×

จับตา 5 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ระเบิดเวลาที่อาจยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed และธนาคารกลางอื่นเร็วๆ นี้

30.06.2023
  • LOADING...
ขึ้นดอกเบี้ย

ขณะนี้ตลาดกำลังตื่นกลัวว่าภาคส่วนใดในระบบเศรษฐกิจจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปของอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วสุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเฉพาะหลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลายประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ออกมาเตือนว่า วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ยังไม่จบ!

 

สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ก่อนหน้านี้ได้เตือนว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ อาจต้องใช้เวลานานขึ้นในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและความวุ่นวายทางการเงินครั้งใหม่

 

โดยแม้ภาคธนาคารจะเริ่มกลับมามีเสถียรภาพแล้วหลังผ่านเหตุการล่มสลายของธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯ และ Credit Suisse เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในภาคส่วนอื่นๆ ยังคงมีสัญญาณไฟกะพริบเตือน โดยเฉพาะหลังจากเหตุความไม่สงบรัสเซียกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดอีกครั้ง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เปิด 5 ความเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญกดดันธนาคารกลาง

 

1. ภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย (Residential Property)

 

ขณะนี้ตลาดที่อยู่อาศัยในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ และยุโรป กำลังเผชิญกับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างมาก

 

โดยอัตราดอกเบี้ยในสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นเป็น 5% จากอัตรา 0.25% เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้ UK Finance ซึ่งเป็นสมาคมการค้าสำหรับภาคการธนาคารและบริการทางการเงินในสหราชอาณาจักร ประเมินว่าจะมีเจ้าของบ้านราว 2.4 ล้านคน ที่กำลังเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นภายในสิ้นปี 2024

 

ด้าน Richard Portes ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก London Business School กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในยูโรโซนดูเหมือนจะ ‘ถูกแช่แข็ง’ เนื่องจาก จำนวนการทำธุรกรรมและราคาอสังหาที่ลดลง

 

Portes กล่าวอีกว่า ในปี 2024 สถานการณ์ดังกล่าวอาจแย่ลงเมื่อผลกระทบทั้งหมดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผ่านมายังภาคส่วนดังกล่าวอย่างสมบูรณ์

 

2. ภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Real Estate)

 

หลังจากใช้ประโยชน์จากยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์กำลังต่อสู้กับต้นทุนการรีไฟแนนซ์ที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

Thomas Mundy หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดทุน EMEA ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ JLL กล่าวว่า “สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดคือดอกเบี้ย แต่ไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ยเท่านั้น โดยสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วย”

 

ส่วนในสวีเดน ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาหนี้สูง อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ได้รับผลกระทบ

 

โดยล่าสุดการตัดสินใจของ HSBC ที่จะย้ายสำนักงานออกจากอาคาร Canary Wharf เพื่อไปใช้สำนักงานที่เล็กลง หลังจากปักหลักอยู่ที่อาคารดังกล่าวนาน 2 ทศวรรษ ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้สำนักงานที่ลดลง นับเป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาเขย่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์

 

3. สินทรัพย์ธนาคาร (Bank Assets)

 

ขณะนี้ธนาคารหลายแห่งยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการคุมเข้มการออกสินเชื่อ โดย Florian Ielpo ผู้จัดการด้านการลงทุนของ Lombard Odier กล่าวว่า “ไม่มีที่ใดให้หลบซ่อนจากสภาวะทางการเงินตึงตัว และบรรดาธนาคารต่างรู้สึกถึงแรงกดดันของธนาคารกลางทุกแห่ง”

 

โดยสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดของธนาคารต่างๆ คืออสังหาริมทรัพย์ เห็นได้จากคำกล่าวของ Jerome Powell ประธาน Fed ที่ระบุว่า Fed กำลังติดตามธนาคารต่างๆ อย่าง ‘รอบคอบ’ เพื่อแก้ไขช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้น

 

การให้กู้ยืมสำหรับครัวเรือนทั่วไปก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน โดย Ielpo คาดว่าผู้บริโภคอาจจะเร่ิมหยุดชำระเงินกู้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งปัญหานี้จะกลายเป็นจุดอ่อนของภาคการธนาคาร

 

4. การผิดนัดชำระ (Default)

 

อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ เนื่องจากระดับหนี้ที่สูงอยู่แล้วในหลายบริษัท โดย S&P ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกคาดว่า อัตราการผิดนัดชำระสำหรับบริษัทระดับ Sub-Investment Grade ในยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในเดือนมีนาคม 2024 จาก 2.8% ในเดือนมีนาคม 2023

 

ขณะที่ Markus Allenspach หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้จาก Julius Baer กล่าวว่า มีการผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มากเท่ากับในปี 2022

 

โดยในรายงานเดือนมิถุนายน 2023 ของ Moody’s ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก (Credit Rating Agency) แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ต้นปี จำนวนของบริษัทผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลกอยู่ที่ 62 แห่ง โดยจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41 แห่ง ยุโรป 11 แห่ง ลาตินอเมริกา 7 แห่ง และอีก 2 แห่งในเอเชีย-แปซิฟิก

 

5. รัสเซียหลังการก่อความวุ่นวายของกลุ่มวากเนอร์

 

หลายฝ่ายมองว่าการก่อเหตุของกลุ่มวากเนอร์ที่แม้จะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็นับเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สั่นคลอนการปกครองของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

 

นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบทันทีต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมันดิบไปจนถึงธัญพืช ซึ่งเป็นตลาดที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในรัสเซียมากที่สุด โดยความผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลายประเทศและองค์กรธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising