ปี 2024 ถือเป็น ‘ปีทองแห่งการเลือกตั้ง’ (Super Year of Elections) พลเมืองโลกผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายร้อยล้านคนในเกือบ 80 ประเทศทั่วโลกออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ในปี 2025 การเลือกตั้งในหลายประเทศก็ยังคงเข้มข้น น่าติดตาม และมีอนาคตของพลเมืองในประเทศเหล่านั้น รวมถึงสถานะบนเวทีระหว่างประเทศเป็นเดิมพัน
ในบริบทที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงและไม่แน่นอน การเลือกตั้งกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับการบริหารประเทศและคลี่คลายสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลาย ทำให้หลายประเทศที่กำลังประสบเหตุเหล่านี้จึงพยายามจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือขึ้น และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง เพื่อให้ผลการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับมากที่สุด
นี่คือ 5 การเลือกตั้งน่าจับตา สะเทือนเวทีโลก 2025 ในสายตา THE STANDARD
ชาวเบลารุสเตรียมเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันที่ 26 มกราคม 2025 หลัง อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ปกครองประเทศมานานกว่า 30 ปี โดยลูคาเชนโกถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย รวมถึงสนับสนุนจุดยืนของรัสเซียในการรุกรานและก่อสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน
หลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายค้านเบลารุสแสดงความกังวลว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เสรี ไม่โปร่งใส และไม่ยุติธรรม ลูคาเชนโกอาจใช้การเลือกตั้งหนนี้สร้างความชอบธรรมและผูกขาดอำนาจ ทำให้ตนเองสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปได้อีกสมัย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งรัสเซีย
คำถามสำคัญที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้งเบลารุส 2025 คือ ผลการเลือกตั้งจะนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุสเมื่อปี 2020 หรือไม่ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เห็นต่างที่ชุมนุมอย่างสันติหลายหมื่นคนถูกจับกุมตัว ในจำนวนนี้เกือบ 1,300 คนกลายเป็นนักโทษทางการเมือง และชาวเบลารุสอีกจำนวนไม่น้อยถูกบังคับให้พลัดถิ่นและหนีออกนอกประเทศ
ถึงแม้ว่าลูคาเชนโกจะไม่ได้มีคำสั่งเคลื่อนกองกำลังทหารเข้าไปยังยูเครนเพื่อช่วยกองทัพรัสเซียสู้รบ แต่รัฐบาลเบลารุสภายใต้การนำของเขาก็อนุญาตให้รัสเซียใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของเบลารุสในการโจมตียูเครนได้ กระแสต่อต้านรัฐบาลและความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งเบลารุสไม่เพียงแต่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของลูคาเชนโก แต่ยังทำให้พันธมิตรอย่างปูตินละสายตาไปจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ เพราะนั่นอาจกระทบต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ไม่มากก็น้อย
มุมมองที่แตกต่างกันในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลผสมของ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ต้องสิ้นสุดลง โดยรัฐสภาเยอรมนีมีมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 394 ต่อคะแนนเสียงสนับสนุน 207 เสียง ทำให้ต้องยุบสภาและจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ก่อนกำหนด ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025
คำถามสำคัญคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้ชนะจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนมากเพียงพอที่จะมีอำนาจเด็ดขาดตัดสินใจเลือกเส้นทางทางการเมือง เพื่อฟื้นฟูประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและเป็นเสาหลักความมั่นคงสำคัญของภูมิภาคนี้ได้หรือไม่
ที่ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลเยอรมนีมักจะเกิดขึ้นในรูปแบบรัฐบาลผสม โดยมีพรรค CDU/CSU หรือ SPD เป็นแกนนำ ผลโพลหลายสำนักชี้ว่า ฟรีดริช เมิร์ซ ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมจากพรรค CDU/CSU ได้รับความนิยมสูงมากและถือเป็นตัวเต็งที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนต่อไป
ขณะที่พรรคฝ่ายขวาอย่างพรรคทางเลือกเยอรมนี (AfD) ตามมาเป็นอันดับ 2 โดยมีคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยแวดล้อมอย่างปัญหาผู้อพยพลี้ภัย รวมถึงสงครามและการก่อการร้าย สอดรับกับ ‘กระแสประชานิยมปีกขวา’ ที่เติบโตอย่างมากในยุโรป ส่วนพรรค SPD ของโชลซ์นั้นสูญเสียความนิยมอย่างมากจากผลงานช่วงที่ผ่านมาที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ทำให้คะแนนนิยมตกลงมาอยู่อันดับ 3
นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปี 2022 เราเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามรักษาระยะห่างจากจีนและเอนเข้าหาพันธมิตรดั้งเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวทางการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด ‘แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
จุดยืนและแนวทางการบริหารประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างตระกูลมาร์กอสกับ โรดริโก ดูเตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และ ซารา ดูเตร์เต รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ขณะนี้เป็นอย่างมาก จนทำให้ซาราตัดสินใจลาออกจากคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงกลางปี 2024 และมีกระแสข่าวว่าซาราขู่ลอบสังหาร มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งสะท้อนรอยร้าวระหว่างสองตระกูลดังที่เคยเป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน แต่ขณะนี้พยายามจะช่วงชิงและรักษาฐานอำนาจในฐานะ ‘ตระกูลผู้นำเบอร์หนึ่ง’ ของฟิลิปปินส์
การเลือกตั้งกลางเทอม 2025 ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งสองตระกูลในการรักษาฐานอำนาจในทางการเมือง โดยโรดริโก ดูเตร์เต เตรียมลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าการเมืองดาเวาอีกครั้ง พร้อมคาดหวังว่าชื่อเสียงและประวัติทางการเมืองของเขาจะมีส่วนช่วยทำให้ตระกูลดูเตร์เตและแนวร่วมพันธมิตรสามารถครองที่นั่งในรัฐสภาฟิลิปปินส์ได้เป็นจำนวนมาก และปูทางไปสู่การผลักดันให้ซาราลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 2028
รัฐบาลพรรคลิเบอรัลภายใต้การนำของ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2015 สูญเสียการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากพรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรค NDP เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ทรูโดมีความเสี่ยงที่อาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจ
ความวุ่นวายทางการเมืองเริ่มปะทุรุนแรงขึ้น หลัง คริสเตีย ฟรีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแคนาดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่เธอจะได้รับมอบหมายให้นำเสนอแผนเศรษฐกิจต่อรัฐสภา
โดยจดหมายลาออกของฟรีแลนด์ระบุว่า เธอมีความเห็นไม่ตรงกับทรูโด และเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่แคนาดาจะต้องรักษาเงินสำรองทางการคลัง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามภาษีที่อาจเกิดขึ้น หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ หวนคืนทำเนียบขาวในช่วงต้นปี 2025 จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ทรูโดตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังไม่พอใจแผนเศรษฐกิจและผลงานของรัฐบาลทรูโดในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิกฤตเงินเฟ้อ ปัญหาผู้อพยพ และการขาดแคลนที่อยู่อาศัย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของทรูโดในฐานะผู้นำประเทศ
รัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกาศจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปี 2025 หลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี เมื่อช่วงต้นปี 2021 โดยที่ผ่านมารัฐบาล SAC ระบุจะจัดการเลือกตั้งขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ต้องเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลความไม่สงบทางการเมืองที่มีการสู้รบกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลคู่ขนาน (NUG) และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (PDF) กับคู่ปรับอย่างกองทัพเมียนมาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
การเลือกตั้งเมียนมา 2025 ได้รับแรงสนับสนุนและแรงกดดันจากมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีน และบรรดาประเทศสมาชิกในอาเซียน รวมถึงประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา โดยมุ่งหวังว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาจะบรรเทาเบาบางลงและเปลี่ยนผ่านอำนาจกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยในเร็ววัน เพราะความสงบเรียบร้อยในเมียนมาเกี่ยวพันกับเสถียรภาพของภูมิภาคนี้
คำถามสำคัญคือ รัฐบาลใหม่เมียนมาจะเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้จริงหรือไม่ และจะได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากน้อยเพียงใด หลังหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้อาจไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น
อ้างอิง:
- https://www.ifes.org/news/following-super-year-elections-2025-shaping-year-elections-turmoil
- https://theconversation.com/5-elections-to-watch-in-2025-246194
- https://www.gzeromedia.com/news/analysis/10-elections-to-watch-in-2025
- https://www.reuters.com/world/americas/key-ally-canada-pm-trudeau-says-he-will-vote-bring-him-down-2024-12-20/
- https://www.csis.org/analysis/after-surprise-resignation-what-comes-next-canada
- https://myanmarelectionwatch.org/en/news/myanmar-junta-chief-min-aung-hlaing-announces-2025-sham-election
- https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/asean-will-want-inclusive-myanmar-general-election-in-2025-thailand-says