×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

วิเคราะห์ ‘5 ประเด็น’ ดันส่งออก ‘เวียดนาม’ โตแรงแซงหน้า ‘ไทย’ แบบไม่เห็นฝุ่น

29.11.2020
  • LOADING...
การส่งออกเวียดนาม แซงไทย

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ไหลเข้า ‘เวียดนาม’ เพิ่มต่อเนื่องสวนทางกับของประเทศไทย 
  • ผลสำรวจของ JETRO บ่งชี้ว่าไทยไม่ได้เนื้อหอมในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่นอีกต่อไป เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นจะเลือกประเทศที่ได้ประโยชน์จาก FTA เป็นปัจจัยแรก 
  • ‘เวียดนาม’ มี FTA กับประเทศคู่ค้ารวม 51 ประเทศ สูงกว่าของ ‘ไทย’ ที่มีเพียง 17 ประเทศเกือบ 3 เท่า 
  • ความสามารถในการแข่งขันด้านแรงงานและระบบโลจิสติกส์ภายในเวียดนามเริ่มไล่จี้ประเทศไทย

การส่งออกของ ‘เวียดนาม’ แซงหน้า ‘ไทย’ ครั้งแรกในปีที่ผ่านมา และปีนี้ก็มีท่าทีว่าจะวิ่งนำไทยไปแบบชนิดที่ไม่เห็นฝุ่น โดยเดือนล่าสุด (ตุลาคม 2563) การส่งออกของเวียดนามมีมูลค่ารวม 2.72 หมื่นล้านดอลลาร์ ‘เติบโต’ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกของไทยในเดือนเดียวกันนี้มีมูลค่ารวม 1.93 หมื่นล้านดอลลาร์ ‘หดตัว’ 6.71% 

 

หากดูตัวเลขการส่งออกช่วง 10 เดือนแรกในปี 2563 ของเวียดนาม พบว่ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.3 แสนล้านดอลลาร์ ‘เติบโต’ 4.9% ส่วนการส่งออกของไทยในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่ารวมที่ 1.92 แสนล้านดอลลาร์ ‘หดตัว’ 7.26%

 

 

 

สาเหตุที่การส่งออกของเวียดนามขยายตัวได้ค่อนข้างดีและมีมูลค่าที่ ‘นำโด่ง’ ประเทศไทยไปค่อนข้างมากน่าจะมาจาก 5 สาเหตุสำคัญ

 

FDI ไหลทะลักเข้าเวียดนามจำนวนมาก

สาเหตุแรกซึ่งถือเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดและเป็นตัวแปรที่ทำให้ ‘เศรษฐกิจ’ และ ‘การส่งออก’ ของเวียดนามขยายตัวได้อย่างรวดเร็วคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreige Direct Investment) ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ FDI จากต่างประเทศไหลเข้า ‘เวียดนาม’ จำนวนมหาศาล ทิ้งห่าง ‘ไทย’ แบบขาดลอย

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่าสัดส่วน FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามในปี 2553 อยู่ที่ 16% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ไหลเข้า 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์) ก่อนจะเพิ่มเป็น 25% ในปี 2562

 

ขณะที่ FDI ของไทยในปี 2553 มีสัดส่วนอยู่ที่ 29% ก่อนจะลดลงมาเหลือเพียง 10% ในปี 2562 โดยที่ FDI ซึ่งไหลเข้าเวียดนามเริ่มแซงประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557

 

สัดส่วน FDI ที่ไหลเข้าประเทศ ‘กลุ่มอาเซียน 5’

 

สำหรับ 5 ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย โดยตั้งแต่ปี 2553-2561 เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 8.6% 

 

ส่วน 5 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ โดยในช่วงปี 2553-2561 เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในไทย ‘หดตัว’ ลงเฉลี่ย 1.3% ต่อปี และยังมีความผันผวนสูงจากการ ‘ถอนการลงทุน’ ในบางโครงการ

 

FDI จาก 5 ประเทศที่เงินไหลเข้ามากที่สุด

 

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามได้รับ FDI เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 7.2% ของ GDP อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

ขณะที่ของไทยมี FDI เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 0.9% ของ GDP จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทย 

 

EIC ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า FDI จากเกาหลีใต้ยังคงไหลเข้าเวียดนามต่อเนื่อง ขณะที่ FDI จากญี่ปุ่นก็เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ซึ่งข้อนี้ถือเป็นประเด็นที่ไทยควรต้องกังวล เพราะญี่ปุ่นนับเป็นกลุ่มผู้ลงทุนหลักในไทย แต่ระยะหลังเริ่มขยายการลงทุนไปเวียดนามมากขึ้น 

 

โดย FDI จากญี่ปุ่นที่เคยเข้าไทยในปี 2553 มีมูลค่ารวมประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับของเวียดนามที่มีมูลค่าราว 1.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าราวๆ 4.2 เท่า 

 

แต่ถ้าดูข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 พบว่าเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นที่ไหลเข้าไทยมีมูลค่าราว 5.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเงินลงทุนที่ไหลเข้าเวียดนามมีเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นที่ไหลเข้าไทยเริ่มสูงกว่าที่ไหลเข้าเวียดนามเหลือเพียงแค่ 1.4 เท่า 

 

ข้อมูลของทาง EIC สอดคล้องกับข้อมูลของฝ่ายวิจัยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ที่ระบุว่านอกจาก FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไทยแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่กลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่นอาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทนด้วย

 

ข้อมูลนี้สะท้อนผ่านผลสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ที่บ่งชี้ว่าไทยไม่ได้เนื้อหอมในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่นอีกต่อไป เนื่องจากการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะเลือกประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีเป็นปัจจัยแรก 

 

เวียดนามมีข้อตกลง FTA มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า

สาเหตุที่สองที่ทำให้การส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทยคือสิทธิประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายๆ ประเทศที่เวียดนามมีมากกว่าไทย

 

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าจำนวนประเทศที่เวียดนามทำ FTA มีมากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า ทำให้ผู้ประกอบการเวียดนามมี ‘แต้มต่อ’ ทางการค้าเหนือไทย เพราะช่วยให้เวียดนามส่งออกไปหลายประเทศในอัตราภาษีที่ระดับใกล้ 0% มากกว่าของไทย 

 

สอดคล้องกับข้อมูลของ EIC ที่ระบุว่าเวียดนามมี FTA กับประเทศคู่ค้ารวม 51 ประเทศ ในขณะที่ไทยมีเพียง 17 ประเทศ 

 

หนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ทำให้เวียดนามยืนเหนือไทยคือข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งข้อตกลงการค้าเสรีฉบับสำคัญของเวียดนาม โดยข้อตกลงนี้ช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามผ่านการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่มีขนาดใหญ่ได้ 

 

ข้อตกลง EVFTA ช่วยให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปในปี 2562 เติบโตขึ้นถึง 38.6% และทำให้สัดส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (EU27) เพิ่มขึ้นเป็น 33.3% จากเดิมเคยอยู่ที่ 23.7% ในปี 2558 สวนทางกับของไทยที่สัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่ม EU27 ลดลงเหลือเพียง 13.1% จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 16.3% ในปี 2558

 

สัดส่วนการส่งออกของ ‘ไทย’ และ ‘เวียดนาม’ ไปที่ยุโรป 27 ประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐของไทยได้เริ่มรื้อฟื้นการเจรจา FTA กับทางสหภาพยุโรปอีกครั้ง หลังจากได้หยุดชะงักไปในปี 2557 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล 

 

นอกจาก EVFTA แล้ว ทาง KKP Research มีความเห็นว่าการที่เวียดนามเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งคิดเป็นขนาดเศรษฐกิจราว 13% ของ GDP โลก ในขณะที่ไทยยังไม่มีความตกลงทางการค้ากับทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ความน่าสนใจที่มีต่อเวียดนามมีมากกว่าไทย

 

เวียดนามมีพัฒนาการด้านความหลากหลายของสินค้า

สาเหตุที่สาม โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามมีการพัฒนาด้านความหลากหลายของสินค้าและความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าส่งออกหลัก 

 

EIC ระบุว่าความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนามเริ่มตามไทยทันแล้ว เห็นได้จากอันดับดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ (Economic Complexity Index: ECI) ที่ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกของเวียดนามที่ขยายตัวดีในกลุ่มสินค้าหลัก 

 

โดยระหว่างปี 2553-2562 การส่งออกสินค้าหลัก 10 อันดับแรกของเวียดนามส่วนใหญ่ขยายตัวเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 10% ขณะที่การส่งออกสินค้าหลัก 10 อันดับของไทยทั้งหมดขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 10% 

 

นอกจากนี้การส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ใหญ่สุดของเวียดนามคิดเป็น 42% ของการส่งออกรวมยังเติบโตได้ดีและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ต่างจากไทยที่การส่งออกเครื่องจักรที่เป็นหมวดสินค้าหลักสัดส่วน 16% ของการส่งออกรวมเริ่มขยายตัวชะลอลงและได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มน้อยลง 

 

โดยภาพรวมตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับไทยแล้ว เวียดนามถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าส่งออกและการผลักดันสินค้าเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก

 

ที่สำคัญ การส่งออกของเวียดนามที่ขยายตัวได้ดียังมาจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

 

ความสามารถทางการแข่งขันด้านแรงงานของเวียดนามดีขึ้นมาก

สาเหตุที่สี่คือความสามารถการแข่งขันด้านแรงงานของเวียดนาม ซึ่งหากเทียบต้นทุนค่าแรงต่อหน่วย (ULC) เริ่มลดลง จึงเป็นอีกปัจจัยในการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกในประเทศเวียดนาม

 

EIC ระบุว่าต้นทุนค่าแรงต่อหน่วยของเวียดนามอยู่ระดับสูงกว่าไทยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ช่องว่างระหว่าง ULC ของเวียดนามและไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้าตามการลดลงของกำลังแรงงานในไทย เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

 

ขณะที่ KKP Research ประเมินว่าไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นจากภาวะประชากรวัยทำงานที่หดตัว และยังสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้นให้กับประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยสูงเป็น ‘2 เท่า’ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนาม 

 

ระบบโลจิสติกส์ของเวียดนามดีขึ้น

สาเหตุสุดท้าย ระบบโลจิสติกส์ภายในของเวียดนามเริ่มพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง โดย EIC ระบุว่ารัฐบาลเวียดนามได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน 

 

จากรายงานดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ปี 2561 โดยธนาคารโลก เปิดเผยว่าเวียดนามได้อันดับที่ 39 จาก 160 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากอันดับ 64 ในปี 2559 ขณะที่ไทยได้อันดับ 32 ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 45 ในปี 2559 

 

ข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าช่องว่าระหว่างอันดับของไทยและเวียดนามเข้าใกล้กันมากขึ้น แม้ทั้งสองประเทศต่างมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งคาดว่าช่องว่างระหว่างอันดับของไทยและเวียดนามจะยิ่งลดลงหลังจากที่เวียดนามได้รื้อฟื้นโครงการก่อสร้างทางรถไฟพิเศษระหว่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ซึ่งจะส่งผลให้การขนส่งภายในเวียดนามและการขนส่งระหว่างจีน-เวียดนามรวดเร็วมากขึ้น มีต้นทุนลดลง 

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าเวียดนามมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่ดีขึ้นมากจนกลายเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมหาศาล ส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามขยายตัวดี หนุนให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตได้ แม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เหมือนกับประเทศอื่นๆ ก็ตาม

 

บทเรียนที่ได้จากเวียดนามทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงการเจรจาข้อตกลงการค้า โดยเฉพาะที่เป็นแบบพหุภาคี ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

 

หากเรายังละเลยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในอนาคตอาจไม่ใช่เพียงแค่ ‘การส่งออก’ และ ‘การลงทุนจาก FDI’ ของเวียดนามเท่านั้นที่แซงหน้าไทย …คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าให้เร็วกว่าปัจจุบัน สมัยเด็กเราคงเคยได้ยินนิทานเรื่อง ‘กระต่ายกับเต่า’ เชื่อว่านิทานเรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้อย่างดี

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising