×

ศบค. เผยข้อปฏิบัติของ 4 กลุ่มต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทย หลังที่ประชุมอนุมัติหลักการแล้ว

22.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (22 กรกฎาคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019​ (ศบค.) เปิดเผยเกี่ยวกับการพิจารณาการเตรียมความพร้อมการผ่อนคลายระยะที่ 6 หรือการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต ซึ่งมี 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

 

กลุ่มที่ 1 การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดการแสดงสินค้าในราชอาณาจักร โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีการจัดการแสดงสินค้าจำนวนมาก ตั้งแต่กันยายน จะมีจัด 1 งาน ผู้เข้าร่วมประมาณ 680 คน, ตุลาคม จะมี 8 งาน 400 กว่าคน, พฤศจิกายน จะมี 4 งาน ผู้ร่วมงานกว่า 4,000 กว่าคน เป็นต้น ทั้งหมดจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยพอสมควร

 

ทั้งนี้ชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าต้องพักอยู่ในโรมแรมที่ ศบค. ลิสต์ไว้ให้เป็น State Quarantine เป็น Alternative State Quarantine และระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย จะต้องมีเจ้าหน้าที่ติดตามดูแล 1 คนต่อชาวต่างชาติ 10 คน

 

ส่วนแนวปฏิบัติในการเข้าร่วมงานแสดงานสินค้าสำหรับชาวต่างชาติ ต้องมีข้อปฏิบัติก่อนเดินทางเข้าประเทศดังนี้

  • ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 3 วันก่อนเดินทาง
  • ทำประกันสุขภาพ (ประกันโควิด-19) ตามข้อกำหนดของรัฐบาล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 คน
  • ข้อมูลที่ต้องแจ้งกับผู้จัดงานก่อนเดินทาง เช่น โปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย, ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ, ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ, ลงนามในหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบของรัฐบาลไทย, เลือกแพ็กเกจการดูแลระหว่างอยู่ในประเทศไทย ซึ่งบริหารจัดการโดย DMC ที่ได้รับการรับรอง และระบุโรงแรมที่พักตามที่ผู้จัดงานกำหนดให้เท่านั้น
  • ลงทะเบียนแอปพลิเคชันไทยชนะและแอปฯ หมอชนะ เพื่อบันทึกประวัติ

 

ขณะที่แนวทางปฏิบัติของผู้จัดงานต้องมีรายละเอียดดังนี้

  • จัดให้มีฉากกั้นบนโต๊ะเจรจาไปในคูหา
  • จัดให้มีฉากกั้นระหว่างโต๊ะเจรจาในพื้นที่เจรจา
  • จัดให้มีการทำออนไลน์ในการเจรจาธุรกิจร่วมกับส่วนกายภาพเป็น Hybrid Discussion
  • จัดให้มีการแยกพื้นที่เจรจาระหว่างผู้แสดงงานชาวต่างชาติและผู้แสดงงานชาวไทย 

 

กลุ่มที่ 2 อนุญาตให้ชาวต่างชาติมาถ่ายทำภาพยนตร์ในราชอาณาจักรไทย ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์ยกกองมาถ่ายทำที่ประเทศไทยหลายพันเรื่อง และสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทในแต่ละปี

 

ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอข้อปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ ในคณะถ่ายทำภาพยนตร์สำหรับชาวต่างชาติ ต้องมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • ก่อนเดินทางเข้าประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์และเอกสารตามที่ ศบค. กำหนด
  • เมื่อเดินทางถึงไทยต้องเข้ากักตัวในโรงแรม Alternative State Quarantine เป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้ออีกครั้งตามข้อกำหนดของสาธารณสุข
  • มีเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขติดตามตลอดระยะเวลาที่อยู่ในไทย
  • ทีมงานทุกคน ทั้งไทยและต่างชาติต้องมีประกันคุ้มครองโรคโควิด-19
  • ต้องแจ้งการใช้พื้นที่ถ่ายทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้ทราบล่วงหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่
  • ทีมงานทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลาที่อยู่ประเทศไทย 

 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลโดยตรง (Medical Wellness) ซึ่งหลังจากเข้ารับการรักษา ไม่ว่าจะรักษาอะไรก็ตาม ต้องเข้ารับการกักตัวในโรงพยาบาล 14 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน หลังจากนั้นหลายพื้นที่ท่องเที่ยวของไทยจะเปิดแพ็กเกจหรือโปรแกรมท่องเที่ยวขึ้นมาให้กลุ่มที่เข้ารับการรักษาที่มีกำลังจ่ายเงินได้เที่ยวในประเทศไทยต่อเนื่อง 

 

กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ถือบัตรสมาชิกพิเศษของประเทศไทย (Thailand Elite Card) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 10,363 ราย แต่อยู่ในไทยก่อนแล้ว 3,108 ราย และอยู่นอกราชอาณาจักร 7,255 ราย และกลุ่มที่เตรียมนำร่องเข้าราชอาณาจักรมีอยู่ 200 ราย ทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามไม่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ คือต้องกักตัวใน State Quarantine 14 วัน และอื่นๆ เพื่อสร้างความสบายใจให้คนไทย 

 

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนรายละเอียดที่ต้องลงลึกเป็นรายข้อ ต้องให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้แจงอีกครั้ง แต่โดยหลักการแล้ว ในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่วันนี้ได้อนุมัติในหลักการเบื้องต้นแล้ว ก่อนให้ไปลงรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ขณะเดียวกันกรณีของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่เตรียมเปิดให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ รวมเป็นจำนวนประมาณแสนกว่าคน ประกอบด้วย 

  1. กลุ่มแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าอยู่แล้ว ที่เดินทางออกไปก่อนหน้านี้ในช่วงการระบาดโควิด-19 และต้องการกลับเข้ามาทำงานใหม่ จำนวน 69,235 คน
  2. กลุ่มแรงงานที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า หรือแรงงานที่นายจ้างได้ยื่นติดต่อ และมีความต้องการนำเข้ามา 42,168 คน รวมแล้วประมาณ 1.1 แสนกว่าคน

 

โดยทั้งหมดต้องกักตัว 14 วัน และได้รับการตรวจที่เป็นมาตรฐานทั้งจากสาธารณสุขและฝ่ายความมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อในพื้นที่นั้นๆ โดยในรายละเอียดกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ชี้แจงอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising