทนำมาตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1967 จนถึงปัจจุบันคือเวทีที่ดีสุดและจำเป็นที่สุด

 

และในระดับอนุภูมิภาค ในปี 2021 ไทยจะได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า BIMSTEC

 

BIMSTEC คือความร่วมมือในทุกมิติ (จำแนกออกเป็น 14 ด้าน) ของสมาชิก 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน นี่คือตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลกที่มูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีประชากรรวมกันมากกว่า 1.6 พันล้านคน ที่สำคัญคือเศรษฐกิจของทั้งกลุ่มมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงในรูปแบบของระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) มีประชากรที่หลุดพ้นจากความยากจนกลายเป็นคนรายได้ระดับกลางเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน มีเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ประเพณี และประวัติศาสตร์ร่วมกันในอ่าวเบงกอล

 

ศักยภาพของ BIMSTEC ที่จะพัฒนาโอกาสทางการค้าการลงทุนและสามารถต่อยอดเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองในการเจรจามีสูงอย่างยิ่ง และในปี 2019 BIMSTEC เองก็บรรลุข้อตกลงในการเปิดเสรีการค้าในรูปแบบของ FTA แล้วในบางระดับ ถึงแม้จะยังไม่สามารถเจรจาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดได้ แต่ข้อตกลงในเรื่องของระยะเวลาและรูปแบบในการเปิดเสรีตลาดสินค้าก็สามารถหาข้อสรุปได้

 

ดังนั้นในปี 2021 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดของ BIMSTEC การทำงานหนักร่วมกันของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม น่าจะทำให้ไทยสามารถกำหนดทิศทางการเดินหน้าเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในอนาคตในกรณีที่ไทยและทั้งกลุ่มจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจในบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมโยงของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

 

 

การบังคับใช้ RCEP และการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้ประเทศไทย
แน่นอนว่า RCEP คือข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะครอบคลุมประเทศสมาชิกถึง 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กับอีก 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งโลก และครอบคลุมประชากรมากกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรของทั้งโลก และนั่นทำให้ RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

แต่ RCEP ก็ยังจะไม่มีผลบังคับใช้จนกว่า 6 จาก 10 ประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียนให้สัตยาบัน และ 3 จาก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนให้สัตยาบัน โดยคาดการณ์กันว่า RCEP จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในราวกลางปี 2021 ซึ่งจะเป็นวาระที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้งหมดก็เป็นเพียงทุกประเทศที่อยู่ในห่วงโซมูลค่าในระดับภูมิภาค (Regional Value Chains: RVCs) ของทวีปเอเชียและโอเชียเนีย (Ociania) แต่เอเชียก็ไม่ใช่ทั้งหมดของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) เพราะยังมีตลาดสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร ห่วงโซ่มูลค่าในทวีปอเมริกา อินเดียและเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งเป็นทั้งตลาดและแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่อยู่อีกทั่วโลก

 

ดังนั้นการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP ที่เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุด ไทยยังต้องเดินหน้าศึกษา รับฟังความคิดเห็น กำหนดยุทธศาสตร์ และเจรจาการค้ากับอีกหลายหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้คนไทยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้สิทธิพิเศษ ได้แต้มต่อในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ GVCs ซึ่งจะส่งผลดีให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

และข้อดีอีกประการของ RCEP คือเป็นข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ที่ครอบคลุมมากกว่าแค่การลด ละ เลิกภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้า หากแต่เริ่มมีการสร้างความร่วมมือในมิติอื่นๆ เช่น เอสเอ็มอี, การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, อีคอมเมิร์ซ และความร่วมมือในอีกหลากหลายมิติ

 

ซึ่งข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบนี้คือทิศทางที่ทั้งโลกกำลังเดินหน้าต่อไป RCEP จึงเปรียบเสมือนสระเด็กที่ให้ไทยและอาเซียนได้ทดลองว่ายน้ำ ก่อนที่จะพัฒนาตนเองต่อไปเพื่อว่ายน้ำในสระโอลิมปิกที่หมายถึงการเข้าเจรจาข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานสูงในกรอบอื่นๆ ที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP), ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร (UK) สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EAEU) และสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) หรือในอนาคตหากสหรัฐฯ ริเริ่มข้อตกลงการค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก รวมทั้งข้อตกลงการค้าในรูปแบบดั้งเดิม เช่น การเจรจากับบังกลาเทศ ปากีสถาน และ BIMSTEC ก็ถือเป็นความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งเดินหน้าเจรจา โดยขอฝากความหวังไว้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

 

 

 

APEC 2022 กับการเตรียมตัวของประเทศไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลากหลายมิติของ 21 เขตเศรษฐกิจ อันประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา จีน-ไทเป (ไต้หวัน) จีน-ฮ่องกง จีน เม็กซิโก ปาปัวนิวกีนี ชิลี รัสเซีย เปรู และเวียดนาม

 

จะเห็นได้ว่า APEC มีความซับซ้อนในการเจรจาอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจำนวนสมาชิกที่มากเขตเศรษฐกิจ แต่ละเศรษฐกิจก็มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่ที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดก็คือการที่หลายๆ สมาชิกมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และความขัดแย้งกันในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ต้องมานั่งประชุมอยู่ในเวทีเดียวกัน นั่นทำให้ที่ผ่านมาการประชุมระดับผู้นำของ APEC มักจะไม่ค่อยมีประเด็นสำคัญๆ ที่สามารถหาข้อสรุปได้มากนัก เช่น การประชุมผู้นำในปี 1994 ที่โบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย มีการตกลงกันว่าสมาชิกจะเปิดเสรีการค้าสินค้าและการลงทุนระหว่างกันในนาม Free Trade Area of Asia-Pacific (FTAAP) โดยสมาชิกที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับสูงจะเปิดตลาดเสรีในปี 2010 และสมาชิกเหลือจะเปิดเสรีในปี 2020 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน FTAAP ก็ยังไม่เกิดขึ้น หรือในปี 1995 APEC มีการตั้งคณะที่ปรึกษาทางธุรกิจในนาม APEC Business Advisory Council (ABAC) ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่นักธุรกิจต้องการคือการอนุญาตให้ผู้ถือบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจ APEC หรือ APEC Business Travel Card (ABTC) ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วสามารถเดินทางเข้า-ออกสมาชิก APEC ได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อสหรัฐฯ ไม่เอาด้วยกับหลักการดังกล่าว

 

การประชุม APEC ในระดับผู้นำจึงมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก และมักจะหาทางเลี่ยงโดยการประกาศความสำเร็จในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมืออื่นๆ เช่น การประชุมในปี 2001 ก็เน้นสนับสนุนการเจรจาในกรอบองค์การการค้าโลกที่เริ่มต้นการเจรจาในรอบโดฮา เช่นเดียวกับในปี 2005 ที่ก็กลับมาเน้นเรื่องการประชุมรอบโดฮาอีก ซึ่งจนถึงปัจจุบันการประชุมรอบโดฮาเองซึ่งเริ่มในปี 2001 ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้เช่นกัน ในปี 2005 ที่เกาหลีเป็นเจ้าภาพก็ไปให้ความสำคัญกับกรณีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และหลังจากนั้นในปี 2006, 2007 การประชุมก็เน้นเรื่องการควบคุมการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการต่อต้านภัยก่อการร้าย

 

ในขณะที่ปี 2019 ที่ชิลีต้องเป็นเจ้าภาพ การประชุมก็ถูกยกเลิกเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ หลังประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลในเรื่องค่าครองชีพที่สูงจนเกินไป

 

ดังนั้นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองการประชุม APEC กลับไม่ใช่การประชุมของผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ หากแต่ทุกสายตามักจะจับจ้องไปที่การประชุมคู่ขนาน (Sideline Meeting) ของผู้นำที่เดินทางมามากกว่า เช่น บางปีก็จะมีข่าวการประชุมระหว่างผู้นำจีน เกาหลี และญี่ปุ่น และในระยะหลังๆ การประชุมสำคัญที่มักจะเกิดควบคู่ขนานไปกับ APEC คือการประชุมของผู้นำ TPP ที่พัฒนาเป็น CPTPP

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม เนื่องด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับรูปแบบเป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ นั่นทำให้การประชุมคู่ขนานที่ทุกฝ่ายจับตามองมากกว่าอาจไม่เกิดขึ้น (แน่นอนว่าเพราะผู้นำไม่สามารถนัดพบกันระหว่างมื้ออาหารหรือประชุมพิเศษนอก Plenary Session ได้) และผลสำเร็จของการประชุมก็ไม่ได้ทำให้ทั่วโลกสนใจมากเท่าการประกาศหลังการประชุมของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงว่าจีนก็สนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาในกรอบ CPTPP

 

ในปี 2021 นิวซีแลนด์ในฐานะประธานการประชุม APEC เองก็ประกาศแล้วว่าจะเป็นการประชุมทางไกลอีกครั้ง นั่นทำให้สิ่งที่ทุกฝ่ายจับตาคือการประชุมคู่ขนานก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

 

แต่ในปี 2022 ที่ไทยจะเป็นประธาน ฝ่ายไทยประกาศแล้วว่าเราจะจัดประชุมแบบพบปะเจอหน้า ผู้นำทุกคนจะได้จับมือ หารือ และถ่ายภาพร่วมกัน รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะได้มีการประชุมแบบคู่ขนานระหว่างกันในหลากหลายโอกาส หลังจากที่ไม่มีโอกาสพบกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019, 2020 และ 2021 ดังนั้นตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา เราได้เห็นการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศในการเริ่มต้นประชุมระดมสมองจากหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกำหนดแนวทางและธีมของงานประชุมที่จะเกิดขึ้นในปี 2022

 

เชื่อว่าในปี 2021 เราคงยังต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การประชุม APEC ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การเป็นเจ้าภาพของไทยเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ APEC และการประชุมคู่ขนานสามารถประกาศความสำเร็จที่จับต้องได้และส่งผลดีอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising