×

5 ความเข้าใจก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ปมอำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
10.03.2021
  • LOADING...
ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย

พรุ่งนี้ (11 มีนาคม) ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติ รวมถึงอ่านคำวินิจฉัยญัตติที่รัฐสภาส่งให้ศาลชี้ว่ามีอำนาจตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผลของคำวินิจฉัยย่อมจะมีผลต่อทิศทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตด้วย

 

ส.ส. รัฐบาล + ส.ว. จับมือยื่นญัตติส่งศาล:

9 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา โดยเสียงข้างมากเห็นชอบกับญัตติด่วนของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ​(สสร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ศาลรับคำร้องให้ 4 มือเขียนรัฐธรรมนูญส่งความเห็น:

18 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 คนทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มีนาคม ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 คนประกอบด้วย

  • มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
  • บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
  • สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
  • อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญ

 

ฝ่ายค้านยื่นความเห็น 7 หน้า ยืนยันรัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ:

 

3 มีนาคม พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้ายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอส่งบันทึกถ้อยคำและความเห็น เนื่องจากศาลได้มีการขอความเห็นจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จำนวน 4 คนเห็นว่าเพื่อเป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย จึงขอส่งบันทึกถ้อยคำเป็นข้อมูลต่อศาลรวม 7 หน้า เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

ส.ว. สมชาย ยืนยัน ไม่เคยขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ:

6 มีนาคม สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หนึ่งในผู้ร่วมยื่นญัตติ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กตนเอง ระบุถึงกรณีนี้พร้อมภาพญัตติที่ยื่นต่อรัฐสภา โดยกล่าวว่า การเมืองอย่าบิดเบือนโหมโรงสร้างกระแสปลุกม็อบ การยื่นส่งศาลประเด็นเดียวเพื่อชัดเจนว่าสภาไม่มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย้ำว่าตนเองไม่เคยขัดขวางแก้ไขรายมาตรา โดยสามารแก้ได้ทุกมาตรา แต่ต้องเปิดตรงว่าจะแก้มาตราใด อะไร อย่างไร พร้อมขออย่าบิดเบือน ว่าสมาชิกวุฒิสภาวางแผนล้มวาระ 3 และควรน้อมรอรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มีนาคม 

 

สมชายยังระบุว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 2 ประเด็นเรื่อง 38 มาตราที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเดิม อาจถูกแก้ไขหรือตัดทอนนั้น ยังไม่อาจเหมารวมได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจะโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาด 11 มีนาคม ทางออกหรือทางตัน: 

4 มีนาคม ศาลพิจารณาคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าวจากทั้ง 4 นักวิชาการ และพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่ากรณีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนและกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น.

 

ผลของคำวินิจฉัยจากศาลย่อมผูกพันทุกองค์กร และแน่นอนว่าเกมการยื่นญัตติดังกล่าวจากขั้วรัฐบาลทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของประชาชนที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อเนื่องมานานหลายเดิน แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยันว่ามีความจริงใจก็ตาม

 

ขณะที่มีกลุ่มการเมืองพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา และหากศาลยืนยันอำนาจดังกล่าวก็จะนำไปสู่การทำประชามติ ตั้ง สสร. และทำให้ระบบรัฐสภามีความแข็งแรง แต่หากไม่สามารถตั้ง สสร. มาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อาจเข้าสู่วิกฤตทางตันในอนาคตต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่น่าสนใจ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X