สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ในช่วงปี 2022 บริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุด 5 แห่งในซีกโลกตะวันตก มีผลกำไรรวมกันมากเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเพราะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศเรียกเก็บภาษีจากบริษัทน้ำมันเหล่านี้ให้รัดกุมและเข้มงวดมายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า โทเทิล เอนเนอร์ยี่ (Total Energies) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ได้เปิดเผยรายงานผลกำไรตลอดปี 2022 เมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยพบว่า ผลกำไรของบริษัทแตะ 3.62 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
- ‘บีซีพีจี’ ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฮุบธุรกิจ ‘คลังน้ำมันและท่าเรือ’ เปิดทางสู่ธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ระบุมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน ไร้แผนเพิ่มทุน
- สะพัด ‘บางจาก’ ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปิดดีลเทกโอเวอร์ ESSO จ่อชงบอร์ด 9 ม.ค. 66 ต่อยอดธุรกิจ Jet Fuel ปูทางขายน้ำมันเข้าสนามบินทั่วประเทศ
ขณะที่ยักษ์ใหญ่น้ำมันอีก 4 แห่งอย่าง เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil), เชฟรอน (Chevron), บีพี (BP) และ เชลล์ (Shell) ต่างมีผลกำไรประจำปีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเอ็กซอนฯ ทำกำไรได้ถึง 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สร้างสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันของกลุ่มชาติตะวันตก และส่งผลให้บริษัทเหล่านี้สามารถจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น และดำเนินการซื้อหุ้นคืน
ทั้งนี้ เมื่อรวมกำไรของทั้ง 5 บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ พบว่าบริษัทเหล่านี้สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำถึง 1.963 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022
รายงานระบุว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นก็คือการเดินหน้าบุกยูเครนอย่างเต็มกำลังของรัสเซีย ทำให้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย หวังกดดันให้รัสเซียยุติสงคราม แต่กลับทำให้ยุโรปจำเป็นต้องหาแหล่งซัพพลายน้ำมันจากที่อื่น ดังนั้นแม้ว่าความต้องการน้ำมันในหลายประเทศทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤตโควิด แต่ก็ยังทำให้ราคาน้ำมันในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นชนวนผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปีในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงมหาอำนาจเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
กำไรมหาศาลที่ได้จากสถานการณ์วิกฤตดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการดำเนินการจัดการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
ไบเดนเตรียมชง ‘ขึ้นภาษี’ ซื้อหุ้นคืน
ผู้ที่ออกมาเรียกร้องคนแรกๆ มีประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวในระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีของสภาคองเกรสว่า กำไรของบริษัทน้ำมันท่ามกลางวิกฤตพลังงานโลกเป็นการกระทำที่ค่อนข้างอุกอาจ
ไบเดนชี้ว่า บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ นำกำไรที่ได้มาไปลงทุนเพิ่มการผลิตในประเทศเพื่อช่วยกดราคาน้ำมันนั้นน้อยเกินไป แต่กลับนำผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปซื้อหุ้นของตัวเองคืน ตอบแทนซีอีโอและผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ ไบเดนได้เสนอให้มีการเพิ่มการจัดเก็บภาษีเป็น 4 เท่าสำหรับการซื้อหุ้นคืนเพื่อจูงใจการลงทุนระยะยาว พร้อมยืนยันว่าผู้บริหารระดับสูงจะยังคงสามารถทำกำไรได้ค่อนข้าง ‘มาก’ อยู่
ด้าน Agnès Callamard เลขาธิการกลุ่มสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงผลกำไรจำนวนมหาศาลของเหล่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่ว่า “ไม่สมเหตุสมผลอย่างเห็นได้ชัด” และเป็น “ภัยพิบัติที่ไม่อาจบรรเทาได้”
แถลงการณ์ของ Callamard ระบุว่า กำไรหลายพันล้านดอลลาร์ที่บริษัทน้ำมันเหล่านี้ทำขึ้นจะต้องถูกเก็บภาษีอย่างเพียงพอ เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดการกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่ และปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ระดับโลกทั้งหลาย
ยักษ์น้ำมันยันนำกำไร ‘ลงทุนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน’
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้บริหารของยักษ์ใหญ่น้ำมันต่างออกโรงโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักรณรงค์เคลื่อนไหว โดยเหล่าผู้บริหารได้เน้นถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการบริหารจัดการ ดังนั้น ข้อเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นจึงอาจขัดขวางการลงทุนในส่วนนี้
Wael Sawan ซีอีโอของ Shell กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว ภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ แน่นอนว่า Shell มีส่วนร่วมและให้มุมมองต่างๆ ซึ่งมุมมองสำคัญที่ Shell พยายามนำเสนอคือบริบทเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทน้ำมันอย่าง Shell เองก็ต้องมีการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ต้องการบรรยากาศการลงทุนที่ปลอดภัยและมั่นคง
“ตัวอย่างเช่น ภาษีลาภลอยหรือการจำกัดราคาทำให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการลงทุนลดลง ดังนั้นผมจึงกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ผมคิดว่ามีแนวทางอื่นที่จำเป็นต้องมี ซึ่งก็คือการดึงเงินลงทุนจริงๆ ในเวลาที่เราจำเป็นต้องจัดการให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไว้ในระบบพลังงานที่กว้างขึ้นในยุโรป” Sawan อธิบาย
ความคิดเห็นของซีอีโอ Shell มีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่บริษัทเปิดเผยรายงานผลกำไรประจำปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งแซงหน้าสถิติเดิมที่ 2.84 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2008
Aramco จี้รัฐช่วยเหลือเพิ่ม ช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ขณะที่ Amin Nasser ซีอีโอของ Saudi Aramco บริษัทพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการกดดันบริษัทน้ำมันด้วยการเก็บภาษีที่สูงขึ้นในเดือนก่อนหน้าผ่านการให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว CNBC ว่า เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ใดๆ เพราะบริษัทน้ำมันเหล่านี้จำเป็นต้องมีการเดินหน้าลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนที่ความต้องการเลิกพึ่งพาพลังงานน้ำมัน
ดังนั้น นอกจากจะต้องไม่เก็บภาษีแล้ว บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออีกด้วย โดย Nasser อธิบายว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีหมุนเวียนจำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบหากบริษัทต้องเผชิญกับการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น
‘BP’ พร้อมจ่ายภาษีเพิ่ม หากรัฐใช้ระบบจัดเก็บถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม สำหรับ John Browne อดีตซีอีโอของ BP กลับสนับสนุนการจัดเก็บภาษีจากบริษัทน้ำมันให้เพิ่มขึ้น โดยเจ้าตัวกล่าวว่าเป็นเรื่องถูกต้องสำหรับรัฐบาลที่จะจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้มาจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขว่าระบบภาษีดังกล่าวได้รับการออกแบบอย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งที่ Browne กังวลมีสองประการหลักด้วยกันคือ มาตรฐานในการจัดเก็บภาษีขึ้นอยู่กับรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกันออกไป กับขีดจำกัดของการจัดเก็บภาษี โดย Browne เสนอว่า ภาษีที่เรียกกันว่าภาษีลาภลอยนี้ ควรจะสามารถถอดถอนหรือระงับการบังคับใช้ ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ที่บริษัทได้กำไรจากสถานการณ์เลวร้าย
ขณะที่องค์กร NGO อย่าง Global Witness กล่าวสนับสนุนว่าประชาชนมีสิทธิทุกประการที่จะไม่พอใจผลกำไรที่ไม่ธรรมดาของยักษ์ใหญ่น้ำมัน และเรียกร้องให้มีการขึ้นภาษีลาภลอย
Alice Harrison หัวหน้าฝ่ายรณรงค์เชื้อเพลิงฟอสซิลของ Global Witness กล่าวกับ CNBC ว่า ภาษีลาภลอยที่เพิ่มขึ้นเป็นไปเพื่อช่วยผู้ที่ประสบปัญหาในค่าครองชีพ พร้อมกับเป็นการช่วยเพิ่มการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการใช้น้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยยุติยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำร้ายทั้งผู้คนและโลกอย่างรุนแรงได้ในที่สุด
ขณะที่ Sana Yusuf นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสภาพภูมิอากาศของ Friends of the Earth กล่าวว่า ผู้คนสามารถเห็นความอยุติธรรมของการที่ต้องแบกรับราคาพลังงานที่แพงกระเป๋าฉีก ในขณะที่บริษัทน้ำมันและก๊าซขนาดใหญ่กวาดรายได้เป็นพันล้าน ดังนั้น การเก็บภาษีจากกำไรส่วนเกินอย่างยุติธรรมสามารถช่วยสนับสนุนโครงการลดโลกร้อนในหลายประเทศทั่วโลกได้ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ทำให้บ้านอุ่นขึ้น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นอันตรายต่อโลก
อย่างไรก็ตาม Bernard Looney ซีอีโอของ BP ได้ออกโรงปกป้องคำครหาของ BP หลังบริษัทมีผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ที่ 2.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ว่า BP เป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของอังกฤษที่ ‘พึ่งพา’ กลยุทธ์ในการจัดหาพลังงานที่โลกต้องการ
นอกจากนี้ ในฐานะที่ BP เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานรายแรกๆ ของโลก ที่ประกาศความทะเยอทะยานที่จะลดการปล่อยมลพิษให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 รวมถึงให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยมลพิษลง 35-40% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ทำให้บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการดำเนินการ ก่อนยอมรับว่าเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซมลพิษที่ตั้งไว้เดิมอาจต้องลดเหลือ 20-30% เพราะยังจำเป็นต้องลงทุนในน้ำมันและก๊าซต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในปัจจุบันที่มีอยู่ไม่อาจตอบสนองได้
Looney ผู้บริหารของ BP กล่าวว่า บริษัทกำลังประกาศการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 8 พันล้านดอลลาร์ในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในทศวรรษนี้ และอีก 8 พันล้านดอลลาร์ในน้ำมันและก๊าซเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานและความสามารถในการจ่ายพลังงานในช่วงเวลาเดียวกัน
ท่าทีของ BP สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวเพื่อโลกสีเขียว โดยรวมถึง Mark van Baal ผู้ก่อตั้ง Follow This ที่ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่า หากการลงทุนจำนวนมากของยักษ์ใหญ่ยังคงผูกติดอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล แถมยังวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในน้ำมันด้วย บริษัทยักษ์ใหญ่น้ำมันเหล่านี้ก็ไม่สามารถรักษาคำมั่นที่ได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงปารีสได้ เพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษในปริมาณมากภายในปี 2030
อ้างอิง: