×

4 ปี คสช. สัญญาอะไรไว้บ้าง หลังประกาศขอเวลาไม่นานเข้ามาแก้ปัญหา

21.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. นับเนื่องจนถึงเวลานี้ก็เข้าปีที่ 4 พอดี มีสัญญาหลายข้อที่ คสช. สัญญาไว้ ว่าจะใช้เวลาไม่นานในการเข้ามาแก้ไข
  • แต่ 4 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าหลายเรื่องจะไม่คืบหน้า และหลายอย่างที่ คสช.ชิงชัง กลับปรากฏขึ้นในรัฐบาลนี้ ทั้งการประกาศเป็นนักการเมือง ดูดกลุ่มก้อนต่างๆ แม้แต่ความท้าทายในการปราบโกงที่ดูจะไม่เด็ดขาด จึงมีคำถามว่า 4 ปีนี้พอแล้วหรือยัง ที่จะส่งมอบหน้าที่ให้คนอื่นที่เสนอตัวมานำพาบ้านเมืองบ้าง

“ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า” คือหนึ่งในสัจธรรมของโลกนี้ ดังนั้นจึงไม่มีทางที่ใครจะสามารถครองอำนาจไว้ตลอดกาลได้ ด้วยอนิจลักษณะของความเป็นไปเช่นนี้ มีให้เห็นเป็นข้อพิสูจน์มานักต่อนักแล้ว

 

นับเนื่องถึงเวลานี้ เป็นปีที่ 4 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความคาดหวังของมวลชนกลุ่มหนึ่งว่า จะเข้ามายุติความขัดแย้ง ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ประชาชนน่าจะตอบได้ด้วยตนเองว่า ‘ความขัดแย้ง’ ได้สลายลดน้อยลงหรือไม่

 

ในอีกด้านหนึ่ง 4 ปี ของ คสช. กลับทำให้มวลชนส่วนหนึ่งมองว่า คสช. บริหารประเทศดำเนินนโยบายไม่ต่างจากรัฐบาลที่ถูกเป่านกหวีดขับไล่ ลดแลกแจกแถม จนไม่เหลือวินัยการคลัง แถมยังเดินเกมจูบปากนักการเมือง ตีกอล์ฟ แจกงบประมาณซื้อใจ ไม่ต่างกับนักการเมือง

 

ขณะที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพ ผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ยังคงมีอยู่ และโดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือในการออกคำสั่งต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นภาวะของ ‘อำนาจ’ ที่ไม่ได้เจือจางหรือลดน้อยลง

 

 

เราจะทำตามสัญญา

นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ คสช. เข้ามาควบคุมอำนาจ พร้อมสัญญาว่าจะนำความปรองดองกลับมา แต่เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ คสช. ทำได้เพียงแค่ให้กำเนิด ‘สัญญาประชาคมปรองดอง’ ที่บอกว่า ‘คนไทยทุกคนพึงร่วมกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง’ พร้อมกับมาสคอต ‘น้องเกี่ยวก้อย’ ที่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็กลายร่างเป็น ‘น้องเกี่ยวก้อยโฉมใหม่’ แต่ปฏิบัติการสร้างความปรองดองตลอด 4 ปีที่ผ่านมาดูจะสูญเปล่า เพราะคำตอบที่ได้จากคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ คสช. ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความปรองดอง กลับเป็นเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ควรเร่งแก้ไขมากกว่า

 

ดังนั้นการปฏิรูปปรองดองในระยะต่อจากนี้ จึงกลายเป็นเรื่องการ ‘แก้ความเหลื่อมล้ำ’ ซึ่งที่จริงแล้วสามารถดำเนินการได้ทันทีตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เข้ามาด้วยซ้ำไป จึงนับว่าเป็น 4 ปีที่ยังต้องพยายาม แต่บางคนให้คะแนนสอบตก สำหรับความหวังของการสร้างความปรองดอง

 

 

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปถึงไหน

ในปีแรก เมื่อ คสช. แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตัวเองเป็นผู้ตั้งขึ้นมา ได้ระบุนโยบายยกเลิกการยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานะการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

 

ต่อเนื่องมาปี 2558 รัฐบาลก็ได้ลงนามขานรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แต่ตราบจนถึงวันนี้ การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายใต้ ‘ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า’ ก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่แว่วว่าจะประกาศใช้ได้ตั้งแต่ปี 60 แต่ล่าสุดปลายปี 60 ก็แว่วมาอีกว่าจะใช้ปี 62 คงต้องตามดูกันว่า จะได้เลือกตั้งก่อนหรือจะมีกฎหมายภาษีที่ดินออกมาก่อน  ส่วนกฎหมายภาษีมรดกก็มีข้อยกเว้นมากมาย ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่แถลงต่อ สนช.

 

ขณะที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลก ทั้งๆ ที่ คสช. มีสภา ซึ่งทหารครองสัดส่วนเกินกว่า 58% คอยทำงานปั๊มกฎหมายได้รวดเร็ว จำนวนกว่า 300 ฉบับ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

 

 

หมดเวลา คสช.?

ในห้วงเวลาหนึ่ง สังคมไทยเราเคยเกลียดผู้แทนเสียงข้างมากฝ่ายหนึ่ง โดยใช้วาทกรรมว่า ‘เผด็จการรัฐสภา’ ที่รัฐบาลใช้พลังดูด พลังการควบรวมพรรค จนรวมเสียง ส.ส. สนับสนุนรัฐบาลไว้มาก ถึงขนาดฝ่ายค้านไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ เนื่องจากฝ่ายค้านไม่มีจำนวนผู้แทนมากพอ ครั้งนั้นเราเรียกร้องให้หาทางออกอื่นเพื่อมาเปลี่ยนรัฐบาล แต่แล้วก็จบลงโดยการรัฐประหาร

 

แต่ 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลจากการรัฐประหารกลับทำเช่นเดียวกัน โดยสภานิติบัญญัติเป็นสภาแต่งตั้ง ที่ทำหน้าที่ประหนึ่งเสียงข้างมากของรัฐ จนกระบวนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาถูกมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรม

 

ยินดีอย่างยิ่งหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อเป็นการติดตามนโยบายนี้อีกทางหนึ่งด้วยนี่คือคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557

 

แม้จะไม่มีกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จากผลสำรวจต่างๆ ก็พบว่า ประชาชนเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น ผลสำรวจจากนิด้าโพล ต้นปี 2561 นี้ ในหัวข้อ ‘ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช. ของ ป.ป.ช.’ พบว่า ในเรื่องเกี่ยวกับ ‘ความโปร่งใส’ ของรัฐบาล โดย คสช. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.32 ระบุว่า ไม่โปร่งใส มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

 

ขณะที่ประเด็นการปราบโกง และการสร้างความโปร่งใสก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ คสช. สัญญาหลายต่อหลังครั้ง ตั้งแต่การปาฐกถาครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันต่อต้านคอร์รัปชัน ปี 2557 พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “รัฐบาลและ คสช. ให้ความสำคัญและกำหนดให้การแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในทุกหัวข้อการปฏิรูป ถือเป็นวาระแห่งชาติ เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ”

 

ต่อมาปี 2558 ก็ให้สัญญาในปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 3 ว่า “รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน และได้ดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร”

 

แต่จนถึงวันนี้ กฎหมายข้อมูลข่าวสารก็ชะตากรรมเดียวกับกฎหมายภาษีที่ดิน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่คลอด

 

สำหรับปี 2559 ปาฐกถาเนื่องในงาน ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559’ ก็กล่าวว่า “รัฐบาลจะปรับปรุงกฎหมาย กระบวนการตามกฎหมายต้องเข้มแข็ง ปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด”

 

แต่เราก็คงเห็นได้ว่า คดีเสือดำ ‘เคร่งครัด’ ขนาดไหน เช่นเดียวกับ แหวนบิดานาฬิกาเพื่อน อุทยานราชภักดิ์ ทริปฮาวาย และอีกมากมาย หรืออย่างการประชุมของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ก็ว่างเว้นกว่า 8 เดือน  

 

นอกจากผลสำรวจประชาชนแล้ว สื่อมวลชนหลายสำนักเหล่าคอลัมนิสต์ก็เริ่มวาดปากกาวิจารณ์พฤติกรรม คสช. มากขึ้น โดยเฉพาะการดูดนักการเมือง การต่อท่ออำนาจหลังการเลือกตั้ง โดยหว่านงบประมาณจากเงินภาษีประชาชนลงไปยังพื้นที่เป้าหมายที่หวังเจาะฐานกลุ่มนักการเมืองเจ้าถิ่น เรียกได้ว่าไม่ต่างจากสมัยที่สังคมไทยวิจารณ์พฤติกรรมรัฐบาลบางสมัยที่เทงบประมาณลงให้จังหวัดที่มี ส.ส. ฐานเสียงตัวเองอยู่ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีฐาน ส.ส. ก็ถูกละเลย

 

และจากการจูบปากกับนักการเมืองนี่เอง ที่ทำให้แรงต้านจาก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ดาหน้าออกมาจิกกัดรัฐบาล คสช. ถี่มากขึ้น จนกระทั่งวันนี้เราได้เห็นการส่งเสียงสนับสนุนการเคลื่อนไหวกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ชัดเจนมากขึ้น

 

 

ขอเวลาอีกไม่นาน

1 เดือนแรกหลังตั้งรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ประกาศว่าตัวเอง “ไม่ใช่นักการเมือง” และในปลายปี 2557 พลเอก ประยุทธ์ ยังบอกอีกว่า “อย่ากังวล ยังไงผมก็ไม่สมัครเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว เรื่องอะไรจะมาสมัครเป็นรัฐบาลอีก”

 

ต่อเนื่องถึงอีกวาทะ 1 ปี หลังตั้งรัฐบาล คสช. ย้ำอีกหนโดยมีใจความว่า “ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างฐานอำนาจ”

 

นี่คือคำสัญญาที่เกิดขึ้นท่ามกลางความหวังว่าโรดแมปเลือกตั้งจะเกิดปลายปี 2558 ต้นปี 2559 ก่อนที่โรดแมปจะเลื่อน หลังมีเรือแป๊ะให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ จนมีเสียงตัดพ้อต่อว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

 

กว่า 9 ครั้งที่ พลเอก ประยุทธ์ บอกว่าตนไม่ใช่นักการเมือง จนในที่สุดต้นปีของการย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของ คสช. พลเอก ประยุทธ์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”

 

แต่ที่จริงแล้วแม้จะไม่ออกมาพูด การกระทำก็ชัดยิ่งกว่า เพราะการดำเนินนโยบายตลอด 4 ปี ของ คสช. แทบไม่ต่างจากนักการเมืองที่ตนเองเคยก่นด่ามาตั้งแต่ต้น

 

จะต่างก็เพียงแต่ว่ารัฐบาลเลือกตั้งไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เพราะต้องกลับมาขอความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี ซึ่งรัฐบาล คสช. กลับมีแนวโน้มขอเวลาต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อกองหนุนใกล้หมด ต่อจากนี้ไปจึงน่าสนใจว่าใครจะเป็น ‘กองหนุน’ และยอมต่อเวลาให้ คสช. อีก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising