ผ่านไปแล้ว 10 เดือน สำหรับปี 2566 ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่สู้ดีนัก เมื่อดัชนี SET ติดลบไป 17.19% จากปีก่อนหน้า หรือลดลง 286 จุด มาเหลือเพียง 1,381.83 จุด
แรงเทขายที่เกิดขึ้นกับหุ้นไทย โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติที่ขายออกมามากถึง 1.72 แสนล้านบาท ทำให้ ณ วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่มีบริษัทจดทะเบียนใดในตลาดที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงถึง 1 ล้านล้านบาทอีกแล้ว
ล่าสุด บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ยังคงเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของไทย มูลค่า 9.85 แสนล้านบาท ตามมาด้วย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มูลค่า 9.53 แสนล้านบาท และอันดับ 3 คือ บมจ.ปตท. หรือ PTT มูลค่า 9.49 แสนล้านบาท
แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดจะให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้ โดยเฉพาะบรรดาหุ้นใหญ่ในกลุ่ม SET50 แต่ก็ยังมีหุ้นใหญ่ 6 ตัวที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ในปีนี้ ได้แก่
- บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH +22.64%
- บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA +22.55%
- ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB +18.44%
- บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC +12.82%
- ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL +6.42%
- ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB +6.21%
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (31 ตุลาคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขฐานเงินอย่างกว้าง (M2) เดือนกันยายน พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน สร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยได้บ้าง
ทั้งนี้ จากการศึกษาของเราพบว่าตัวเลขดังกล่าวมักมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป รวมถึงผลตอบแทนของหุ้นขนาดกลาง-เล็กในช่วงถัดไป ดังนั้นหากสัญญาณ M2 ยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง เราอาจคาดหวังการทยอยฟื้นตัวของหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ทั้งในแง่ของสภาพคล่องและในมิติของผลตอบแทนขึ้นมาได้บ้าง หลังจากที่กลุ่มดังกล่าวปรับตัว Underperform มาตลอดทั้งปีนี้