ก.ล.ต. เล็งออกเกณฑ์เปิดทางให้กองทุน Thai ESG ลงทุน Investment Token ได้ หวังสนับสนุนสตาร์ทอัพและ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน คาดมีความชัดเจนไตรมาส 1-2/67 ฟาก FETCO เล็งเข้าพบคลัง เพื่อขอต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีกองทุน SSF ไปอีก 8 ปี ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ในวันนี้ (8 ธันวาคม) บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) จำนวน 16 บริษัท จะเปิดเสนอขายกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: Thai ESG) พร้อมกันจำนวน 22 กองทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน จะเป็นหนึ่งในกลไกหลักของตลาดทุนเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 เป็นแรงผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการดำเนินกิจการที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG)
รวมทั้งช่วยสร้างให้เกิดความจูงใจการออมเพื่อการเกษียณของประชาชน ซึ่งองค์กรในตลาดทุนไทยทั้งหมดต่างร่วมมือกันในการจัดตั้งกองทุน Thai ESG เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยในเฉพาะช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุน Thai ESG ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันยังมีโอกาสที่จะมีอัปไซด์และได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว อีกทั้งในปีต่อๆ ไปคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี
กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ต้องลงทุนในกองทุน Thai ESG ประกอบด้วย 5 เหตุผล ได้แก่
- เป็นกองทุนระยะยาวที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายเพื่อการเกษียณ
- เป็นการออมเพื่อรับสิทธิลดหย่อนทางภาษี
- เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต หากลงทุนวันนี้มีโอกาสผลตอบแทนที่สูงขึ้น
- เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนของประเทศไทย
- เป็นการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากออมทรัพย์
นอกจากนี้ ช่วงต้นปี 2567 FETCO เตรียมเข้าไปพบกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขอต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีของกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Savings Fund: SSF) มาหักลดหย่อนภาษีได้ในปี 2563-2567 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะขอต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีของ SSF ไปอีก 8 ปี ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุน Thai ESG ที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินด้านความยั่งยืน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับกองทุนรวมด้านความยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้ลงทุนมีโอกาสเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทย โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวผ่านกองทุนรวม เพื่อสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ในการยกระดับศักยภาพตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)
โดยสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ภาคธุรกิจ ทั้งบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน ผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าไปในการดำเนินธุรกิจและกระบวนการทำงานอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย และคาดว่าจะมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อออกเกณฑ์อนุญาตให้กองทุน Thai ESG สามารถลงทุน Investment Token ได้ เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพและ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1-2/67
ด้านกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพากรพร้อมสนับสนุนมาตรการทางภาษี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในภาคประชาชนต่อการลงทุนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืน การระดมทุนที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะเป็นกลไกผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน อันจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
ส่วนชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “นักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะบริษัทจัดการลงทุนเป็น Stakeholder ที่มีความสำคัญในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน เพราะเป็นตัวกลางช่วย Unlock Value เป็นสะพานเชื่อมต่อซัพพลายซึ่งคือบริษัทจดทะเบียน และดีมานด์คือผู้ลงทุนไทย
“สำหรับความร่วมมือในการออกกองทุน Thai ESG ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่กำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ ESG และเพื่อเป็นช่องทางการออมที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวของประชาชน
“โดยกองทุน Thai ESG จะต้องจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI) กับ ก.ล.ต. ที่เป็นหลักเกณฑ์การลงทุนอย่างยั่งยืนตามหลักสากล และมีการกำกับดูแลเข้มข้นกว่ากองทุนรวมทั่วไป
“โดยกองทุนที่จัดตั้งขึ้นจะกำหนดนโยบาย กลยุทธ์การลงทุน แนวทางการคัดเลือกหลักทรัพย์ การลงทุน การติดตามการลงทุน การทำหน้าที่ Active Engagement ตลอดไปจนถึงการเปิดเผยผลการบริหารจัดการกองทุนว่าสอดคล้องหรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนที่กองทุนนั้นๆ กำหนดไว้หรือไม่
“นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือของบริษัทจัดการลงทุนสมาชิก เพื่อร่วมกันตรวจสอบติดตามบริษัทจดทะเบียนที่อาจไม่ปฏิบัติตาม ESG โดยกำหนด AIMC ESG Policy & Collective Action และการจัดทำ Negative List เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้จัดการกองทุนใช้กลั่นกรองบริษัทจดทะเบียนเพื่อลงทุนอีกด้วย กระบวนการทั้งหมดนี้แสดงถึง Commitment ของบริษัทจัดการลงทุน/กองทุน ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าการลงทุนของตนจะมีส่วนช่วยผลักดันบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัทผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนให้มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และเป้าหมาย Net Zero และเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.ThailandESG.com”
ขณะที่ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้าน ESG อย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ตั้งแต่พัฒนาและยกระดับบริษัทจดทะเบียนไทย บูรณาการเรื่อง ESG ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์และกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยให้คำนึงถึงการเติบโตไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย สร้างต้นแบบธุรกิจที่มี ESG เพื่อเป็นแบบอย่าง มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เพื่อรวบรวมบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่โดดเด่น ซึ่งในปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนจำนวน 210 บริษัท จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 840 บริษัท
นอกจากนี้ ยังพัฒนา SET ESG Data Platform เพื่อจัดการข้อมูลด้าน ESG อย่างเป็นระบบ และจัดทำดัชนี SET ESG ให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็น Benchmark และนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งการจัดตั้งกองทุน Thai ESG ในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาธุรกิจตามหลัก ESG มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน ESG เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ลงทุนไทยที่จะได้ลงทุนอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคต อีกทั้งยังช่วยในการขยายฐานและมีผู้ให้ความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนกองทุน Thai ESG อย่างเต็มที่ ทั้งการให้ความรู้และการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ลงทุน โดยได้ร่วมจัด Mutual Fund Fair ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคมนี้ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ข้อมูล แนะนำกองทุน Thai ESG แก่ผู้สนใจอีกด้วย
ทั้งนี้ สำหรับกองทุน Thai ESG คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในช่วง 10 ปีภาษี (พ.ศ. 2566-2575) ไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งผู้ที่มีเงินได้จะได้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 แสนบาท สำหรับปีภาษี และจะต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน โดยกองทุน Thai ESG จะมีนโยบายเน้นลงทุนในประเทศในสินทรัพย์ เช่น หุ้นหรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเพื่อความยั่งยืน
เปิดรายชื่อ 22 กองทุน Thai ESG ที่เปิดขาย จาก 16 บลจ.