ด้วยความที่เราเองไม่ได้รู้ขั้นตอนอย่างละเอียดของการตีพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์สักเล่ม แต่เคยได้มีโอกาสฟังพอดแคสต์รายการ Line, Relation ของ Amarinbooks Podcast ที่เล่าถึงกระบวนการ ก็ค้นพบว่าแค่การส่งต้นฉบับพิจารณา กว่าจะไปถึงโต๊ะ ถึงมือบรรณาธิการ ก็ต้องผ่านขั้นตอนหลายด่าน ไหนจะจุดเริ่มต้นของการพิจารณาเนื้อหา เช็กรสนิยม ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ก็มีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปอีก
‘สำนักพิมพ์’ เป็นหนทางหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่หนทางเดียวในการตีพิมพ์หนังสือ มนุษย์เรา Self-Published กันมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ The Tale of Peter Rabbit ของ เบียทริซ พอตเตอร์ ที่สำนักพิมพ์เมินใส่ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเธอตัดสินใจตีพิมพ์เองครั้งแรกในจำนวน 250 เล่ม หรือ The Martian ที่ถูกทำเป็นหนังและได้ แมตต์ เดมอน มาแสดงนำ ก็เริ่มจากการที่ แอนดี้ เวียร์ เขียนบล็อกเพื่อความสนุกเท่านั้นเอง
สำหรับเราที่เติบโตมาในยุคที่นิยายวาย งาน Boy Love ตีพิมพ์เองกันแล้วยังดังถล่มทลาย คำว่า Self-Published จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แถมยังดีใจกว่าเดิมที่ในปัจจุบันมีให้อ่านมากขึ้นหลายแนว ทั้งรวมเรื่องสั้น บทกวี หรือนิยายก็มี นอกจากนี้ ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้าน Candide Books ก็เคยแชร์ตอนจัด Twitter Spaces ว่าวงการ Self-Published ในไทยมีฐานคนอ่านที่ตามอย่างจริงจัง มีกลุ่มคนของเขา และมีงานเขียนดีๆ ที่น่าสนใจทีเดียว
วันนี้เรา ในฐานะคนอ่านเพียวๆ เลยอยากหยิบงานไทย 5 เล่ม ‘เขียนเอง พิมพ์เอง’ มาให้รู้จักกัน มีทั้งเล่มที่เราชอบ เล่มที่หลายคนชอบ เล่มที่น่าสนใจ เล่มที่ไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งจะได้อ่าน ไปจนถึงเล่มที่ทำให้ตั้งคำถามกับการ Self-Published ก็ด้วย
- เล่มที่เราชอบ: อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน โดย Moonscape
มีพลังงานบางอย่างที่แผ่ออกมาจากหนังสือเล่มนี้ ดึงดูดให้คนชอบอ่าน คนชอบเขียน พยายามเสาะหาคว้ามาอ่านให้ได้ (หาซื้อได้ที่ร้านกลิ่นหนังสือ) อยู่แชร์เฮาส์ฯ เล่าเรื่องของเหล่านักเขียนและผู้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ที่ ‘ต่างคนต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข’ ในบ้านคุณยายการเวก โดยดำเนินเรื่องแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ฉายสปอตไลต์ให้ตัวละครทุกตัวเท่าๆ กัน
เรามองว่า Moonscape มีความคงเส้นคงวาในการใช้ภาษา กลมกล่อมเกินคาดไปมาก และเวิร์กกับ Character Development ได้ดี เราได้เห็นตัวละครก้าวออกจาก Comfort Zone ได้เอาชนะความกลัวบางอย่าง ได้ก้าวข้ามแผลในใจของตัวเอง มี Spin-off ได้สบายๆ อ่านแล้วรู้สึกเอาใจช่วยตัวละครทุกๆ ตัวเหมือนเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของแชร์เฮาส์ไปด้วย
- เล่มที่หลายคนชอบ: ผมบอกรักเธอด้วยฟอนต์ Cordia โดย ใบพัด นบน้อม
เล่มนี้ฮิต เป็นกระแสผ่านตาบนโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยชื่อเสียงของใบพัดก็ดี หรือความเก๋ของชื่อเรื่องก็ดี แต่หนังสือเล่มนี้มอบบทเรียนให้เราอยู่ 3 ข้อ 1. อย่าซื้อเพราะแค่ปกหรือชื่อเรื่อง 2. ควรรีเสิร์ชเกี่ยวกับหนังสือที่จะซื้อ และ 3. อย่าเป็นทาสการตลาดแบบครบเซ็ต
เล่มนี้เป็นความเรียงสั้นๆ หลายๆ เรื่อง เหมือนรวมสเตตัสเฟซบุ๊กยาวๆ อาจจะถูกจริตบางคน นำเสนอมุมมองความรักที่คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว เขาก็หยิบมาเล่าตรงๆ ภาษาตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ชอบอ่านความเรียงเรื่องความรัก ที่ไม่จำเป็นต้องให้คำตอบอะไร และก็ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับฟอนต์ Cordia
(หนังสือชุดนี้มีภาคต่อเป็น เธอบอกเลิกผมด้วยฟอนต์ Helvetica ด้วยนะ)
- เล่มที่น่าสนใจ: ฝันฤดูร้อน โดย ชยพล ทองสวัสดิ์
เพื่อนๆ แก๊งนักอ่านตื่นเต้นมากเมื่อเห็นร้าน Candide Books โพสต์แนะนำหนังสือเล่มนี้ ด้วยตัวปกเอย อะไรเอย ที่ดูดีมีความ Professional สุดๆ ถ้ามองผ่านๆ จากภายนอกจะนึกไม่ถึงเลยว่านี่คืองาน Self-Published เพิ่งจะพิมพ์สดๆ ออกใหม่ๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เข้ากับหน้าร้อนพอดี
เล่มนี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์แบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฤดูร้อน ทั้งคนรัก คนรู้จัก หรือคนแปลกหน้า ที่สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของเราคือยังบอกชอบได้ไม่สุด แต่ก็ไม่ได้ไม่ชอบเสียทีเดียว เรามองว่าผู้เขียนเป็นคนละเอียด ช่างสังเกต อธิบายอะไรๆ ได้ชัดเจนดีจนทำให้รู้สึกตามได้ แต่ในส่วนของพล็อตมองว่ายังเบาอยู่มาก เข้มข้นตอนต้น แผ่วตอนปลาย หลายๆ อย่างยังทิ้งความสงสัยให้เรา หรือตอนจบจริงๆ ไม่ได้แตกต่างจากที่คาดไว้ล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามเล่มนี้คือตัวอย่างงาน Self-Published ที่คุณภาพดีทีเดียว
- เล่มที่ไปอยู่ไหนมาทำไมเพิ่งจะได้อ่าน: โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21 โดย นันดานี
ถ้าจะเรียกว่าเป็น Self-Published 100% ก็คงจะโดนหาว่าทำการบ้านมาไม่ดีแน่ เพราะเนื้อหาในเล่มนี้ได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์โดย Anthill Archive เป็นพื้นที่ให้คนทดลองเขียน เปิดรับต้นฉบับและเลือกตีพิมพ์เป็นครั้งคราว โดยไม่มีค่าเรื่องและลิขสิทธิ์เป็นของผู้เขียน
หนังสือเล่มนี้คือรวมเรื่องสั้นหลายท็อปปิก เล่นกับสติสตังของมนุษย์ อ่านแล้วสัมผัสได้เลยว่า ผู้เขียนมีไฟแค้นสุมอยู่ในใจ อกจะแตกออกมาให้ได้ เรามองว่าแต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์ มีของแพรวพราว ได้เห็นเทคนิคหรือการผูกเรื่องที่ไม่คุ้นเคยเท่าไร ราวกับว่ากำลังดูซีรีส์ Black Mirror อยู่กลายๆ แล้วสมองก็ดันเรนเดอร์ภาพ ฉากต่างๆ นานาตลอดเวลาที่อ่าน ทำเอานอนไม่หลับในบางคืน
- เล่มที่ทำให้ตั้งคำถามกับการ Self-Published: สิ่งที่เรียกว่าครู่ยามหนึ่ง โดย สิรินารถ อินทะพันธ์
อ่านหนังสือก็เหมือนวิ่งมาราธอน มันจะมีเล่มที่ทำให้คุณเกิดอาการ DNF (Did Not Finish) หรืออ่านไม่จบเป็นครั้งคราว เล่มไหนไม่ไหวก็อย่าฝืน ซึ่งเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น
สิ่งที่เรียกว่าครู่ยามหนึ่ง เล่าเรื่องความสัมพันธ์หลายๆ แบบ เกิดขึ้นในหลายๆ ช่วงจังหวะของชีวิต ที่อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงอารมณ์ฟูมฟายซ้ำๆ ย่ำๆ อยู่ที่เดิม ในด้านหนึ่งหนังสือชวนให้เราตั้งคำถามว่าบาร์ของ Self-Published จริงๆ แล้วอยู่ตรงไหน หนังสือประมาณนี้หรือเปล่าที่ทำให้การเขียนเอง พิมพ์เอง ถูกมองว่าเป็นแผลเป็นมากกว่ารอยสัก*
แต่ในอีกด้านหนึ่งเรากับหนังสือเล่มนี้อาจเจอกันผิดเวลา เราอาจไม่ถูกจริตกับมุมมองความรัก ความสัมพันธ์แบบที่ถูกบอกเล่าในหนังสือ จึงรู้สึกว่ายิ่งอ่าน ยิ่งตั้งคำถาม แต่มันก็คงเป็นเสน่ห์ของหนังสือที่อาจจะไม่ได้ฟิตกับความชอบของเราไปเสียทุกเล่ม
[*เกร็ก โคป ไวต์ ผู้เขียนหนังสือ The Pink Marine ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเองเอาไว้ว่า “Five years ago, self-publishing was a scar, now it’s a tattoo.”]
ถึงจะไม่มีใครมัดมือนักเขียนว่าต้องตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์เท่านั้นนะ แต่ก็ยังมีประเด็นที่เถียงกันไม่เคยจบว่าคนที่ Self-Published นี่ถือว่าเป็น ‘นักเขียน’ ไหม? ก็คงเหมือนกับคำถามที่ว่าการฟัง Audio Book เท่ากับ ‘อ่าน’ หนังสือไหม? ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน? ขอถามกลับว่าแล้วคุณคิดว่า สตีเวน คิง หรือ มาร์กาเร็ต แอตวูด เป็นนักเขียนไหม? ทั้งคู่ก็มีงาน Self-Published เหมือนกัน แล้วก็ทำได้ดีมากด้วย
เรามองว่าการอ่านงาน Self-Published เขียนเอง พิมพ์เอง ก็เหมือนการเสี่ยงดวงรูปแบบหนึ่ง อ่านสักสิบเล่ม จะรักสักสอง ชอบสักหนึ่ง เกลียดสักเล่ม เฉยกับที่เหลือ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
เพราะสุดท้ายแล้วจะตีพิมพ์แบบไหน คงไม่สำคัญเท่าอ่านแล้วได้อะไรจากเล่มนั้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์