×

แบ่งจ่ายกี่งวดก็ไม่หวั่น! เปิด 5 วิธีวางแผนการเงิน เมื่อรายรับไม่ได้เข้ามาเป็นก้อนในแต่ละเดือน

14.09.2023
  • LOADING...

หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อนุมัตินโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2567 เป็นต้นไป ทำให้หลายฝ่ายเกิดความสับสนว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นผลดีหรือไม่ และกลายเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน

 

บทความนี้จะมาชี้เป้า 5 วิธีวางแผนการเงินที่สามารถใช้ได้แม้เงินเดือนจะถูกแบ่งจ่ายเป็นกี่งวดก็ตาม 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

1. วางเป้าหมายทางการเงินในอนาคต

 

ก่อนที่จะได้รับเงินเดือน เราควรกำหนดเป้าหมายทางการเงินว่าต้องการใช้เงินเพื่ออะไร เพื่อให้การใช้เงินในปัจจุบันชัดเจนและปูทางสู่เป้าหมายในอนาคต หลายคนอาจวางแผนซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำธุรกิจซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก ฉะนั้นจึงควรกำหนดเป้าหมายเงินเก็บเป็นรอบปี เช่น ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าเก็บเงินดาวน์บ้าน 500,000 บาท และใน 10 ปี จะมีเงินสำหรับการเปิดธุรกิจ 1,000,000 บาท เป็นต้น การตั้งเป้าหมายทางการเงินจะเป็นภาพใหญ่เพื่อนำไปสู่การกำหนดการออมและใช้จ่ายในปัจจุบัน

 

2. แบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจน

 

สิ่งสำคัญอย่างแรกเมื่อได้รับเงินเดือนมาแล้ว คือการแบ่งสัดส่วนว่าเงินเดือนควรจะอยู่ส่วนใด ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารเงินดียิ่งขึ้น เพราะเราสามารถรู้ว่าเงินจะถูกนำไปใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง 

 

เทคนิคที่เป็นที่นิยมคือสูตรบริหารเงิน 50-30-20 คือการแบ่งเงินเดือนที่ได้รับออกเป็น 3 ก้อน 

 

  • ก้อนแรก 50% คือ เงินสำหรับใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือนที่จำเป็น เช่น ค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ค่าเช่าคอนโดมิเนียม ค่าบัตรเครดิต เป็นต้น 
  • ก้อนสอง 30% คือ เงินสำหรับใช้อย่างฟุ่มเฟือย เช่น ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ เป็นต้น 
  • ก้อนสุดท้าย 20% คือ เงินเก็บออมที่เก็บไว้เพื่อใช้ฉุกเฉินในอนาคต 

 

ฉะนั้นไม่ว่าจะได้เงินเดือนกี่งวดต่อเดือน ก็จะสามารถใช้เงินได้อย่างเพียงพอ เมื่อมีการแบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจน หากจู่ๆ เงินเดือนถูกแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ก็แบ่งสัดส่วนเงินครึ่งหนึ่งจากเดิม 

 

3. กำหนดเงินใช้จ่ายรายวัน

 

นอกจากการแบ่งสัดส่วนเงินแล้ว การกำหนดเงินใช้จ่ายรายวันจะทำให้เราไม่ใช้จ่ายเกินตัวในแต่ละวัน เป็นการแบ่งเงินจากสัดส่วนเงินที่กำหนดเพื่อใช้ในแต่ละวันอีกทอด และถ้าหากมีเงินเหลือใช้ก็จะกลายเป็นการเพิ่มเงินออมได้อีกด้วย 

 

ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน หรือค่าเดินทางออกไป ฉะนั้นไม่ว่าเงินเดือนจะถูกจ่ายเป็นกี่งวด แต่การกำหนดเงินใช้จ่ายรายวันจะทำให้เราไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และมีเงินเหลือเผื่อออม ขณะเดียวกันก็มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือน

 

4. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

 

เพื่อความแม่นยำในการใช้จ่ายแต่ละวัน การทำบัญชีรายรับรายจ่าย แม้จะดูเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและยุ่งยาก แต่ก็ทำให้เห็นภาพว่าเราใช้จ่ายส่วนไหนเกินจำเป็น ช่วยลดปัญหาการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเก็บเงินออมได้มากขึ้น ทำให้แผนการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

การทำบัญชีรายรับรายจ่ายสามารถทำได้หลายรูปแบบ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันสำหรับการทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือถ้าต้องการทำแบบละเอียดอาจเลือกใช้โปรแกรมอย่าง Google Sheets หรือ Microsoft Excel เป็นต้น

 

5. ศึกษาการลงทุน

 

นอกจากการออมเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินแล้ว อาจนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนเพื่อ ‘ปล่อยให้เงินทำงาน’ โดยการลงทุนนั้นมีวิธีมากมายและสามารถเริ่มต้นง่ายๆ เช่น เราสามารถเลือกไปลงทุนเอง หรืออาจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแทน ซึ่งมีสินทรัพย์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่าเงินที่ลงทุนนั้นเป็นเงินเย็น กล่าวคือเมื่อหักเงินลงทุนไป เงินที่เหลืออยู่นั้นพอใช้สำหรับการใช้จ่ายในแต่ละเดือนพร้อมกับมีเงินเหลือยามฉุกเฉิน

 

ยกตัวอย่างการลงทุน เช่น นาย ก ได้เงินเดือน 20,000 บาท แบ่งเงินลงทุน 3,000 บาท โดยลงทุนในกองทุนรวม 2000 บาท และกองทุนตราสารหนี้ 1,000 บาท ในขณะที่นาย ข ได้เงินเดือน 30,000 บาท แบ่งเงินลงทุน 5,000 บาท โดยลงทุนในกองทุนรวม 2,000 บาท หุ้นสามัญ 2,000 บาท กองทุนตราสารหนี้ 500 บาท และฝากประจำ 500 บาท จะเห็นได้ว่าทุกคนสามารถแบ่งเงินลงทุนตามสินทรัพย์ที่ต้องการ และอย่าลืมประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนเสมอ

 

เงินเดือนจะถูกแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด หรือจ่ายครั้งเดียวต่อเดือนนั้นก็ไม่สำคัญ หากมีการวางแผนการเงินที่ดี เงินเดือนที่ได้แม้จะมีความถี่ต่างกันแค่ไหนแต่ก็สามารถรับรองค่าใช้จ่ายและทำให้การเงินมีสภาพคล่องที่ดีได้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือวินัยทางการเงิน หากมีการวางแผนการเงินแล้วก็ควรทำอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีเงินพร้อมใช้จ่ายและเผื่อเหลือยามฉุกเฉิน พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising