ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผย 4 กลยุทธ์ปี 2566-2568 มุ่งยกระดับตลาดทุนไทยเทียบชั้นสากล รับต้องปรับแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่การปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ เกณฑ์การซื้อขาย ขยายช่วงเวลาเทรดหุ้น รวมถึงปรับกระบวนการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรม หวังปิดช่องโหว่การใช้ตลาดทุนในทางที่ผิด ยันตลาดทุนไทยเสน่ห์ล้น ยอดระดมทุน IPO ปีนี้มากกว่าปีก่อน
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานแถลงแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2566-2568 ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาและปรับปรุงทั้งกระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้ในอนาคตตลาดทุนไทยมีประสิทธิภาพ และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนร่วมในตลาดมากขึ้น โดยสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำนั้นจะเป็นการปรับกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัปเดต 7 หุ้น พอร์ต เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท
- สำรวจ 8 หุ้นใหญ่ พอร์ต 6.68 หมื่นล้าน นิติ โอสถานุเคราะห์ บอสใหญ่โอสถสภา
- แกะพอร์ต 10 หุ้น ในมือ สุระ คณิตทวีกุล เจ้าของ COM7 มหาเศรษฐีไทย อันดับที่ 49
เรื่องแรกคือ การพิจารณาความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของทั้ง SET, mai และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง เพื่อให้เหมาะสมมากขึ้นในอนาดต
เรื่องที่สองคือ ปรับเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ จะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลในอนาคตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น โปรแกรมเทรดดิ้ง อินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง การซื้อขายที่มากขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศ
เรื่องที่สามคือ การพิจารณาปรับกรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงแก้ไขเกณฑ์การใช้ข้อมูลสำคัญๆ เช่น การถือครองหุ้น การติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์ด้านต่างๆ เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำมากขึ้น เช่น เครดิตบูโรของ บล. ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประกอบธุรกิจ
เรื่องที่สี่คือ การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำอย่างไรให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่รุนแรง
“เราจะมีแผนงานที่จะทำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมันไม่ใช่อะไรที่ทำได้เร็ว โดยระยะสั้นอาจมีการทบทวนประวัติความเสี่ยงของนักลงทุน, การที่ บล. เอาข้อมูลมาใช้ จะทำอย่างไรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้สะดวกขึ้น และการปรับปรุงการปฏิบัติการภายใน เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง ซึ่งเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจไม่ได้ปรับกันมานาน” ภากรกล่าว
เปิดแผน 3 ปี เน้นสร้างตลาดทุนที่ ‘ง่าย’ สำหรับทุกคน
ภากรกล่าวถึงแผนกลยุทธ์พัฒนาตลาดทุนไทยในระยะ 3 ปี (ปี 2566-2568) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ ‘To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone’ ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1: ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการเพิ่มโอกาสการระดมทุน มุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาด ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่กระบวนการให้ข้อมูลและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ และจะมุ่งพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จะพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัล ทั้ง Investment Token และ Utility Token ในไตรมาส 3/66
ด้านที่ 2: ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/66 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่
ด้านที่ 3: ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด ด้วยการพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยแบบ Thematic และ Issue-based เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดทุนด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันจะมีการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ของบริษัทจดทะเบียนมาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2/66 นอกจากนี้จะพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกสินค้า ESG-Linked
ด้านที่ 4: ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายในและภายนอกองค์กร โดยทำงานร่วมกับพันธมิตร นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ภากรกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังว่าการดำเนินกลยุทธ์ 4 ด้านดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่มากกว่าสำหรับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสการระดมทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดทุน และดูแลสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่สมดุลและยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งธุรกิจ ตลาดทุน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ
เตรียมใช้ระบบซื้อขายใหม่ไตรมาสนี้
ด้าน ถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้ระบบซื้อขายใหม่ภายในช่วงไตรมาส 1/66 หลังปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนทดสอบระบบกับผู้ร่วมตลาดครั้งสุดท้ายแล้ว หลังจากระบบเดิมใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยใช้เงินลงทุนหลักหลายร้อยล้านบาท
สำหรับรายละเอียดระบบการซื้อขายใหม่นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น การเชื่อมต่อระบบที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาได้ง่ายมากขึ้น และการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้น โดยปรับการเปิดเผยข้อมูล Bid-Offer (ราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขาย) เป็น 10 Bids และ 10 Offer จากเดิมแค่ 5 Bids และ 5 Offer ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น
ขณะที่ระบบซื้อขายใหม่ยังสามารถรองรับวอลุ่มการซื้อขายสูงสุดต่อวันได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า หรือประมาณ 2-3 แสนล้านบาทต่อวัน จากระบบเดิมที่ระดับเทรดสูงสุดต่อวันที่เคยทำไว้ 1 แสนล้านบาท และมีระบบป้องกันการจับคู่การซื้อขายกันเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่โบรกเกอร์ที่มีลูกค้าที่ใช้แอ็กเคานต์ร่วมกัน ไม่ให้ส่งคำสั่งซื้อขายที่จับคู่กันเอง นอกจากนี้ ระบบใหม่นี้จะรองรับกฎเกณฑ์ของตลาดที่จะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปรับปรุงระบบ Surveillance ที่ใช้ตรวจสอบหรือดักจับการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จ่อขยายเวลาเทรด SET-TFEX
รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างศึกษาการขยายเวลาการซื้อขายของตลาดหุ้นและตลาด TFEX ให้มีความเหมาะสมและทันกับสถานการณ์ เพราะในปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีสินค้าที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งบางช่วงเวลาที่ตลาดข้างในปิด ตลาดข้างนอกยังมีการซื้อขายกันอยู่
“มองว่าการขยายเวลาการซื้อขายอาจทำเฉพาะบางโปรดักต์หรือรวมทั้งตลาดก็ได้ โดยตลาดจะพิจารณาสิ่งที่เป็นโอกาสของผู้ลงทุนด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ต้องหารือร่วมกับโบรกเกอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่”
มั่นใจมูลค่าระดมทุนผ่าน IPO ปีนี้มากกว่าปีก่อน
แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทเข้าเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai จำนวนมากกว่าปีก่อน และมีมาร์เก็ตแคปมากกว่าปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ เรื่องมาตรฐานทางบัญชี ที่กำหนดให้บริษัทยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAE) เป็น 3 ปีย้อนหลัง จากเดิมที่ 1 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2567 จึงทำให้บริษัทต่างๆ ที่จัดทำงบการเงิน PAE ไม่ถึง 3 ปี ก็ต้องเร่งเข้าการระดมทุนในปีนี้
ปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต. ในการเข้าจดทะเบียนใน SET รวม 14 บริษัท ซึ่งได้รับอนุมัติในการเสนอขายหุ้นแล้วจำนวน 7 บริษัท ส่วนอีก 7 บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต. พร้อมคาดว่าปีนี้จะยังมีบริษัทขนาดใหญ่ประมาณ 2-3 บริษัท เข้าเสนอขาย IPO อย่างต่อเนื่อง
ด้าน ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวว่า ในปีนี้จะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใน mai มากกว่าปีก่อน และมีมาร์เก็ตแคปเกิน 2 หมื่นล้านบาท เพราะเรื่องของเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ PAE และบริษัทต้องการเข้ามาระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ยื่นไฟลิ่งแล้วรวม 15 บริษัท โดยแบ่งเป็น Approved แล้ว 3 บริษัท และอยู่ระหว่างการเปิดจองซื้ออีก 1 บริษัท และเตรียมขายในเดือนมกราคมนี้ โดยคาดว่าไตรมาส 1/66 จะมี IPO เข้าเทรดใน mai จำนวน 2 บริษัท