×

5 เส้นทางเดินป่า ตาม 5 ระดับความยากในประเทศไทย

18.03.2022
  • LOADING...
5 เส้นทางเดินป่า ตาม 5 ระดับความยากในประเทศไทย

การเดินป่าในประเทศไทยกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักการผจญภัย ไม่ว่าจะเป็นทางระยะสั้น ไปเช้าเย็นกลับแบบ Hiking หรือระยะไกลที่ต้องค้างคืนแบบ Trekking ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการเส้นทางที่อุทยานฯ กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะมีเจ้าหน้าที่นำทางหรือไม่มีก็ตาม การเดินทางป่ามีความยากง่ายหลายระดับ มีตั้งแต่เริ่มต้นหัดเดิน เดินง่าย ระยะไม่ไกล ไปจนถึงเดินยาก ชัน และระยะทางหลายกิโลเมตร มาดูสิว่าป่าในประเทศไทย เส้นทางไหนเดินง่ายเดินยากระดับไหนกัน

 

 

Level 1: เดินชมนกชมไม้

เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน จังหวัดเชียงใหม่

 

เป็นเส้นทางที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บริเวณกิโลเมตรที่ 42 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ลักษณะเส้นทางเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้น บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,400 เมตร ตลอดระยะทางเป็นทางเดินขึ้นเขาสลับกับที่ราบ พร้อมกับวิวเขาและพันธุ์ไม้หายาก เช่น เฟิร์นยุคโบราณ กุหลาบพันปี ฯลฯ ที่นี่เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกที่สวยงามแห่งหนึ่ง

 

ระยะทาง: 3.2 กิโลเมตร

ระยะเวลา: 2 ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่: ไม่จำเป็น

 

 

Level 2: เดินป่า หรือหัด Trekking 

เส้นทางเดินป่าเขาช้างเผือก จังหวัดกาญจนบุรี

 

เขาช้างเผือกเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ มีจุดไฮไลต์เป็นเขาสันคมมีด สันเขาสวยงาม มีลักษณะเป็นทางเดินแคบๆ เล็กๆ กว้างประมาณ 1-2 ฟุต นักท่องเที่ยวทุกคนต้องเดินแถวเรียงหนึ่งผ่านสันเขาเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทาง ไม่มีการลัดคิวหรือเดินสวนทั้งนั้น แม้จะไม่สูงมาก แต่ก็ทำเอาใจสั่น เพราะยามใดที่มองลงไปเบื้องล่าง ภาพที่เราเห็นจะมีเพียงรอยเท้าบนพื้นที่เล็กๆ แคบๆ โดยมีเขาลาดลึกลงในเหวขนาบ น่าหวาดเสียวยิ่ง 

 

เส้นทางที่ว่าเดินง่ายก็ง่าย เดินยากก็ยาก เพราะมีเส้นทางเดียวเป็นพื้นที่ชันสลับทุ่งหญ้าบนสันเขา ทว่าเดินยากและลำบากเมื่อเข้าสู่เขาสันคมมีด

 

ระยะทาง: 8 กิโลเมตร

ระยะเวลา: 6 ชั่วโมง สำหรับขาขึ้น

เจ้าหน้าที่: จำเป็น

 

 

Level 3: ผู้เชี่ยวชาญ

เส้นทางเดินป่าภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์

 

ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คืออุตรดิตถ์และพิษณุโลก ที่นี่เป็นสนามซ้อมของนักวิ่งเทรล สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติ นักเดินป่าจะพบกับเนินเขาทั้งหมด 5 เนิน ได้แก่ เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ จากนั้นถึงลานกลางเต็นท์ รวมระยะทางทั้งสิ้นราว 6.5  กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมงสำหรับขาขึ้น ส่วนขาลงจะใช้เวลาเร็วกว่าเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง 

 

เมื่อขึ้นมาแล้วจะได้สัมผัสกับความสวยงามของป่าสนสามใบ หากมาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนจะมีทุ่งดอกหงอนนาคเบ่งบานเต็มทุ่ง เป็นสีม่วงพาสเทลสวย คลอเคลียกับสายหมอกยามเช้า แต่ถ้ามาช่วงปลายปีจะได้สัมผัสกับอากาศหนาวและฟ้าเปิด หากแต้มบุญสูงหน่อยก็จะเห็นทางช้างเผือกบนฟากฟ้าแน่นอน

 

ระยะทาง: 6.5 กิโลเมตร

ระยะเวลา: 6-8 ชั่วโมง สำหรับขาขึ้น

เจ้าหน้าที่: จำเป็น

 

 

Level 4: เส้นทาง Trekking ระดับยาก

เส้นทางเดินป่าน้ำตกปิตุ๊โกร ทีลอซู จังหวัดตาก

 

เส้นทางเดินป่าที่ถือว่าเอาเรื่องเอาการมากๆ ทั้งอากาศชื้นแฉะ พื้นดินเปียก ยิ่งถ้าวันไหนเจอฝนตกด้วย ทั้งจมโคลน ทั้งลื่นไถล แถมบางช่วงต้องลุยลำธารน้ำ เส้นทางเดินป่าน้ำตกปิตุ๊โกร ทีลอซู เป็นเส้นทางเดินป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ใกล้กับยอดเขาดอยมะม่วงสามหมื่น ติดกับเขตรอยต่อชายแดนไทย-เมียนมา  

 

ไฮไลต์ของเส้นทางนี้อยู่ที่น้ำตกขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยรูปหัวใจเป็นเอกลักษณ์ ชาวกะเหรี่ยงเรียกน้ำตกนี้ว่า ‘ปิตุ๊โกร’ แต่คนทั่วไปมักคุ้นหูในชื่อ เปรโต๊ะลอซู การเดินทางกว่าจะมาถึงต้องนั่งรถผ่านโค้ง 1,219 โค้ง และต้องเดินเท้าเข้าป่าเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร ผ่านทั้งลำธาร ทางรกชัฏ และผาสูง แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อไปถึงแล้ว ความสวยงามและอลังการของธรรมชาตินั่นคุ้มค่าจริงๆ 

 

ระยะทาง: 8-12 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับโปรแกรม

ระยะเวลา: 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน 

เจ้าหน้าที่: จำเป็น

 

 

Level 5: เส้นทาง Trekking ระดับโหดหิน

เส้นทางเดินป่าโมโกจู จังหวัดกำแพงเพชร

 

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินป่าที่มุ่งหน้าสู่ยอดเขาโมโกจู ยอดเขาที่สูงที่สุดในผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มักปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดเวลา ในการเดินทางเพื่อพิชิตยอดเขาโมโกจู ต้องใช้เวลาเดินเท้าจากที่ทำการฯ ไป-กลับ 4 คืน 5 วัน ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร ผ่านทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าเต็งรัง นักเดินทางที่เลือกเส้นทางนี้ ต้องเป็นคนรักการเดินป่า นอนในป่า ต่อสู้กับความยากลำบาก และต้องมีสุขภาพแข็งแรง

 

ระยะทาง: 29 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับโปรแกรม

ระยะเวลา: 5 วัน 4 คืน

เจ้าหน้าที่: จำเป็น

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

ภาพ: Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X