×

เก่า 5,200 ปี! ซานซีพบ ‘ดักแด้หินแกะสลัก’ ชี้เบาะแสต้นกำเนิดเพาะเลี้ยงไหม

โดย THE STANDARD TEAM
20.07.2022
  • LOADING...
ดักแด้หินแกะสลัก

วานนี้ (19 กรกฎาคม) สถาบันวิจัยโบราณคดีมณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เปิดเผยการค้นพบดักแด้หินแกะสลักที่มีอายุเก่าแก่อย่างน้อย 5,200 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน

 

ดักแด้หินแกะสลักดังกล่าวซึ่งมีความยาว 2.8 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณท้องสูงสุด 1.2 เซนติเมตร ถูกพบภายในบ้านกึ่งใต้ดิน ณ แหล่งโบราณคดีซ่างกัว อำเภอเหวินสี่ เมืองอวิ้นเฉิงของมณฑลซานซี โดยคณะนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าบ้านหลังดังกล่าวมีอายุอยู่ในช่วงตอนต้นของปลายยุควัฒนธรรมหย่างเสา (Yangshao Culture) เมื่อราว 5,200 ปีก่อน โดยพิจารณาจากชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบ

 

อนึ่ง วัฒนธรรมหย่างเสาซึ่งมีอายุย้อนไปราว 5,000-7,000 ปีก่อน มีต้นกำเนิดบริเวณแม่น้ำเหลืองตอนกลาง และถือเป็นสายธารสำคัญของอารยธรรมจีน

 

เถียนเจี้ยนเหวิน นักวิจัยสถาบันฯ กล่าวว่ามีการขุดพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงไหมในสถานที่หลายแห่งของเมืองอวิ้นเฉิงตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โดยรังไหมและดักแด้ไหมจำนวนมากที่ขุดพบนั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษของวัฒนธรรมหย่างเสาทางตอนใต้ของซานซีนั้นเคยเลี้ยงไหม และการค้นพบดักแด้หินแกะสลักหลายชิ้นยังมอบเบาะแสสำคัญสำหรับการศึกษาต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของไหมอีกด้วย

 

ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีซ่างกัวซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเหวินสี่ เป็นแหล่งคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญระดับชาติ โดยสถาบันฯ ปฏิบัติงานที่แหล่งโบราณสถานแห่งนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2018

 

อ้างอิง: 

  • สำนักข่าวซินหัว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X