×

มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนาม MOU กับ กสศ. หนุนทุนสายอาชีพต่อเนื่อง 5 ปี หวังหยุดความยากจนข้ามรุ่น

โดย THE STANDARD TEAM
27.03.2023
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และความร่วมมือทางวิชาการ โดยมี ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ประธานกรรมการมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมลงนาม

 

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ประธานกรรมการมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นที่ทราบกันว่าการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาว่ามีนักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนก่อนเวลาอันควร โดยสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้เสียโอกาสด้านเศรษฐกิจ และไม่สามารถพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มที่ 

 

ปี 2535 ในโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการครบ 50 ปี จึงจัดตั้งมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาทางการศึกษา โดยงานหลักของมูลนิธิคือการช่วยเหลือและสนับสนุนทุนการศึกษาให้นักเรียนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิแล้วกว่า 2,000 คนทั่วประเทศ และเป็นการช่วยสร้างบุคลากรในหลากหลายสาขาอาชีพ

 

วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทางมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ กสศ. ในการช่วยกันสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในสายอาชีพ ซึ่งคือกลุ่มคนทำงานที่จะมีบทบาทในโลกยุคใหม่ และคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราในอนาคต ถือเป็นก้าวสำคัญของมูลนิธิในการเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมในระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ด้วยการส่งเสริมความเสมอภาคให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาต่อหลังเรียนจบภาคบังคับผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ดังนี้

 

  1. ทุนช่วยเหลือการศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงระดับ ปวช. ถึง ปวส. ต่อเนื่อง 5 ปี จำนวน 30 ทุน ประกอบด้วย ทุนช่วยเหลือการศึกษาในระดับ ปวช. 3 ปี ปีละ 5,000 บาท, ทุนช่วยเหลือการศึกษาในระดับ ปวส. 2 ปี ปีละ 10,000 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 5 ปี

 

  1. ทุนช่วยเหลือการศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ ระยะเวลาเรียน 1 ปี จำนวน 30 ทุน ประกอบด้วย ทุนช่วยเหลือการศึกษาหลักสูตรปีละ 20,000 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 2,500 บาท

 

“มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย มองเห็นโอกาสความคุ้มค่าและผลตอบแทนของการลงทุน เนื่องจากเห็นสถิติเด็กเยาวชนที่ยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศไทย ที่มักหลุดออกจากระบบการศึกษาหลังเรียนจบชั้น ม.3 การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้มีทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้” ดร.ชญาวดีกล่าว

 

 

ดร.ชญาวดียังได้ระบุว่า มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. ในการคัดเลือกนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส เพื่อจัดสรรทุนการศึกษาให้ครอบคลุมผู้รับทุนในทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ในบันทึกความร่วมมือ ยังมีการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่นักเรียนทุน ผู้ปกครอง ครู และชุมชนตามข้อมูลของ กสศ. เพื่อบ่มเพาะภูมิคุ้มกันให้นักเรียนทุนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี 

 

ทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษาทุนและสถาบันอาชีวศึกษาที่เกี่ยวข้อง มีบุคลากรที่บริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม สามารถเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้มุมมองรอบด้าน พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงานและรับผิดชอบดูแลครอบครัวได้เต็มที่ยิ่งขึ้น อีกทั้งความร่วมมือครั้งนี้ ยังได้รับการเติมเต็มด้านวิชาการจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษาวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาไทยในระยะต่อไป

 

“โอกาสนี้ ทางมูลนิธิขอขอบคุณ กสศ. ในความร่วมมือที่เกิดขึ้นและจะมีต่อเนื่องไปในอนาคต เพื่อมุ่งมั่นสืบทอดเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

 

 

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่ กสศ. ทำมาตลอด 5 ปีของการทำงาน คือวิเคราะห์โจทย์ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโจทย์หนึ่งที่เป็นข้อค้นพบคือ ถ้าประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีเสถียรภาพในการฝ่าวิกฤตต่างๆ ได้ เราจำเป็นต้องมี ‘คน’ ที่มีคุณภาพ ซึ่งการจะทำได้ต้องเริ่มจากการสร้างโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษา

 

จากข้อมูลของ กสศ. โดยการทำงานของครูกว่า 4 แสนคนที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กตลอด 4 ปี ทำให้ทราบว่าปัจจุบันมีเด็กเยาวชนไทยมากกว่า 2 ล้านคนเป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประชากรกลุ่มใต้เส้นความยากจน 15-20% ล่างสุดของประเทศ กสศ. ได้ดูแลกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 อันเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นช่วงชั้นรอยต่อไปสู่การศึกษาในระดับสูง เป็นที่มาของการที่ กสศ. กับโจทย์การดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มุ่งศึกษาต่อในสายอาชีพ ในสาขาขาดแคลนและสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยกำลังที่มี กสศ. จึงสนับสนุนทุนเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้เพียงจำนวนหนึ่ง เป็นที่มาของการเหนี่ยวนำความร่วมมือจากหน่วยงานที่สนใจ เพื่อเข้ามาร่วมกันทำงานสร้างโอกาสทางการศึกษาไปด้วยกัน      

 

“การมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา มีความหมายต่อการสร้างความเสมอภาคของประเทศ ตลอด 5 ปีที่ กสศ. ทำงานกับกลุ่มประชากรยากจนด้อยโอกาส พบว่าในวงจรความยากจนข้ามรุ่น มีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือสมาชิกในครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ส่วนใหญ่จึงก้าวออกไปเป็นแรงงานไร้ทักษะ ไม่มีสวัสดิการดูแลตัวเอง ข้อมูลระบุว่าเกือบ 70% ของหัวหน้าครัวเรือนยากจน มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เมื่อเจาะลึกที่ผลสำรวจระดับการศึกษาของบิดาและมารดาของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พบว่า 85.65% มีระดับการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือระดับ ม.3 

 

“หากเด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นไม่สามารถไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่า ชีวิตที่ต้องวนเวียนอยู่ในวงจรความยากจนข้ามรุ่นก็มีโอกาสที่จะดำเนินต่อไป ขณะที่ถ้าประชากรกลุ่มนี้สามารถข้ามผ่านการศึกษาภาคบังคับ มีทักษะการทำงานและมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น จะเป็นการลดการใช้ทรัพยากรจากภาครัฐในการดูแล และพากลุ่มเป้าหมายไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ” ดร.ไกรยสกล่าว

 

ดร.ไกรยสอธิบายต่อไปว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นโครงการที่ กสศ. สนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษที่ครัวเรือนมีรายได้ต่ำที่สุด 15% ล่างของประเทศ ให้ได้ศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษา ปวช. ปวส. หรือระดับประกาศนียบัตร 1 ปี ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์ หลังเรียนจบภาคบังคับ โดยเริ่มดำเนินการโครงการทุนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาทุนสะสมทั้งหมด 9,614 คน ในสถานศึกษา 116 แห่ง จาก 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งนอกจากการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กๆ แล้ว เรายังทำงานในเชิงคุณภาพร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษา และสถานประกอบการอีกด้วย

 

ภายใต้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชกรในประเทศทุกช่วงวัย ทำให้ กสศ. มีงบประมาณในการดำเนินโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพียง 0.6% ต่อรุ่น หรือจำนวน 2,500 ทุนต่อปี การสนับสนุนจากมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยเพิ่มจำนวนนักศึกษาทุน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการดูแลเรื่องการศึกษา ความรู้ทางการเงินยังเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในการบริหารทุนการศึกษาที่ได้รับ อีกทั้งความร่วมมือด้านงานวิจัยทางวิชาการ ซึ่ง กสศ. มีสถาบันวิจัยที่พร้อมทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึงหน่วยงานวิชาการต่างๆ ในประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานให้ไปข้างหน้าได้ดีขึ้น 

 

โดยทั้งหมดนี้ กสศ. อยากสนับสนุนให้เกิดวงจรการทำงานร่วมกัน ในเรื่องการแบ่งปันทรัพยากร ความรู้ การทำงานวิชาการ เพื่อความยั่งยืนของการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของประเทศ ที่เด็กไทยไม่ว่าเกิดมายากดีมีจน หากมีความตั้งใจ มีศักยภาพ เขาจะต้องไปได้สุดทาง 

 

“นี่คือนิยามของความเสมอภาคทางการศึกษาบนหลักการที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่เด็กเยาวชนแต่ละคนที่มีความจำเป็นพื้นฐานต่างกัน ความสามารถแตกต่างกัน จะต้องได้รับความช่วยเหลือที่ตรงความจำเป็น และตรงกับศักยภาพสูงสุด เพื่อให้ในท้ายที่สุดเด็กเยาวชนเหล่านี้จะได้มีโอกาสที่เสมอภาคในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาประเทศให้ยั่งยืนและมีเสถียรภาพต่อไป” ดร.ไกรยสกล่าวในที่สุด

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X