ระหว่างแถลงนโยบายและผลงานประจำปี (State of the Union) ครั้งที่ 2 ต่อสมาชิกสภาคองเกรส ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงผลงานความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบหลายปี และการเติบโตของการจ้างงานที่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ไบเดนยังแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการปรับรูปแบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘จากล่างขึ้นบน’ ไม่ใช่ ‘จากบนลงล่าง’ ผ่านการเน้นย้ำถึงประเด็นทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าเก็บภาษีมหาเศรษฐี ไปจนถึงการต่อต้านการผูกขาด
1. เดินหน้าเก็บภาษีมหาเศรษฐีต่อ
ไบเดนได้เรียกร้องให้มีการเก็บภาษีจากมหาเศรษฐีและการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเอกชนต่างๆ อีกครั้ง เพื่อลดการขาดดุลของรัฐบาลกลาง
โดยกล่าวว่า “ระบบภาษีที่ไม่ยุติธรรม คือความไม่ยุติธรรม” พร้อมทั้งชี้ว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา 55 แห่ง ซึ่งอยู่ใน Fortune 500 ทำกำไรได้ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่จ่ายภาษีให้รัฐบาลกลาง 0 ดอลลาร์ คือสิ่งที่ไม่ยุติธรรม
แนวคิดดังกล่าวได้รับความนิยมจากสมาชิกสภาคองเกรสหัวก้าวหน้าอย่าง เอลิซาเบธ วอร์เรน และ เบอร์นี แซนเดอร์ส ในการหาเสียงเมื่อปี 2022 โดยไบเดนยังเคยสาบานว่าจะไม่ขึ้นภาษีชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปีด้วย
เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ไบเดนได้เสนอให้เก็บภาษีมหาเศรษฐีในอัตรา 20% ระหว่างการแถลงงบประมาณของรัฐบาลกลาง โดยในงาน State of the Union ครั้งนี้ ไบเดนจึงเรียกร้องให้สภาคองเกรส ‘ทำงานให้เสร็จ’
2. รณรงค์ให้ยกเลิก ‘ค่าธรรมเนียม’ ที่ไม่เป็นธรรม
ไบเดนยังรณรงค์ให้ธนาคาร สายการบิน บริษัทเคเบิล และอุตสาหกรรมอื่นๆ ยกเลิกค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นธรรม ที่เขาเรียกว่า ‘Junk Fees’
โดยกล่าวว่า “Junk Fees อาจไม่สำคัญสำหรับคนร่ำรวย แต่กลับมีความสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ โดย Junk Fees พวกนี้อาจสูงถึงหลายร้อยดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้หลายคนต้องจ่ายบิลมากขึ้น”
ไบเดนยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมาย Junk Fee Prevention Act ซึ่งจะกำหนดข้อจำกัดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมที่มากเกินไปสำหรับตั๋วการเดินทางและบัตรงานอีเวนต์ต่างๆ
3. ประกาศต่อต้านการผูกขาด
“ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่ใช่ทุนนิยม แต่เป็นการขู่กรรโชก” คำกล่าวนี้สะท้อนว่าฝ่ายบริหารของไบเดนยังมุ่งมั่นในการจัดการกับปัญหาการผูกขาด หลังจากเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไบเดนได้ออกคำสั่งผู้บริหารอนุญาตให้ขายเครื่องช่วยฟังในร้านขายยาได้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกลง
“ทำงานให้เสร็จกันเถอะ ผ่านกฎหมายเพื่อเสริมสร้างการต่อต้านการผูกขาด เพื่อป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่สร้างข้อได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง” ไบเดนกล่าว
4. ให้ความสำคัญกับแรงงานและค่าจ้าง
ไบเดนยังกล่าวถึงโครงการริเริ่มมากมายที่ให้ความสำคัญกับแรงงานเป็นอันดับแรก รวมถึงข้อเรียกร้องที่ให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการจัดระเบียบ (The Protecting the Right to Organize Act) เพื่อคืนสิทธิให้พนักงานสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพได้โดยไม่มีการกีดกันหรือตอบโต้
พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนงานมีวันลาป่วยและการลาเพื่อครอบครัวโดยได้รับค่าจ้าง และเข้าถึงศูนย์เลี้ยงดูแลลูกในราคาย่อมเยา
5. ขยายมาตรการจำกัดราคาอินซูลินออกไป
ไบเดนเรียกร้องให้มีการขยายมาตรการจำกัดราคาอินซูลินไว้ที่ 35 ดอลลาร์ แก่ผู้ประกันตนชาวอเมริกันที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ใน Inflation Reduction Act for Medicare ไปแล้ว
“คนอเมริกัน 1 ใน 10 คนเป็นโรคเบาหวาน หลายคนในห้องนี้ก็เป็นเช่นกัน รวมถึงในหมู่ผู้ชม และทุกๆ วันคนนับล้านต้องการอินซูลินเพื่อควบคุมเบาหวาน เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง” ไบเดนกล่าว พร้อมตำหนิบริษัทยาที่ขึ้นราคาอินซูลินจนสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โจ ไบเดน เพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย จ่อขึ้นภาษี 200% สำหรับอะลูมิเนียมทุกประเภทที่ผลิตในรัสเซีย
- โจ ไบเดน ยกตัวเลขจ้างงานเดือน ม.ค. ที่แตะ 5.17 แสนตำแหน่ง เป็น ‘ผลงานชิ้นเอก’ ของรัฐบาล
- รัฐบาล โจ ไบเดน ทุ่มเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มผลผลิตแร่ธาตุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ EV
อ้างอิง: