วันนี้ (9 กันยายน) ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่าปัจจุบันแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 มีความคืบหน้าในแต่ละโครงการ โดยแบ่งเป็น
- แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท มีวงเงินอนุมัติแล้ว 101.8 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 0 บาท
- แผนงานเพื่อเยียวยาชดเชยให้ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท มีการอนุมัติแล้ว 344,735 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 297,369 ล้านบาท
- แผนงานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท มีการอนุมัติแล้ว 43,082 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 131 ล้านบาท
ทั้งนี้ในแผนงานที่ 3 ซึ่งมีวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ทางสภาพัฒน์ขออนุมัติแพ็กเกจเฟสแรกแล้ว 92,000 ล้านบาท แม้ว่าจะมีการอนุมัติแล้ว 45,000 ล้านบาท แต่ในช่วงบ่ายวันนี้ (9 กันยายน) จะมีการพิจารณาแพ็กเกจการช่วยเหลือเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นวงเงินกู้ที่อนุมัติแล้วกว่า 45,000 ล้านบาทคาดว่าจะเพิ่มการจ้างงานราว 1 แสนตำแหน่ง
ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ (จะขึ้นรับตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563) กล่าวว่าช่วงบ่ายวันนี้จะมีการพิจารณาโครงการในวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพิ่มเติม เช่น
- โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่จะส่งนักศึกษาจบใหม่ลงพื้นที่ 3,000 ตำบล (ตำบลละ 20 คน)
- โครงการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อปรับเทคโนโลยีการผลิต เช่น การดูแลเรื่องเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรงในภาคการเกษตร เบื้องต้นมีการคัดกรองกลุ่มที่มีศักยภาพแล้ว
- โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในแต่ละชุมชน เช่น การท่องเที่ยวในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยโครงการที่พิจารณาเพื่ออนุมัติเพิ่มเติมช่วงบ่ายนี้คาดว่าจะคิดเป็นวงเงินราว 20,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแพ็กเกจเฟสแรก 92,000 ล้านบาทอยู่แล้ว
ทั้งนี้เม็ดเงินจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาทมีการเบิกจ่ายเพียงส่วนการท่องเที่ยวและ SHA แต่จะเริ่มเบิกจ่ายเม็ดเงินหลัก เช่น กระตุ้นการจ้างงาน ฯลฯ ในเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
ทศพรกล่าวว่าหลังจากนี้สภาพัฒน์จะกลั่นกรองโครงการช่วยเหลือเฟส 2 ผ่านการร่วมหารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่น โครงการการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ผ่านการ Co-pay (รัฐอุดหนุนค่าจ้างครึ่งหนึ่ง) ที่คาดว่าจะมีการจ้างงาน 2.6 แสนคน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงแรงงานทำโครงการเพื่อส่งมาให้สภาพัฒน์พิจารณา และจะส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ขณะเดียวกันยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ยังมีแต่หลักการในโครงการออกมาเท่านั้น ต้องรอกระทรวงการคลังทำรายละเอียดเพื่อเจาะให้ถึงกลุ่มระดับล่าง เช่น ตลาดสด แผงลอย ฯลฯ
ด้านมาตรการการท่องเที่ยวเตรียมปรับรูปแบบใหม่ เช่น การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในลักษณะ Special Visa ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศต้องรอดูข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น ควรเพิ่มวันหยุดยาวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือไม่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์