ปัจจุบันกลุ่มงาน ‘เทคจ็อบส์’ (TechJobs) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ/องค์กรดิจิทัลเป็นอย่างมาก และยังเป็นที่ยอมรับในสายงานไอทีและคอมพิวเตอร์ทั่วโลก เพราะจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นผลให้ทุกองค์กรทั้งระดับประเทศและสากลต่างปรับตัวสู่การเป็น ‘องค์กรดิจิทัล’
จากข้อมูลการคาดการณ์มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 8 แสนล้านบาท (อ้างอิง: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพสูงในด้านดิจิทัลจำนวนมาก
ขณะที่รายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทย ปี 2564 โดย บริษัท จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ยังระบุถึงฐานเงินเดือนของสายงานไอที ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ หัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหาร เริ่มต้นที่ 23,000-105,000 บาท สิ่งที่น่าสนใจคือฐานเงินเดือนในต่างประเทศพบสูงถึง 90,750-133,750 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 2,992,708.13-4,412,412.50 บาท
เทรนด์ดังกล่าวทำให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดตั้ง 42 บางกอก (42 Bangkok) สถาบันโปรแกรมเมอร์ขึ้น ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสและแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทย ผ่านการพัฒนาศักยภาพโปรแกรมเมอร์ ร่วมขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย (Digital Industry) ที่นับได้ว่ามีรูปแบบการเรียนการสอนยุคใหม่ปี 2022 และพร้อมเปิดรับผู้เรียนที่สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศแบบออนไซต์ครั้งแรก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยันต์ เจตนาเสน Director of 42 Bangkok กล่าวว่า รูปแบบการเรียนที่ถอดแบบมาจากสถาบันต้นกำเนิด Ecole 42 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในลักษณะ ‘ไม่มีค่าเทอม ไม่มีครู ไม่มีปริญญา’ ซึ่งได้รับความสนใจจากโปรแกรมเมอร์ทั่วโลกยื่นสมัครเรียนมากกว่าหนึ่งแสนคนต่อปี นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถเลือกช่วงเวลาหรือสถานที่เรียนที่เปิดสอนทั่วโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพียงล็อกอินเข้าระบบผ่าน iMac
ตัวหลักสูตรนั้นเน้นทักษะในสองด้านสำคัญคือ 1. Hard Skill ทักษะทางวิชาชีพที่จำเป็นต่อการทำงาน อาทิ เรียนรู้พื้นฐานของอัลกอริทึมและเอไอ จัดการฐานข้อมูล ฝึกเขียนโปรแกรมระบบด้วยภาษาต่างๆ ทั้งภาษาโกหรือโกแลง ภาษาไพทอน ภาษารูบี ฯลฯ เรียนรู้การประมวลผลข้อมูลแบบขนาน ฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการ ตลอดจนเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
และ 2. Soft Skill ทักษะทางสังคม อาทิ การพูดและการเขียนเพื่อการสื่อสาร การจัดการ การตระหนักรู้/เข้าใจตนเอง การทำงานเป็นทีม/การสื่อสารระหว่างบุคคล (และการประยุกต์ใช้/ความคิดสร้างสรรค์
โดยทักษะที่ผู้เรียนจะได้รับติดตัวไปในข้างต้นนั้น สามารถต่อยอดในเส้นทางอาชีพได้ถึง 10 สายงาน ได้แก่ เอไอ, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, โมบายล์แอปพลิเคชัน, เกม, เน็ตเวิร์กและคลาวด์, คริปโตกราฟี (Cryptography), การเข้าและถอดรหัสข้อมูลที่ปลอดภัยขั้นสูง, คอมพิวเตอร์กราฟิก, เว็บไซต์, การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคขั้นสูงหรือวิทยาการข้อมูล และบริหารจัดการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร