รายงายฉบับพิเศษที่รวบรวมความคิดเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐกิจที่มีต่อทิศทางเศรษฐกิจปี 2023 ซึ่งสรุปได้ 5 มุมมองที่น่าจับตามอง ตั้งแต่ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไปจนถึงการล้มละลายของภาคธุรกิจที่น่าจะมีจำนวนมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด
สำนักข่าว Al Jazeera เปิดเผยรายงานพิเศษที่รวบรวมความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐกิจ เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังจากตลอดปี 2022 เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับ Perfect Storm หลายลูกพร้อมๆ กัน ไล่เรียงตั้งแต่ผลกระทบจากโควิด, สงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน, ภาวะเงินเฟ้อทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี, การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน, ภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม และปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ทั้งนี้ หลังจากผ่านปีที่วุ่นวายมาได้อย่างสะบักสะบอม เศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าสู่ปี 2023 ท่ามกลางกระแสน้ำที่ยังคงผันผวน ซึ่งนานาประเทศยังคงต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบอย่างมากในการนำพาเศรษฐกิจฝ่ากระแสน้ำเหล่านี้ แม้จะมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเติบโตในปี 2023 อย่างการที่จีนประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มกราคมนี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม
สำหรับ 5 กระแสเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตามองในปีหน้า มีดังนี้
1. ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย
บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะลดลงทั่วโลกในปี 2023 แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงแล้วก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะแตะระดับ 6.5% ในปีหน้า ลดลงจาก 8.8% ในปี 2022 ส่วนเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะผ่อนคลายได้น้อย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเล็กน้อยและอยู่ที่ 8.1% ในปีหน้า
Alexander Tziamalis อาจารย์เศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัย Sheffield Hallam กล่าวว่า “มีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าเป้า 2% ที่ธนาคารกลางชาติตะวันตกส่วนใหญ่กำหนดไว้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน และมองว่าพลังงานและวัตถุดิบจะยังคงมีราคาแพงอยู่ระยะหนึ่ง การพลิกกลับเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ชั่วคราวอาจหมายถึงการนำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น ขณะที่การขาดแคลนแรงงานในประเทศตะวันตกจำนวนมากนำไปสู่การผลิตที่แพงขึ้น และมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมรักษ์โลกเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ของมนุษยชาติอย่างภาวะโลกร้อนที่กำลังเผชิญอยู่ ล้วนทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าที่เคยเผชิญกับภาะเงินเฟ้อในช่วงปี 2010”
2. การเติบโตและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า ท่ามกลางมุมมองด้านตัวเลขเงินเฟ้อที่อาจจะลดระดับลงเล็กน้อยในปี 2023 แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศที่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง 2.7% ในปี 2023 ลดลงจาก 3.2% ในปี 2022 โดยทางองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีการเติบโตที่ 2.2% เทียบกับ 3.1% ในการคาดการณ์ก่อนหน้า
Zanny Minton Beddoes หัวหน้าบรรณาธิการของ The Economist ได้แสดงความเห็นในคอลัมน์ฉบับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บรรยายภาพไว้อย่างน่าหวาดหวั่น ซึ่งสามารถสรุปได้จากชื่อบทความที่ชัดเจน: ‘เหตุใดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2023’
ในมุมมองของ Beddoes แม้ว่าในทางเทคนิคแล้วเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหมายถึงการเติบโตติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน กระนั้น Beddoes เพิ่งเตือนว่าปี 2023 อาจยังคงรู้สึกเหมือนปี 2022 สำหรับหลายๆ คน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมเติบโตช้าลง ราคาสินค้าที่สูง และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม Pierre-Olivier Gourinchas ระบุว่า สามประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน จะเผชิญกับเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และสำหรับปี 2023 มีแนวโน้มจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วย
3. จีนเปิดประเทศ
การที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกอย่างจีนกลับมาเปิดพรมแดนประเทศอีกครั้ง ทำให้สามารถเดินทางเข้า-ออกได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น หลังต้องล็อกดาวน์ประเทศเกือบ 3 ปี จะสร้างแรงผลักดันใหม่ให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยอุปสงค์ของผู้บริโภคชาวจีนที่ฟื้นตัวจะช่วยกระตุ้นผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ ในขณะที่การยุติข้อจำกัดด้านการเดินทางจะช่วยผ่อนปรนให้กับแบรนด์ระดับโลกตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Tesla ที่ประสบปัญหาการหยุดชะงักซ้ำแล้วซ้ำเล่าภายใต้นโยบาย Zero-COVID
ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลันเช่นนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญขึ้นเช่นกัน โดยแม้ว่าจีนจะหยุดเผยแพร่สถิติผู้ติดโควิด แต่โรงพยาบาลทั่วประเทศจีนก็เต็มไปด้วยผู้ป่วย ขณะที่ห้องเก็บศพและฌาปนสถานมีรายงานว่ามีศพจำนวนมาก
ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์บางคนคาดการณ์ว่าจีนอาจพบผู้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่และอันตรายมากขึ้น ด้วยไวรัสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชากรจำนวนมหาศาลของจีน
Alicia García-Herrero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Natixis มองว่าตลาดมีโอกาสเคลื่อนตัวไปในทางบวกมากกว่า เพราะอย่างน้อยทุกคนก็ได้มองเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้นตลาดทั่วโลกขณะนี้น่าจะกำลังจับตาดูการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาดูก็คือการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ และความอันตรายของโควิดที่กลายพันธุ์ โดย Herrero คิดว่าหากมีการกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ที่อันตรายกว่าหลังจากการปิดพรมแดนอีกครั้ง ก็จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน
4. การล้มละลาย
แม้ว่าจะเริ่มเห็นความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดไปบ้างแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีความเสียหายที่ซ่อนอยู่อีกมาก โดยจำนวนบริษัทที่ล้มละลายเริ่มขยับลดลงในหลายประเทศในปี 2020 และ 2021 เนื่องจากการผสมผสานระหว่างการจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบและการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากรัฐบาล
ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ ธุรกิจ 16,140 แห่งยื่นฟ้องล้มละลายในปี 2021 โดยลดลงจาก 22,391 แห่งในปี 2020 และเทียบกับ 22,910 แห่งในปี 2019
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปี 2023 คาดว่าจะพลิกกลับในทางตรงกันข้าม ท่ามกลางราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ Allianz Trade ประเมินว่าการล้มละลายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในปี 2022 และ 19% ในปี 2023 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิดระบาด
ขณะที่ Tziamalis มองว่าการระบาดใหญ่ของโควิดทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องกู้ยืมเงินอย่างมหาศาล ซึ่งสถานการณ์จะแย่ลงอีก เพราะภาคธุรกิจกำลังหวังพึ่งพาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำท่ามกลางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และจะส่งผลให้ประเทศตะวันตกสูญเสียความสามารถการแข่งขันท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์
นักวิเคราะห์มองว่าความอยู่รอดของธุรกิจที่มีหนี้สินสูงถูกตั้งคำถาม เพราะต้องเผชิญกับมรสุมของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่สูงขึ้น วัตถุดิบที่แพงขึ้น และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่น้อยลง ขณะที่ความช่วยเหลือโดยตรงใดๆ ต่อภาคเอกชนนั้นถูกจำกัดด้วยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น และการให้ความสำคัญของการสนับสนุนครัวเรือนก่อน
5. กระแสโลกาภิวัตน์สั่นคลอน
ตลอดปี 2022 มีความพยายามที่จะกลับเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าความพยายามนี้จะถูกสานต่อในปี 2023
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การบังคับใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ยังคงมีความร้อนแรง และดูท่าว่าจะทวีความดุเดือดมากขึ้นภายใต้การบริหารงานของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน
โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไบเดนได้ลงนามในกฎหมาย CHIPS และ Science Act เพื่อปิดกั้นการส่งออกชิปขั้นสูงและอุปกรณ์การผลิตไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มุ่งเป้าไปที่การยับยั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน และส่งเสริมความพอเพียงในการผลิตชิป
เนื้อหาของกฎหมายเป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดของแนวโน้มที่ปรับเปลี่ยนจากการลดการค้าเสรีไปสู่การปกป้องและการพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงของชาติ
โดยในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อต้นเดือนนี้ Morris Chang ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่าโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีนั้น “กำลังใกล้ตาย”
ด้าน Tziamalis กล่าวว่า ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังถูกคุกคามมากขึ้นจากวิถีทางเศรษฐกิจของจีน ดังนั้นจึงหาทางตอบโต้ด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการทหารต่อมหาอำนาจที่ผงาดขึ้นมาใหม่รายนี้ ซึ่งโดยส่วนตัว Tziamalis มองว่าสงครามที่เกิดขึ้นกับไต้หวันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่การนำเข้าที่มีราคาแพงกว่า และการเติบโตที่ช้าลงสำหรับทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในสงครามการค้านี้ใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว
อ้างอิง: