สาเหตุที่ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเหนือประธานาธิบดีคนก่อนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พึงพอใจของคนอเมริกันที่มีต่อการบริหารจัดการวิกฤตโควิดของทรัมป์ ไบเดนให้สัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่า เขาจะจัดการกับโรคระบาดด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และพร้อมที่จะใช้ยาแรงในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งไบเดนเองก็สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างดีในช่วง 100 วันแรกของการทำงานของเขา ทำให้พีคของการระบาดของสายพันธุ์เดลตาถูกกดลงมา จนไบเดนเองได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง ชาวอเมริกันกว่า 70% ให้การยอมรับ (Approval Rating) ว่าเขาบริหารจัดการโรคระบาดได้ดีมาก
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของเขานั้นก็ดูเหมือนจะไม่ยั่งยืน เพราะตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกากลับมาเพิ่มตัวสูงอีกครั้ง โดยในปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อใหม่จากสายพันธุ์โอมิครอนพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 600,000 รายต่อวัน ซึ่งถือเป็นยอดที่สูงสุดยิ่งกว่าช่วงใดๆ ของการระบาดของโรคที่ผ่านมา (ช่วงที่แย่ที่สุดของสายพันธุ์เดลตาคือประมาณ 250,000 รายต่อวัน) และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คะแนนนิยมของไบเดนตกลง จนล่าสุด Approval Rating ของเขาเรื่องการบริหารจัดการโรคระบาดลดลงมาเหลือแค่ 47%
เพราะเหตุใดรัฐบาลของไบเดนที่เคยจัดการกับสายพันธุ์เดลตาได้อย่างดีกลับล้มเหลวกับสายพันธุ์โอมิครอน? บทความนี้จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหา
1. โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ
โควิดสายพันธุ์โอมิครอนถูกค้นพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาเมื่อปลายปี 2021 ซึ่งหลังจากถูกค้นพบก็ได้สร้างความวิตกกังวลให้บุคลากรทางการแพทย์ทันที เพราะไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ มาก โดยในปัจจุบันด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่ ประมาณการกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาประมาณ 3-4 เท่า ซึ่งก็หมายความว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถติดต่อได้ง่ายเทียบเคียงกับไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายเป็นอันดับหนึ่งอย่างไวรัสหัด (Measles)
นอกจากนี้ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนยังมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม (Mutation) มากพอที่จะหลบหนีภูมิคุ้มกันจากไวรัสสายพันธุ์ก่อนๆ ทำให้คนที่มีภูมิจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดิมหรือจากการฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสในระดับหนึ่งที่จะติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้
2. ไบเดนใช้ไพ่ในมือของเขาไปเกือบหมดแล้ว
นอกจากที่ตัวไวรัสเองจะระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ แล้ว ไบเดนเองก็ยังมีอาวุธที่จะจัดการกับการระบาดน้อยลงกว่ารอบก่อนๆ ด้วย ซึ่งก็คือการปิดเมือง (Lock Down) และการบังคับใส่หน้ากากอนามัย (Mask Mandate) ซึ่งก็เป็นเพราะเขา (รวมถึงทรัมป์) ได้ใช้มาตรการนี้ไปกับการระบาดในรอบๆ ก่อนเรียบร้อยแล้ว ทำให้ชาวอเมริกันเกิดความเบื่อหน่าย (Fatigue) ต่อการที่พวกเขาจะต้องเสียสละแบบนี้อีก ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางของไบเดนในการใช้ยาแรงกับประชาชนในมลรัฐ (ถึงแม้ว่าการระบาดรอบนี้จะหนักหนากว่ารอบก่อนเสียอีก)
ซึ่งการต่อต้านการใช้ยาแรงในการระบาดรอบนี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่รัฐบาลท้องถิ่นที่มาจากพรรครีพับลิกันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ว่าการรัฐโคโลราโดอย่าง จาเรด โพลิส ที่เป็นคนของพรรคเดโมแครต ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะไม่ล็อกดาวน์อย่างเด็ดขาด เพราะเขามองว่าการระบาดรอบนี้เป็นการระบาดในหมู่ผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ดังนั้นการปิดห้างร้าน โรงเรียน สถานที่ทางการ จะถือเป็นการไม่ยุติธรรมต่อชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนแล้วที่จะต้องมาเสียโอกาสในการใช้ชีวิตและโอกาสในการทำธุรกิจ ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงของพวกเขานั้นต่ำ
นอกจากนั้นการใช้ยาแรงก็จะหมายถึงความเสียหายในทางเศรษฐกิจที่จะตามมาอีกรอบ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่แน่ว่าไบเดนจะมีไพ่อะไรในมือมาช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจได้อีก เพราะเขาเพิ่งอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจนี้ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีใครกล้าจะใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ
3. การบังคับฉีดวัคซีนอาจจะผิดรัฐธรรมนูญ
ทางเลือกที่ดูเหมือนจะง่ายในการจัดการกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาคือ การฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกันทุกคน เพราะผลวิจัยก็ออกมารองรับแล้วว่าการฉีดวัคซีน mRNA (ที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีอยู่ในสต๊อกอย่างเหลือเฟือ) 3 เข็ม สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีชาวอเมริกันอีกจำนวนมาก (โดยเฉพาะในหมู่อนุรักษนิยม) ที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน เพราะพวกเขามีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า วัคซีน mRNA นั้นไม่ได้รับการศึกษามามากพอและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว บางคนถึงกับเชื่อทฤษฎีสมคบคิดว่า การฉีดวัคซีนเป็นแผนการจะควบคุมประชากรโลกของผู้เป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล ที่สำคัญทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองฝ่ายขวาบางส่วน ทำให้เรื่องการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนกลายเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองไปเสีย ทำให้จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบอย่างน้อย 2 เข็มแล้วในสหรัฐฯ อยู่ที่แค่ประมาณ 60% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ
สิ่งที่ไบเดนพยายามจะทำก็คือ เขาพยายามที่จะใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนขึ้นไป ต้องบังคับฉีดวัคซีนพนักงานในบริษัททุกคน (Vaccine Mandate) หรือต้องบังคับให้มีการตรวจหาเชื้อทุกสัปดาห์สำหรับพนักงานที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน และบังคับให้บุคลากรทางแพทย์ทุกคนต้องฉีดวัคซีน ซึ่งมาตรการการบังคับฉีดวัคซีนของไบเดนนี้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างมาก เพราะพวกเขาถือว่านี่เป็นคำสั่งเผด็จการที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การฟ้องร้อง และตอนนี้คดีก็อยู่ในการพิจารณาของศาลสูงสุด (Supreme Court)
4. ความผิดพลาดในการจัดการเรื่องชุดตรวจ
ปัจจัยหนึ่งที่ไบเดนถูกโจมตีค่อนข้างมากกับการบริหารจัดการไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนคือ การที่รัฐบาลของเขาขาดการเตรียมตัวที่ดีพอในเรื่องการบริหารสต๊อกของชุดตรวจโรค (Testing Kits) เพราะไบเดนไม่ได้คาดการณ์ว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้จะทำให้มีคนติดโรคมากกว่าการระบาดในรอบที่แล้วถึง 3 เท่าตัว ซึ่งภายหลังตัวไบเดนก็ได้ออกมาประกาศยอมรับถึงความผิดพลาดในจุดนี้
ซึ่งก็แน่นอนว่าการขาดแคลนชุดตรวจโรคก็ยิ่งทำให้การควบคุมการระบาดของโรคในรอบนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมันทำให้กลไกการแยกตัวผู้ป่วยออกมาจากชุมชนนั้นไม่มีประสิทธิภาพ
5. ไบเดนกลัวเสียคะแนนนิยม
ในช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้วที่จำนวนเคสผู้ติดเชื้อได้ลดลงไปมาก ไบเดนได้ตีฆ้องร้องป่าวประกาศว่า ความสำเร็จในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อของเขานั้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างไปจากยุคของทรัมป์ โดยความสำเร็จในการจัดการกับโควิดในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คะแนนนิยมในตัวของไบเดนอยู่ในแดนบวก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดในฤดูหนาวภายหลังการเข้ามาของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนนั้นแตกต่างออกไปจากฤดูร้อนเป็นอย่างมาก แต่เหมือนว่ารัฐบาลของไบเดนไม่อยากจะยอมรับความจริงในข้อนี้ เพราะความสำเร็จในการจัดการกับโรคระบาดนี้ดูจะเป็น ‘ความสำเร็จเดียว’ ที่เป็นรูปธรรมพอที่รัฐบาลจะนำไปขายกับประชาชนชาวอเมริกันได้ ยิ่งปี 2022 นี้เป็นปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม ถ้ารัฐบาลของเขายอมรับว่าโควิดนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมไม่ได้อีกครั้ง ก็น่าจะหมายถึงความนิยมของไบเดนที่จะลดลงอย่างฮวบฮาบและความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
อย่างไรก็ตาม การที่ไบเดนไม่ยอมรับถึงความร้ายแรงของสถานการณ์และพยายามในการเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้ ก็ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนพากันไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อขณะนี้สูงมากกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่สื่อมวลชนกลับออกข่าวเรื่องนี้น้อยกว่าการระบาดในรอบแรกและในรอบสายพันธุ์เดลตา รวมถึงชาวอเมริกันที่ไม่ค่อยตื่นตระหนกและยังคงใช้ชีวิตกันตามปกติ ทั้งๆ ที่นี่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาระมัดระวังตัวมากกว่าช่วงที่ผ่านมาเสียอีก
ภาพ: Greg Nash-Pool / Getty Images