กลับมาทักทายทุกคนอย่างเป็นทางการอีกครั้งแล้ว สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ได้ฤกษ์ประเดิม 2 นัดแรกไปเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเกมตกค้างของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และแอสตัน วิลลา ซึ่งค้างคามาตั้งแต่ช่วงของเกมนัดชิงลีกคัพเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าการหายหน้าหายตาไปถึง 100 นัด แถมยังเป็นการกลับมาครั้งแรกของฟุตบอลอังกฤษหลังโควิด-19 ย่อมเป็นที่น่าสนใจของคอกีฬาทั่วโลกที่จับตามองอย่างมาก ซึ่งก็มีสิ่งละอันพันละน้อยที่นอกเหนือจากเกมการแข่งขันที่น่าสนใจ
ขออนุญาตรวบรวมเอามาฝากกันไว้ที่ตรงนี้
ภาพ: @AVFCOfficial
- Black Lives Matter และการคุกเข่า
กระแสการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวที่ลุกลามต่อเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ได้เดินทางมาถึงอังกฤษในเวลาไม่นาน และนอกจากจะได้รับการสานต่อจากเหล่านักกีฬาผิวดำที่ออกมาเรียกร้องให้จัดการแก้ไขปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกนี้อย่างยาวนาน เวลานี้ทุกคนพร้อมใจกันที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้ด้วย
จากเดิมที่พรีเมียร์ลีกมีการประกาศว่าใน 12 เกมแรกของพรีเมียร์ลีก (2 นัดตกค้างเมื่อคืนนี้ และ 10 นัดในโปรแกรมแมตช์เดย์ที่ 30 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้) บนหลังเสื้อนักฟุตบอลทุกคนจะเปลี่ยนจากชื่อของแต่ละคนมาเป็นข้อความเดียวกัน ซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์ในเวลานี้ว่า Black Lives Matter ที่แปลได้ว่า ‘ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย’
แต่ภาพที่น่าประทับใจในช่วงก่อนการลงสนามของทั้งคู่ระหว่าง แอสตัน วิลลา กับเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และคู่ระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับอาร์เซนอล คือการที่นักฟุตบอลทั้ง 22 คนในสนามต่างพร้อมใจกันคุกเข่าก่อนจะเริ่มเขี่ยบอล
เรื่องนี้ ราฮีม สเตอร์ลิง สตาร์ทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหอกที่ต่อสู้เรื่องของการเหยียดสีผิวมานานกล่าวด้วยความปลื้มใจว่า “มันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางเดียวกัน
“เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นของแท้ เราเคยได้เห็นทีมที่ทำ (คุกเข่า) ในช่วงก่อนจะเริ่มเขี่ยบอล และคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะทำเหมือนกัน”
Hawk-Eye statement on the goal line incident during Aston Villa v Sheffield match this evening. pic.twitter.com/I2u5lqKMqe
— Hawk-Eye Innovations (@Hawkeye_view) June 17, 2020
- ความผิดพลาดครั้งแรกของ Hawk-Eye
เสน่ห์แบบไม่ตั้งใจของพรีเมียร์ลีกคือความดราม่าที่มาแบบตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง ซึ่งในการกลับมาพรีเมียร์ลีกครั้งแรกของโควิด-19 ก็มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นอีกครั้งและเป็นที่พูดถึงอย่างมาก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมที่วิลลาพาร์กเป็นจังหวะฟรีคิกช่วงท้ายครึ่งแรกของทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เมื่อทางด้าน โอลิเวอร์ นอร์วูด เปิดบอลจากริมเส้นเข้าไปในกรอบเขตโทษ และผู้รักษาประตู ออร์ยาน ไนแลนด์ กระโดดรับบอลแล้วเสียหลัก ตัวล้ำเข้าไปในเส้นประตู
ประเด็นคือลูกนี้ผู้ตัดสินไม่ให้เป็นประตู เพราะไม่มีสัญญาณจาก Goal-line Technology รวมถึง VAR ก็ไม่ทำงานเช่นกัน ทั้งๆ ที่จากภาพช้าที่แฟนบอลได้เห็นกันทั้งโลกบอลนั้นเข้าเส้นประตูไปชนิดที่ คริส ไวล์เดอร์ ผู้จัดการทีม ‘ดาบคู่’ ถึงกับแขวะว่าแทบจะถอยเข้าไปรับบนอัฒจันทร์อยู่แล้ว
เรื่องนี้ทางด้าน Hawk-Eye ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีเองก็ไม่นิ่งนอนใจ มีการออกแถลงการณ์ชี้แจงทันที โดยยอมรับว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังผู้ตัดสิน ขณะที่ภาพช้า 7 มุมที่ประตูก็ถูกบดบังโดยผู้รักษาประตู กองหลัง หรือเสาประตู
บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังระบุว่านี่เป็นการผิดพลาดครั้งแรกจากจำนวนเกม 9,000 กว่านัดที่ระบบใช้งานมา ซึ่งก่อนเกมมีการทดสอบระบบแล้ว
ส่วนใครที่สงสัยว่าทำไม VAR ไม่ทำงาน คุณไม่ได้สงสัยคนเดียว ไวล์เดอร์เองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะเขาเคยมีประสบการณ์ต้องยืนตากฝนรอการตัดสินจาก VAR ที่ใช้เวลานานถึง 10 นาที ก่อนจะบอกว่า ‘นิ้วเท้า’ ของผู้เล่นล้ำหน้า
เรื่องนี้ทางด้าน PGMOL ซึ่งกำกับดูแลการตัดสินของพรีเมียร์ลีก ระบุว่าไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินได้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์เฉพาะที่ผู้ตัดสินในสนามไม่ได้รับสัญญาณ (หรือพูดง่ายๆ ก็คือ Goal-line ไม่ทำงาน VAR จะไปแทรกแซงก็ไม่ได้)
เพื่อความถูกต้องโปร่งใสก็คงจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก… ฟุตบอลอังกฤษก็แบบนี้ล่ะนะ
- เสียงกองเชียร์จำลอง
สำหรับกองเชียร์ที่ติดตามอยู่ทางบ้านจะได้ยินเสียงบรรยากาศของการเชียร์เปิดคลอไป ทำให้ไม่ถึงกับเหงามากนัก
เสียงเชียร์นี้ ทางด้านพรีเมียร์ลีกได้รับความร่วมมือจาก EA Sports ผู้ผลิตเกมฟุตบอลชื่อดังในตระกูล FIFA ที่ถือว่าทำการบ้านมาค่อนข้างดี เพราะไม่ได้ดังจนเกินไป แล้วก็ไม่เงียบจนเกินไป และเสียงก็ถูกจูนให้เข้ากับจังหวะของเกมได้อย่างค่อนข้างดี
สำหรับคอบอลที่ไม่ชินกับการแข่งในสนามเงียบๆ ก็น่าจะถูกใจกันอยู่บ้าง แต่ถ้าใครชอบแบบเรียลๆ อันนี้ไม่แน่ใจว่าในประเทศไทยจะมีให้เลือกเหมือนในอังกฤษ (และบางประเทศ) หรือไม่ว่าจะเลือกแบบเสียงสดๆ จริงๆ ในสนามไหม
เพราะบางทีนี่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่นักฟุตบอลคุยกันในสนาม… แม้ว่าถ้อยคำมันอาจจะไม่ได้น่าฟังนักก็ตาม
แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่าถ้าไม่มีเสียงเชียร์ของแฟนบอลหลายหมื่นคนกลบ นักฟุตบอลเขาพูดจากันแบบไหน
เป็นฟีเจอร์พิเศษที่จะมีเฉพาะช่วงโควิด-19 เท่านั้น!
- Fan Wall รู้หน้าไม่รู้ใจ?
ด้วยความที่ไม่มีแฟนฟุตบอลเข้ามาในสนามได้ หนึ่งในเรื่องที่มีการพูดถึงคือเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอลกับแฟนบอลที่จะขาดหายไป
แน่นอน แฟนบอลเองก็เหงา เพราะการได้ดูในสนามนั้นต้องบอกว่าแตกต่างจากการนั่งดูอยู่หน้าจอทีวีอย่างสิ้นเชิง ขณะที่นักฟุตบอลเองก็เฉา เพราะการลงเล่นกันเองโดยไม่มีกองเชียร์นั้นแทบไม่ต่างอะไรจากการซ้อมแข่งกัน
โชคดีที่โลกนี้มีคนฉลาดๆ อยู่มาก และนวัตกรรมลูกหนังใหม่อย่าง Fan Wall ก็ช่วยลดระยะห่างระหว่างหัวใจกันได้พอสมควร
Fan Wall คือจอภาพขนาดยักษ์ (ใหญ่ทีเดียว) ที่ใช้ระบบแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ที่จะให้แฟนบอลเข้ามา Join Group กัน (ซึ่งคนที่จะได้ Join นั้นก็แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละสโมสร เช่น เป็นผู้ถือตั๋วปี หรือร่วมสนุกกัน) จากนั้นแฟนบอลที่ได้รับการคัดเลือกก็จะได้มีโอกาสปรากฏบนจอให้นักฟุตบอลได้เห็นสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ร่วมของพวกเขา
ในวงเล็บว่าจะไม่มีเสียงของกองเชียร์ออกจากหน้าจอ มีแค่ภาพอย่างเดียว
ระบบนี้ได้ผลอย่างดีในเดนมาร์ก และพรีเมียร์ลีกก็นำมาสานต่อในแบบของตัวเอง ซึ่งจากภาพที่ได้เห็นในเกมระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับอาร์เซนอลแล้วก็ต้องบอกว่าภาพแฟนบอลบนจอนั้นน่ารักดี และช่วยให้รู้สึกดีขึ้นอีกนิดสำหรับฟุตบอลในยุคหลังโควิด-19
แม้มันจะเทียบอะไรกับแฟนบอลตัวจริงในสนามไม่ได้เลยก็ตาม
ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้จริงๆ
- คุณภาพของเกมที่…
สุดท้ายสิ่งที่คนในวงการกังวลกันค่อนข้างมากคือเรื่องของคุณภาพเกมการเล่นว่ากลับมารอบนี้ทุกทีมจะยังเล่นได้ใน ‘มาตรฐาน’ ของเกมพรีเมียร์ลีกที่เป็นลีกอันดับ 1 ของโลก (ในเรื่องของความนิยม) ไหม
จาก 2 เกมที่ปรากฏ เราพอจะบอกได้ว่าเรื่องสภาพร่างกายของนักฟุตบอลนั้นน่าจะพอไปวัดไปวาได้ แต่ในเรื่องของพละกำลังและจังหวะการเล่นอาจจะไม่ใช่
เพราะในเกมฟุตบอล เรื่องของแรงและความอึดก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องพละกำลังในการเล่นต้องมาจากการลงสนามเท่านั้น (Match Fitness) รวมถึงจังหวะจะโคนในการเล่นที่ดูแล้วอาจจะยังไม่เหมือนปกติเสียทีเดียว ยกเว้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ยังดูยอดเยี่ยมอยู่
ปัญหาใหญ่คือที่ผ่านมาพรีเมียร์ลีกให้เวลาเตรียมทีมน้อยมาก ทำให้เป็นการยากที่จะเรียกสภาพความฟิตให้กลับมาสมบูรณ์พร้อม ทางด้าน เป๊ป กวาร์ดิโอลา เองก็ยอมรับว่าทีมไม่ฟิตหรอก และถ้าไม่ฟิตแบบนี้แล้วมาใส่กันหนักๆ ประเดี๋ยวก็จะทยอยกันเจ็บ
อย่างไรก็ดี จากบทเรียนของบุนเดสลีกาที่เริ่มมาแบบหนืดๆ พอผ่านไปสนิมที่เกาะก็ค่อยๆ หลุดออก จึงพอจะหวังได้ว่าเดี๋ยวผ่านไปสัก 3-4 นัดทุกอย่างก็น่าจะเริ่มเข้าที่
และเราจะได้ดูฟุตบอลดีๆ ใกล้เคียงของเดิมกันอีกครั้ง 🙂
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2020/06/17/football/premier-league-restart-manchester-city-arsenal-aston-villa-sheffield-united-spt-intl/index.html
- https://www.theguardian.com/football/2020/jun/17/premier-league-return-five-talking-points-from-the-big-kick-off
- https://www.bbc.com/sport/football/53086360
- https://www.bbc.com/sport/football/53085409
- ก่อนเกมระหว่างแอสตัน วิลลา กับเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ได้มีการนำเสื้อของ รอน สมิธ คุณพ่อของ ดีน สมิธ ผู้จัดการทีม ‘สิงห์ผงาด’ ที่เป็นแฟนบอลตัวยงที่ถือตั๋วปีและทำงานเป็นสจวร์ตดูแลความเรียบร้อยของสนามวิลลาพาร์กมาไว้ที่นั่งประจำของเขาด้วย หลังจากที่รอนได้เสียชีวิตไปไม่นานจากโรคโควิด-19
- ในการถ่ายทอดสดยังมีมุมกล้องใหม่ๆ ในอุโมงค์สนาม แต่ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์ในช่วงก่อนพักครึ่งตามที่พรีเมียร์ลีกเคยเสนอแต่อย่างใด