×

6 เทรนด์ AI พลิกโฉมอนาคตปี 2024 ที่ทุกธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือ

05.04.2024
  • LOADING...
AI

Gen AI กำลังขยายสิ่งที่เคยทำได้ช้าหรือแม้แต่เป็นไปไม่ได้ในอดีตให้ขยับไปใกล้ความจริงมากขึ้นทั้งในระดับบุคคลและบริษัท Lan Guan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้าน AI หัวเรือใหญ่ผู้ดูแลภาพรวมธุรกิจ AI ของ Accenture ได้เดินทางมาประเทศไทย พร้อมเผย 6 เทรนด์สำคัญที่จะมากำหนดทิศทางของเทคโนโลยีตัวนี้ และกลยุทธ์ที่ธุรกิจต้องทำเพื่อจะเตรียมตัวให้พร้อมรับดิสรัปชันที่กำลังเกิดขึ้นให้ได้

 

6 เทรนด์สำคัญกับอนาคตของ AI

 

  1. จุดจบของยุคที่โมเดลเดียวกินรวบตลาด – เชื่อว่าถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว หากพูดถึง Generative AI สิ่งที่หลายคนน่าจะคิดถึงเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ ChatGPT แต่มาวันนี้มีโมเดลใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Gemini, Claude 3 หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเองก็มี Typhoon ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยการสิ้นสุดลงของยุค ‘โมเดลเดียวกินรวบตลาด’ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกที่หลากหลายและตรงตามประเภทงานมากขึ้น

 

  1. โมเดลโอเพนซอร์สพร้อมใช้สำหรับองค์กร – ความเชี่ยวชาญจากชุมชนนักพัฒนาจากทั่วโลกที่กำลังทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ กลายเป็นประตูที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงฟังก์ชัน AI ในรูปแบบใหม่ที่จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น

 

  1. โมเดลที่ประมวลข้อมูลได้มากกว่าหนึ่งประเภท – สำหรับผู้ที่ลองใช้งาน ChatGPT ในช่วงแรก ฟังก์ชันหลักของมันคือการสร้างคำตอบออกมาในรูปแบบข้อความ ทว่าวันนี้พัฒนาการของ AI สามารถประมวลผลได้หลายแบบ เช่น สร้างภาพ สร้างวิดีโอ หรือถอดเสียง เป็นต้น ซึ่งขยายขอบเขตการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีให้กว้างขึ้นไปอีก

 

  1. การใช้งาน AI บนอุปกรณ์ปลายทาง (Edge AI) – เหตุการณ์ปัญหา Deepfake ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก เป็นต้นเหตุให้ธุรกิจหลายรายลังเลที่จะใช้งาน AI ซึ่งทำให้เรื่องของ Edge AI ที่เป็นการประมวลผลบนอุปกรณ์แทนที่จะส่งมาจากคลาวด์หรือศูนย์ข้อมูล เช่น การใช้ AI ผ่านสมาร์ทโฟน กล้อง และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ จะช่วยทำให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และยังลดต้นทุนอีกด้วย

 

  1. โมเดลภาษาที่มีขนาดเล็ก แต่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง – แม้ว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่จะยังเดินหน้าพัฒนาและได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง แต่เทรนด์ของโมเดลที่มีขนาดเล็กลงก็กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงเช่นเดียวกัน เมื่อความเร็วและความเฉพาะเจาะจงเป็นปัจจัยที่ตลาดกำลังมองหา

 

  1. ตัวแทน AI ในฐานะผู้ช่วย – การสร้างคอนเทนต์กำลังจะไม่ใช่เพียงกรณีใช้งานเดียวที่แพร่หลายอีกแล้ว แต่จะเป็นการมาถึงของการที่ AI สามารถริเริ่มทำงานบางส่วนเองได้ โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นผู้ที่ตัดสินผลงานของ AI ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่สามารถมีเวลาไปสร้างคุณค่าในส่วนอื่นได้เพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ Ng Wee Wei ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าตลาดฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Accenture ยังย้ำว่า ปัจจัยที่จะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของการนำ AI เข้ามาปรับใช้คือการทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรมรูปแบบเดิมๆ ที่องค์กรคุ้นเคย โดยต้องหาให้ได้ว่า ‘คุณค่า’ ที่จะได้รับจากการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้อยู่ตรงไหน และจะต้องมีการให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก 

 

แล้วอะไรคือกรอบแนวคิดที่ผู้บริหารต้องนึกถึงก่อนจะกระโดดไปลงทุนใน AI?

 

Accenture มองว่าการตัดสินใจโดยยึดถือคุณค่าและประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้ องค์กรต้องเตรียมพร้อมโครงสร้างธุรกิจให้มีอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น ระบบคลาวด์และนโยบายกำกับดูแล AI เพื่อปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถี่ขึ้นและเร็วขึ้น

 

“ความสำเร็จที่จะเอา Generative AI มาใช้ ขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจของคน ในขณะที่เราใช้เวลาฝึกโมเดลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี อีกส่วนที่องค์กรขาดไม่ได้คือคนที่จะต้องเดินทางก้าวไปข้างหน้ากับ AI ด้วย” Ng Wee Wei กล่าว

 

AI

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

ภาพ: Techa Tungateja / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X