คำกล่าวที่ว่าสภาพคล่องหรือเงินสดล้นระบบดูไม่ใช่คำที่กล่าวเกินจริง เพราะปัจจุบันเงินสดในรูปของเงินฝากอยู่ในระดับที่สูงมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC: Federal Deposit Insurance Corporation) ระบุว่า ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ มีปริมาณเงินฝากในธนาคารอยู่ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 66 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับโควิดในต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น FDIC ยังระบุเพิ่มเติมว่า เฉพาะเดือนเมษายน 2564 เงินฝากในระบบเพิ่มขึ้นถึง 8.65 แสนล้านดอลลาร์
นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนหวาดระแวงกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์โรคระบาด จึงต้องการรักษาความปลอดภัยทางการเงินของตนเอาไว้ และคนส่วนมากเชื่อว่าการฝากเงินในธนาคารคือหนทางที่ปลอดภัยมากที่สุด ในขณะที่สภาวการณ์ในประเทศไทยก็ไม่ต่างกันนัก โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 มีเงินฝากทั้งระบบราว 15.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 2564 ที่อยู่ที่ 14.91 ล้านล้านบาท ส่วนต้นปี 2563 ประเทศไทยมีปริมาณเงินฝากอยู่ที่ 13.45 ล้านล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงวิกฤตโควิด นักลงทุนต้องการพักเงินไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อ Wait & See รอจังหวะที่เหมาะสมในการกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลจะรับได้
อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเงินฝากในธนาคารที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 0.5% ทำให้นักลงทุนอาจเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคาร โดยอาจจะพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ภาครัฐ หรือกองทุนตลาดเงินที่มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวัน และที่สำคัญผลตอบแทนที่ได้รับไม่เสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายอีกด้วย ประกอบกับนโยบายล่าสุดของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศปรับลดการคุ้มครองเงินฝากที่ผู้ฝากแต่ละรายมีอยู่ในสถาบันการเงินแต่ละแห่งเหลือ 1 ล้านบาท จากเดิมที่คุ้มครองอยู่ที่ 5 ล้านบาท เพื่อเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 นั่นหมายความว่ากำแพงด้านความปลอดภัยของเงินฝากถูกลดระดับลงและมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่นักลงทุนจะได้ขยายการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความปลอดภัยสูง และยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากอย่างกองทุนรวม
ก่อนที่จะลงทุนในกองทุนรวม นักลงทุนจำเป็นจะต้องรู้จักความเสี่ยงเสียก่อน โดยความเสี่ยงที่ต้องทำความรู้จักคือ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง (Risk Profile) และระดับความเสี่ยงของกองทุน (Fund Risk) อย่างแรกควรเริ่มต้นที่ตัวเองด้วยการประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง (Risk Profile) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับ โดยเรียงจากความเสี่ยงต่ำสุดไปจนถึงสูงมาก ทั้งนี้ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงมักจะสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทน นั่นหมายถึง ถ้าคุณยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับสูงโดยไม่กังวลกับความผันผวนที่เกิดขึ้นระหว่างการลงทุนเท่าใดนัก คุณก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูง แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็อาจทำให้คุณมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ลดลง
สำหรับระดับความเสี่ยงของกองทุน (Fund Risk) แบ่งเป็น 9 ประเภทตามลักษณะของสินทรัพย์ โดยเรียงความเสี่ยงจากน้อยไปหามาก ได้แก่
ระดับที่ 1: กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ เช่น เงินฝาก ตั๋วเงินคลัง และตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
ระดับที่ 2: กองทุนรวมตลาดเงินต่างในประเทศ เช่น ตราสารหนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
ระดับที่ 3: กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล เช่น พันธบัตรรัฐบาล อายุเกิน 1 ปีขึ้นไป
ระดับที่ 4: กองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชน
ระดับที่ 5: กองทุนรวมผสม เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้น
ระดับที่ 6: กองทุนรวมตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ
ระดับที่ 7: กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม เช่น หุ้นธนาคาร หุ้นพลังงาน และหุ้นสื่อสาร เป็นต้น
ระดับที่ 8: กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์
ระดับที่ 8+: กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กองทุนที่มีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) การกู้ยืม/Repo เพื่อการลงทุนและธุรกรรม และ Short Selling อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ หมายถึง การลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวในอัตราส่วนที่มากกว่าที่กำหนดไว้
เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องความปลอดภัยสูง และโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก บริษัทได้ทำการคัดสรรกองทุน 5 ทหารเสือ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการขยายการลงทุนจากเงินฝากไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ประกอบด้วย
1. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Experts (SCB Global Experts Fund: SCBGEX)
ความเสี่ยงสูง (Fund Risk ระดับ 6)
เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในตราสารทุน เช่น หน่วย CIS หน่วย ETF เป็นต้น ส่งผลให้มี Net Exposure ในตราสารทุนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้กองทุนจะลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนต่างประเทศอย่างน้อย 2 กองทุน โดยจะลงทุนในกองทุนใดกองทุนหนึ่ง เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมี Net Exposure ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีลักษณะดังกล่าวเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม กองทุนมีกลยุทธ์ด้วยการผสานการลงทุนในกองทุนหลัก (Core Fund) และกองทุนเสริม (Satellites Funds) โดยกองทุนหลักจะลงทุนผ่านกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity Fund เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดีทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
กองทุนรวมนี้บริหารจัดการการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างประเทศโดยบริษัท หลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ภายใต้สัญญาแต่งตั้งรับมอบหมายงานด้านการจัดการลงทุนเป็นไปตามที่ระบุในโครงการจัดการกองทุนโดย บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับ บลจ.ไทยพาณิชย์ และมีผู้ถือหุ้นหลัก ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกันกับ บลจ.ไทยพาณิชย์ และกองทุนรวม SCBGEX มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ Bank Julius Baer & Co. AG ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นหลัก ได้แก่ Julius Baer Group Ltd. เช่นเดียวกันกับบริษัท หลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน อาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนตํ่ากว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
2. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอ็นแฮนซท์ รีเทิร์น 1YA (SCB Enhanced Return 1YA: SCBER1YA) ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย
ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง (Fund Risk ระดับ 5)
กองทุนนี้เป็นกองคอมเพล็กซ์รีเทิร์นที่เสนอขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 1-17 กันยายน 2564 มีกลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นําเงินลงทุนประมาณ 96.5% ของทรัพย์สินกองทุนไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายให้เงินลงทุนในส่วนนี้เติบโตครอบคลุมเงินลงทุนที่ร้อยละ 97 การลงทุนส่วนนี้มีความผันผวนต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้นได้ ทั้งนี้กองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
ส่วนที่ 2 ประมาณ 3.5% ของทรัพย์สินกองทุน จะนำไปลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนตามตลาดหุ้นจีน A-Share โดยอ้างอิงกับผลตอบแทนของ CSOP FTSE China A50 ETF (2822 HK) ที่มีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนแบบ Shark Fin ซึ่งเป็นส่วนสร้างผลตอบแทนเพิ่มให้กับกองทุน โดยผลตอบแทนจากส่วนนี้จะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน โดยกำหนดกรอบการคำนวณผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเป็น 4 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1. เมื่อดัชนีอ้างอิง ณ วันพิจารณาน้อยกว่า 97% ดัชนีอ้างอิงในวันเปิดกองทุน = ผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนร้อยละ 97 กรณีที่ 2. เมื่อดัชนีอ้างอิง ณ วันพิจารณามากกว่าหรือเท่ากับ 97% แต่น้อยกว่า 100% = ผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนที่ร้อยละ 97-100 กรณีที่ 3. เมื่อดัชนีอ้างอิง ณ วันพิจารณามากกว่าหรือเท่ากับดัชนีอ้างอิงในวันเปิดกองทุน แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20% = ผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืน 100% และผลตอบแทนจากสัญญาเท่ากับ 30% ของผลตอบแทน ETF และ กรณีที่ 4. เมื่อดัชนีอ้างอิง ณ วันใดวันหนึ่งมากกว่า 20% = ผู้ลงทุนจะได้รับเงินลงทุนคืน 100% และผลตอบแทนชดเชย (Rebate) ที่ 0.25% โดยผลตอบแทนจากสัญญาที่เท่ากับ 30% ของผลตอบแทน ETF และผลตอบแทนชดเชย (Rebate) เงินลงทุนสองส่วนนี้จะมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน กองทุนยังคงมีความเสี่ยงผิดชำระหนี้ (Default Risk) ที่เกิดขึ้นจากการผิดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร/เงินฝาก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนได้ และเนื่องจากกองทุนมีอายุโครงการ 1 ปี ดังนั้นผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วงเวลา 1 ปีได้และกองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกและในหมวดอุตสาหกรรมธนาคาร ดังนั้นหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
3. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม (SCB Global Fixed Income Fund: SCBFIN)
ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง (Fund Risk ระดับ 5)
เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Nomura Global Dynamic Bond Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) I USD สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ กองทุนหลักบริหารโดย Nomura Asset Management U.K. Limited กองทุนหลักมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสรายได้และการเติบโตของเงินลงทุนผ่านการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับน้ำหนักการลงทุนตามดัชนี โดยการบริหารกองทุนจะใช้มุมมองมหภาค และการคัดเลือกวิเคราะห์หลักทรัพย์รายตัว (Bottom-up Selection) โดยพอร์ตการลงทุนจะมีการลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยในการจัดการและบริหารพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้กองทุนยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Global Bond ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564) ทั้งนี้กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
4. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ (SCB Fixed Income Fund: SCBFIXED)
ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ (Fund Risk ระดับ 4)
กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ตลาดตราสารเงิน ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาคเอกชน เงินฝาก หรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ทั้งนี้กองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับระดับที่ลงทุนได้เป็นหลักไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในส่วนที่เหลือกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยทั้ง 2 กองทุนยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Short Term Bond ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564) ทั้งนี้กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
5. กองทุนที่มีกำหนดอายุโครงการ (Term Fund)
สำหรับข้อนี้ขอแนะนำเป็นประเภทกองทุนเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถถือครองหน่วยลงทุนได้ในระยะเวลาที่กำหนดตามอายุโครงการอย่างชัดเจน และมีการคาดการณ์ผลตอบแทนได้ เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น โดยผู้ลงทุนจะลงทุนเพียงครั้งเดียวในช่วงที่เสนอขายครั้งแรก (IPO) และกองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบอายุโครงการ โดยผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการได้ ดังนั้นหากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
ทั้งนี้กองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เน้นบริหารกองทุนเพื่อให้สร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำ ดังนั้นตราสารหนี้ที่ลงทุนจึงมีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) และเงินฝาก เป็นต้น
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 0 2777 7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย
อ้างอิง: