นี่คือ โฉมหน้าผู้นำสูงสุดของจีนทั้ง 5 รุ่น นับตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตุง (1949-1976) ผู้นำคนที่ 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยประธานเหมาได้รับการยกย่องในฐานะบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ นักปฏิวัติคนสำคัญและเป็นผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) คนแรกของจีน ผลักดันแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมและตั้งใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาความยากจน
โดยหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า เป็นรอยด่างพร้อยในสมัยการปกครองของเหมาเจ๋อตุงคือ การปฏิวัติวัฒนธรรม (Culture Revolution) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขจัดทุนยินมและค่านิยมดั้งเดิมออกไปให้หมดจากสังคมจีน เพื่อธำรงรักษาไว้ด้วยแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ เป็นเหตุให้มีผู้คนจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย สังคมบอบช้ำ เศรษฐกิจหยุดชะงัก สื่อทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีนจำนวนไม่น้อยถูกทำลาย แต่อย่างไรก็ตาม คุณูปการต่างๆ มากมายที่เหมาเจ๋อตุงอุทิศให้แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวจีนมาตลอดหลายทศวรรษ ก็ยังคงทำให้เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักของประชาชนจีน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปี 1976
ภายหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เติ้งเสี่ยวผิง (1978-1989) สมาชิกคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ค่อยๆ สั่งสมอำนาจและพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของจีน ต่อจาก เหมาเจ๋อตุง เอาชนะทายาททางการเมืองของเหมาเจ๋อตุงอย่าง ฮั่วกั๋วเฟิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่ในช่วงเวลานั้นได้สำเร็จ แม้เติ้งเสี่ยวผิงจะไม่ได้นั่งเก้าอี้ในตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศอย่างเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์หรือประธานาธิบดีในหน้าฉากการเมืองเลย แต่เบื้องหลังเขาคือผู้กุมอำนาจสูงสุดของจีนในช่วงเวลานั้น เขาต้องจัดการกับความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจีนสิ้นสุดยุคของเหมาเจ๋อตุง จนนำจีนมาสู่จุดที่สงบเรียบร้อยได้อีกครั้ง
เติ้งเสี่ยวผิง ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบจีนสมัยใหม่ นโยบายที่สำคัญของเขาในช่วงเวลานั้นคือ นโยบาย 4 ทันสมัย (Four Modernizations) มุ่งเน้นการปฏิรูปใน 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนที่จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบผสม เป็นสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด สนับสนุนการเปิดประเทศ ทำให้ประเทศจีนในช่วงเวลานั้นเจริญรุดหน้าเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจขยายตัว ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดย เติ้งเสี่ยวผิง ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีโดยนิตยสาร TIME ถึง 2 ครั้งในปี 1978 และ 1985 จากความสำเร็จของนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน
ขณะที่ผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีนคือ เจียงเจ๋อหมิน (1989-2002) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก เติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่ แทนเลขาธิการคนเดิมอย่าง จ้าวจื่อหยาง ที่แตกหักกับ เติ้งเสี่ยวผิง จากกรณีสนับสนุนการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรียกร้องให้ยุติการฉ้อราษฎร์บังหลวงในพรรคคอมมิวนิสต์และปฏิรูปประชาธิปไตย เมื่อปี 1989 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 5 ของจีน
จีนในยุคสมัยของ เจียงเจ๋อหมิน เน้นย้ำบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะตัวแทนของประชาชนจีน ผ่านนโยบายสามตัวแทน (Three Represents) ที่พรรคจะเป็นตัวแทนของการผลิตที่ก้าวหน้า เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า และเป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวจีน ทั้งยังเป็นยุคของการต่อยอดจากนโยบายฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิง มุ่งเน้นการปฏิรูปตลาด ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจรวมถึงระบบการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1997 หรือในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อช่วง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างมากต่อภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังมีปฏิสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 จนในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา จึงเริ่มเป็นช่วงผงาดขึ้นของพญามังกรจีน (The Rise of China)
ภายหลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งของ เจียงเจ๋อหมิน กว่า 1 ทศวรรษแล้ว รองประธานาธิบดีของเขาอย่าง หูจิ่นเทา (2002-2012) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนคนใหม่ในช่วงเวลานั้น โดยนโยบายส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสนับสนุนเขตการค้าเสรี ปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะโลกตะวันตกมากยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าผลักดันแนวนโยบายการพัฒนาโดยสันติ (China’s Peaceful Development) รวมถึงส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม
เศรษฐกิจของจีนที่เริ่มผงาดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ พุ่งทะยานขึ้นสูงสุดในช่วงการปกครองของผู้นำรุ่นที่ 4 ของจีนอย่าง หูจิ่นเทา จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า อัตราการเติบโตของ GDP ในเศรษฐกิจจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีหูจิ่นเทาเคยพุ่งสูงกว่า 14% ในปี 2007 การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลานี้ ส่งผลให้จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยหูจิ่นเทาเองก็มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเพียงราว 1 ทศวรรษเช่นเดียวกัน
ก่อนที่ สีจิ้นผิง จะได้รับเลือกให้เข้าเป็น 1 ใน 9 สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee: PSC) ครั้งแรก (ซึ่งต่อมาจะเหลือเพียง 7 คน) ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2007 และจากผลงานโดดเด่น ภาวะความเป็นผู้นำ และความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้สีจิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 และได้มติรับรองจากสภาประชาชน หรือ สภาตรายางของจีน ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 ของจีน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2013 จวบจนถึงปัจจุบัน
ผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สีจิ้นผิง เดินหน้ากระชับอำนาจอย่างต่อเนื่อง นอกจากที่จะกุมบังเหียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอำนาจบริหารสูงสุดในฐานะประธานาธิบดีแล้ว เขายังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิว]นิสต์ มีอำนาจสั่งการกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกข้อจำกัดที่ผู้นำจะไม่ดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ (วาระละ 5 ปี) เมื่อปี 2018 นั้น เปิดโอกาสให้สีจิ้นผิงสามารรถดำรงตำแหน่งผู้นำของพญามังกรจีนได้นานมากกว่า 1 ทศวรรษ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต หากประมุขของประเทศอย่างสีจิ้นผิงต้องการ
โดยตัวอย่างนโยบายที่สำคัญของเขาคือ การสนับสนุนความริเริ่มเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล (Belt and Road Initiative) หรือยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road: OBOR) ที่จะมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศต่างๆ ในประชาคมโลก รวมถึงส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่จีนในเวทีโลก ทั้งยังมียุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้จีนก้าวขึ้นไปทัดเทียมกับตำแหน่งประเทศมหาอำนาจของโลกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
คาดว่าการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2022 นี้ จะยังคงรับรอง สีจิ้นผิง เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและปูทางไปสู่การเป็นประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 ต่อไป หลังจากที่ยังไม่มีการวางตัวทายาททางการเมืองรุ่นต่อไปแต่อย่างใด สีจิ้นผิงจึงเป็นผู้นำสูงสุดของจีนที่มีอำนาจมากที่สุดประวัติศาสตร์การเมืองจีน นับตั้งแต่ตั้งยุคสมัยของเหมาเจ๋อตุง
อ้างอิง:
- https://www.britannica.com/biography/Mao-Zedong
- https://www.britannica.com/biography/Deng-Xiaoping
- https://www.britannica.com/biography/Jiang-Zemin
- https://www.britannica.com/biography/Hu-Jintao
- https://www.britannica.com/biography/Xi-Jinping
- https://www.nytimes.com/2022/10/07/opinion/xi-jinping-mao-zedong.html
- https://multimedia.scmp.com/widgets/china/govt-explainer/index.html
- https://www.bbc.com/news/world-asia-62970531
- https://www.thetimes.co.uk/article/xi-jinping-president-worlds-most-powerful-man-china-2snprgdm5