×

สบน. ยอมรับ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน อาจดันหนี้สาธารณะปีงบ 65 ไต่ระดับ 60% ย้ำอยู่ระหว่างทบทวนแผนก่อหนี้ใหม่ เพื่อประเมินตัวเลขที่ชัดเจน

25.05.2021
  • LOADING...
พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน

ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ (25 พฤษภาคม) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ของกระทรวงการคลัง ได้เปิดแถลงข่าวถึงความจำเป็นในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ดังกล่าว รวมไปถึงการบริหารหนี้ชัดเจนแล้วว่า ‘รัฐบาล’ มีแผนกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อดูแลผลกระทบในส่วนนี้ว่า หลังการก่อหนี้เพิ่มทั้งหมดแล้ว จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเกินกว่ากรอบวินัยการคลังที่ 60% หรือไม่

 

โดย แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวย้ำว่า ตัว พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มีวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะมีการเบิกใช้ราว 1 แสนล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการเบิกใช้ในปีงบประมาณ 2565

 

สำหรับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ กำหนดไว้ว่าจะต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ใน 3 แผนงานหลัก คือ แผนงานด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท แผนงานด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จำนวน 3 แสนล้านบาท และแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อีกจำนวน 1.7 แสนล้านบาท

 

แพตริเซียกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ปรับลดวงเงินลงมาเหลือ 5 แสนล้านบาท จากฉบับร่างที่กำหนดวงเงินไว้ 7 แสนล้านบาท เป็นเพราะทีมเศรษฐกิจเห็นว่าการใช้เงินในระดับ 5 แสนล้านบาท เพียงพอกับการดูแลเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันยังยืนยันว่า การปรับลดวงเงินดังกล่าวลงไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงเกินกว่า 60% ต่อจีดีพี

 

“ตัวร่าง พ.ร.ก. เขียนไว้ที่ 7 แสนล้านบาท เพราะเป็นตัวเลขที่ ครม. กำหนดว่าจะต้องไม่เกินจากนี้ แต่หลังจากนั้นทีมเศรษฐกิจก็มาดูและเห็นว่าการใช้จ่ายในระดับ 5 แสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นที่มาของการปรับลดขนาดวงเงินลง”

 

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น ประเมินว่าภายในปีงบประมาณ 2564 ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ราวๆ 58% โดยตัวเลขนี้คำนวณจากการใช้จ่ายในส่วนของ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ครบ 100% และ พ.ร.ก. เงินกู้ฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ 1 แสนล้านบาท 

 

ส่วนคำถามที่ว่าหาก พ.ร.ก. เงินกู้ฉบับใหม่ ใช้จ่ายครบ 100% จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่เท่าไรนั้น แพตริเซียกล่าวว่า ทาง สบน. กำลังพิจารณาตัวเลขที่ชัดเจนอยู่ สาเหตุเพราะในปีงบประมาณ 2565 มีแผนก่อหนี้บางรายการที่ล่าช้าจากปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องมาก่อหนี้ในปีงบประมาณ 2565 และทำให้ตัวเลขการก่อหนี้ในปีงบประมาณดังกล่าวบวมกว่าความเป็นจริงไปพอสมควร ด้วยเหตุนี้ สบน. จึงต้องมาดูตัวเลขใหม่ทั้งหมด

 

“บางโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบ 2564 ก็ต้องมาก่อหนี้ในปีงบ 2565 ทำให้เราต้องทบทวนแผนการก่อหนี้ทั้งหมดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นเท่าไรกันแน่ ซึ่งโครงการไหนที่ไม่มีความพร้อมเราก็จะพับไป แต่เบื้องต้นเชื่อว่าตัวเลขสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะยังไม่เกิน 60% หรืออาจจะขึ้นไปแตะๆ ระดับ 60% ได้บ้าง ซึ่งยังตอบได้ไม่ชัด เพราะตอนนี้เรากำลังทบทวนแผนทั้งหมดอยู่”

 

สำหรับแผนการทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังนั้น แพตริเซียกล่าวว่า ตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ได้กำหนดให้คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเป็นผู้ที่กำหนดสัดส่วนหนี้ต่างๆ ซึ่งปีนี้จะครบรอบ 3 ปีพอดีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ทำให้ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการฯ อาจต้องมาทบทวนตัวเลขดังกล่าวกันใหม่

 

อย่างไรก็ตาม การทบทวนตัวเลขที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้น เพราะทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะดูจาก 2 เรื่องหลัก คือ สภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น และความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินกู้ในระยะกลางว่ามีมากน้อยแค่ไหน

 

“หากดูแล้วรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะปานกลางผ่านเงินกู้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้น หรือถ้ามองว่า 60% ยังคุมได้อยู่ ก็อาจไม่จำเป็นต้องขยับขึ้น หรือมองว่าหากจะขึ้นไปชั่วคราว แต่ในระยะข้างหน้าเงินที่ใส่ไปทำให้จีดีพีขยับขึ้น และมีผลให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงมา กรณีแบบนี้ก็อาจไม่ต้องขยับเพดานขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ทีมที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาอยู่ และเมื่อคณะกรรมการฯ มีการประชุม ก็จะหยิบมาพิจารณาเพื่อดูว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องขยับกรอบเพดานดังกล่าวขึ้น”

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X