นอกเหนือจากงานภาพอันงดงามและเรื่องราวสุดประทับใจจนเราต้องเสียน้ำตา อีกหนึ่งความโดดเด่นของภาพยนตร์แอนิเมชันจาก Pixar Animation Studios คือการพาผู้ชมกระโดดเข้าสู่ ‘โลกเหนือจินตนาการ’ แล้วออกผจญภัยไปพร้อมกับเหล่าตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ เช่นเดียวกับ Elemental ผลงานเรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ Peter Sohn ที่จะพาเราออกเดินทางสู่เมืองแห่งธาตุ เพื่อไปติดตามเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสาวธาตุไฟและหนุ่มธาตุน้ำที่ดูเข้ากันไม่ได้
THE STANDARD POP ถือโอกาสชวนทุกคนมาร่วมสำรวจเบื้องหลังโลกเหนือจินตนาการของ 4 ผลงานเรื่องเยี่ยมจาก Pixar ว่าผู้กำกับและทีมสร้างได้รับแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โลกต่างๆ เหล่านั้นมาจากไหน เริ่มตั้งแต่ Monsters, Inc. (2001) กับโลกของเหล่ามอนสเตอร์สุดหรรษา, Inside Out (2015) กับโลกในจิตใจของเด็กสาวที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่, Soul (2020) กับดินแดนที่วิญญาณดวงใหม่ต้องเตรียมตัวก่อนไปเกิดในโลกมนุษย์ และ Elemental กับเมืองแห่งธาตุสุดอลวน
Monsters, Inc. (2001)
Monsters, Inc.: ‘เปิดประตู’ สู่โลกของเหล่ามอนสเตอร์สุดหรรษา
Monsters, Inc. คือผลงานการกำกับภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของ Pete Docter ที่ออกฉายในปี 2001 บอกเล่าเรื่องราวของสองคู่หูมอนสเตอร์อย่าง Sulley (John Goodman) และ Mike (Billy Crystal) ที่ทำงานอยู่ในบริษัทรับจ้างหลอน โดยพวกเขาต้องเดินทางผ่านประตูไปสู่โลกมนุษย์ และหลอกหลอนเด็กๆ ให้กรีดร้อง เพื่อนำเสียงกรีดร้องมาผลิตเป็นพลังงานในเมือง Monstropolis กระทั่งวันหนึ่งทั้งคู่กลับทำเด็กน้อยอย่าง Boo (Mary Gibbs) หลุดออกมาสู่โลกมอนสเตอร์ Sulley และ Mike จึงต้องทำทุกทางเพื่อพา Boo กลับสู่โลกมนุษย์โดยที่ไม่ให้ถูกจับได้
Monsters, Inc. นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานจาก Pixar ที่รังสรรค์โลกมอนสเตอร์ขึ้นมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นเหล่ามอนสเตอร์ที่อาศัยอยู่ใน Monstropolis ที่แตกต่างหลากหลาย ไปจนถึงตึกรามบ้านช่องที่ออกแบบมาได้น่าสนใจ โดยแรกเริ่มเดิมทีทีมสร้างได้เดินทางไปสัมภาษณ์เด็กๆ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับมอนสเตอร์ที่เด็กส่วนใหญ่หวาดกลัว แต่ในท้ายที่สุดทีมสร้างก็ตัดสินใจที่จะออกแบบเหล่ามอนสเตอร์ขึ้นมาด้วยจินตนาการของตัวเอง ซึ่งแตกต่างไปจากผลงานก่อนหน้าของ Pixar อย่าง Toy Story (1995) และ A Bug’s Life (1998) ที่ทีมสร้างได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับของเล่นและแมลงในโลกความจริง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ
ด้านเบื้องหลังการสร้างเมือง Monstropolis ทีมสร้างตัดสินใจออกแบบที่อยู่อาศัย สิ่งของ ไปจนถึงยานพาหนะให้มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมนุษย์ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกคุ้นเคยและเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ได้ทันที พร้อมกับการออกแบบรายละเอียดปลีกย่อยให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมอนสเตอร์ เริ่มตั้งแต่สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ถูกออกแบบให้ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมยุค 1900 โดยใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทานอย่างอิฐและเหล็ก เพื่อที่จะสามารถรับน้ำหนักของมอนสเตอร์ขนาดต่างๆ ได้ หรือจะเป็นรายละเอียดเล็กๆ อย่างประตูบ้านของ Sulley และ Mike ที่มีทั้งบานเล็กและใหญ่ เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดตัวที่ต่างกันของทั้งคู่
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเรื่องคือโรงงานของบริษัทรับจ้างหลอน โดยทีมสร้างได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่โต เนื่องจากการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของบริษัทและเมือง Monstropolis หลังจากเริ่มต้นการผลิตพลังงานจากเสียงกรีดร้องของเด็กๆ นั่นเอง
Inside Out (2015)
Inside Out: โลกในจิตใจของเราหน้าตาเป็นอย่างไรนะ?
Inside Out อีกหนึ่งผลงานเรื่องเยี่ยมจากผู้กำกับ Pete Docter ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม จนสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ โดยภาพยนตร์พาผู้ชมไปติดตามเรื่องราวของ Riley (Kaitlyn Dias) เด็กสาววัย 11 ปีที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยมีเหล่าอารมณ์ทั้งห้า ได้แก่ Joy (Amy Poehler), Fear (Bill Hader), Anger (Lewis Black), Disgust (Mindy Kaling) และ Sadness (Phyllis Smith) ซึ่งทำงานอยู่ภายในจิตใจของเธอคอยควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ แต่แล้ว Joy และ Sadness กลับหลงทางไปอยู่ที่ไหนสักแห่งในตัวของ Riley Joy และ Sadness จึงต้องรีบหาทางกลับไปยังศูนย์บัญชาการ ก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม
ความโดดเด่นประการหนึ่งที่ Inside Out นำเสนอออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมคือการรังสรรค์โลกภายในจิตใจให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยก่อนที่เราจะได้ชมเรื่องราวเปี่ยมจินตนาการนี้ ผู้กำกับและทีมสร้างได้เดินทางไปสอบถามนักประสาทวิทยา จิตแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์หลายคน เพื่อทำความเข้าใจว่าอารมณ์ของมนุษย์มีกี่รูปแบบ มีกระบวนการทำงานแบบไหน และอารมณ์เหล่านั้นส่งผลต่อตัวเราอย่างไร ไปจนถึงการศึกษาเรื่องสรีรวิทยา เซลล์ และสมอง เพื่อออกแบบโลกภายในจิตใจของ Riley ขึ้นมา
ก่อนที่ทีมสร้างจะเริ่มต้นการออกแบบคาแรกเตอร์ของเหล่าอารมณ์ต่างๆ โดยตีความให้อารมณ์แต่ละแบบมีรูปร่างคล้ายอนุภาคที่เปล่งประกายและมีเฉดสีที่สื่อถึงอารมณ์ต่างๆ รวมถึง Bing Bong เพื่อนในจินตนาการของ Riley ที่มีรูปร่างคล้ายช้างผสมสายไหมซึ่งมาจากจินตนาการในวัยเด็กของเธอ พร้อมกับการสร้างสถานที่ต่างๆ ภายในจิตใจที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพรวมของกระบวนการทำงานในจิตใจว่า เหตุการณ์ที่ Riley พบเจอในแต่ละวันและการตัดสินใจต่างๆ ของเธอนั้นส่งผลต่อบุคลิก อารมณ์ และโลกในจิตใจของเธออย่างไร
เริ่มต้นด้วยศูนย์บัญชาการหลักซึ่งเป็นสถานที่ที่อารมณ์ทั้งห้าคอยควบคุมการแสดงอารมณ์ของ Riley ขณะที่เธอต้องเจอกับเหตุการณ์มากมายในแต่ละวัน, Dream Productions สตูดิโอที่คอยสร้างความฝันและฝันร้ายในขณะที่ Riley หลับใหล, Imagination Land สถานที่ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างจินตนาการและความใฝ่ฝันของ Riley ให้ออกมาเป็นรูปธรรม และเมื่อเธอล้มเลิกความฝันเหล่านั้น สิ่งต่างๆ ที่อยู่ใน Imagination Land ก็จะค่อยๆ ถูกทำลายลง
Islands of Personality หรือเกาะแห่งบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นจากความทรงจำหลักของ Riley เพื่อให้เราเห็นว่าบุคลิกแต่ละแบบมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และเหตุการณ์ที่ Riley พบเจอนั้นส่งผลต่อบุคลิกของเธออย่างไร และ Long Term Memory พื้นที่จัดเก็บความทรงจำระยะยาวที่ Riley เคยพบเจอมาตั้งแต่แรกเกิด โดยมีพนักงานเซลล์สมองคอยดูแลและจัดเก็บความทรงจำที่เสื่อมสภาพ เพื่อส่งไปยังหลุมที่ความทรงจำต่างๆ จะค่อยๆ ถูกลืมเลือน
Soul (2020)
Soul: ออกค้นหาแรงบันดาลใจในดินแดน The Great Before
Soul ว่าด้วยเรื่องราวของ Joe Gardner (Jamie Foxx) ที่ทำงานเป็นครูสอนดนตรี ณ โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่ง ควบคู่ไปกับการพยายามไล่ตามความฝันที่อยากจะเป็นนักดนตรีแจ๊สชื่อดัง วันหนึ่ง Joe ก็ได้รับเลือกให้ไปแสดงร่วมกับวงดนตรีแจ๊สมากฝีมือในคลับแจ๊สชื่อดังของกรุงนิวยอร์กได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลก เมื่อเขาประสบอุบัติเหตุจนทำให้วิญญาณของตัวเองหลุดออกไปอยู่ใน The Great Before หรือโลกที่เหล่าวิญญาณดวงใหม่กำลังเตรียมตัวเพื่อไปเกิดบนโลกมนุษย์ Joe จึงต้องหาวิธีกลับร่างของตัวเองและรีบไปแสดงดนตรีที่เขาใฝ่ฝันให้ทันเวลา
เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘โลกหลังความตาย’ หรือโลกของวิญญาณ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้รับการตีความและนำเสนอผ่านจอภาพยนตร์มาแล้วหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Soul สองผู้กำกับ Pete Docter และ Kemp Powers ตัดสินใจพาผู้ชมไปสำรวจ ‘โลกก่อนเกิด’ หรือ The Great Before ซึ่งเป็นดินแดนที่วิญญาณต่างๆ จะได้รับการกำหนด ‘บุคลิก’ และตามหา ‘แรงบันดาลใจ’ ก่อนที่จะเดินทางไปเกิดบนโลกมนุษย์
โดยเบื้องหลังการสร้างโลก The Great Before ทางทีมสร้างเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนต่างเดินทางมาจากสถานที่เดียวกัน พวกเขาจึงไม่อยากให้การออกแบบทิวทัศน์และอาคารใน The Great Before มีความเชื่อมโยงหรือคล้ายกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งมากเกินไป ขณะเดียวกันทีมสร้างต้องการออกแบบให้ The Great Before ดูไม่น่ากลัวเกินไป แต่ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตร เข้าถึงได้ง่าย
ทีมสร้างจึงนำรูปทรงเรขาคณิตมาปรับใช้ในการออกแบบ เลือกใช้สีพาสเทลเป็นหลัก มีบรรยากาศยามเช้าตลอดทั้งวัน เมื่อมองแล้วให้ความรู้สึกนุ่มนวลเหมือนหมอนนุ่มๆ อาคารต่างๆ ถูกออกแบบให้มีรูปทรงที่ดูนามธรรม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมของงานนิทรรศการโลก หรือ World Fairs ในช่วงยุค 1930-1960
นอกเหนือจาก The Great Before อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ปรากฏในภาพยนตร์คือ The Astral Plane หรือดินแดนที่อยู่ตรงกลางระหว่างกายและจิต ซึ่งในช่วงเวลาที่มนุษย์กำลังจดจ่ออยู่กับบางสิ่ง วิญญาณของพวกเขาจะปรากฏในสถานที่แห่งนี้ โดย The Astral Plane ถูกออกแบบให้มีทิวทัศน์คล้ายกับทะเลทรายที่เคลื่อนไหวได้ มีทรายที่ส่องประกายเหมือนดวงดาว เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนว่าทุกๆ อย่างสามารถเกิดขึ้นได้
ขณะที่เบื้องหลังการออกแบบเหล่าวิญญาณต่างๆ ผู้กำกับและทีมสร้างไม่อยากให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครที่เห็นคือ ‘ผี’ แต่เป็น ‘วิญญาณ’ พวกเขาจึงเลือกใช้โทนสีของวิญญาณเป็นสีฟ้า ม่วง เขียว มีคาแรกเตอร์ที่ดูสนุกสนาน ไร้เดียงสา และเป็นมิตร ประกอบกับการศึกษาเรื่องจิตวิญญาณของวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย จนเกิดเป็นตัวละครอย่าง 22 และวิญญาณดวงใหม่อีกมากมายที่เราได้ชม
ด้านตัวละครอย่าง Jerry ผู้คอยให้คำปรึกษาและควบคุมดูแลเหล่าวิญญาณหน้าใหม่ ผู้กำกับและทีมสร้างได้ตีความให้ Jerry คือตัวตนของจักรวาล แต่จะปรากฏในภาพลักษณ์ที่ตัวละครและผู้ชมคุ้นเคย พวกเขาจึงเริ่มต้นออกแบบ Jerry ด้วยแนวคิดเดียวกับที่มนุษย์สร้างหุ่นไล่กา เพราะมนุษย์จินตนาการเอาเองว่าเมื่ออีกาเห็นตัวนี้แล้วจะคิดว่ามันคือมนุษย์จริงๆ จนเกิดเป็นตัวละครสองมิติ มีรูปร่างคล้ายเส้นด้าย และสามารถเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ได้อย่างอิสระ ขณะเดียวกันก็มีนิสัยที่เป็นมิตร เพื่อให้ตัวละครนี้เข้าถึงเด็กๆ ได้ไม่ยาก
Elemental (2023)
Elemental: ยินดีต้อนรับสู่ Element City เมืองแห่งธาตุทั้งสี่
Elemental คือภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องใหม่จาก Disney และ Pixar ภายใต้การกำกับของ Peter Sohn ที่เคยสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมมาแล้วใน The Good Dinosaur (2015) โดยครั้งนี้ Sohn จะพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกที่ธาตุทั้งสี่ อย่างดิน น้ำ ลม ไฟ อาศัยอยู่ร่วมกัน ณ Element City โดยมีกฎเหล็กสำคัญที่ทุกคนต้องรักษาคือ ‘ชาวธาตุจะผสมกันไม่ได้’ กระทั่งวันหนึ่ง Ember (Leah Lewis) สาวธาตุไฟ ก็ได้โคจรมาพบกับ Wade (Mamoudou Athie) หนุ่มธาตุน้ำโดยบังเอิญ เรื่องราวความสัมพันธ์ที่ดูเข้ากันไม่ได้จึงเริ่มต้นขึ้น
ผู้กำกับ Sohn ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เรื่องราวของ Elemental มาจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง โดย Sohn เล่าว่าในช่วงปี 1970 พ่อแม่ของเขาได้อพยพจากเกาหลีมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยการเปิดร้านขายของชำในย่านบรองซ์ กรุงนิวยอร์ก ซึ่งทำให้เขาเติบโตขึ้นในสถานที่ที่มีการผสมผสานระหว่างภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่ง Sohn ได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้เป็นแกนหลักสำคัญของเรื่อง
ด้านเบื้องหลังการสร้าง Element City ที่เหล่าธาตุอาศัยอยู่ร่วมกัน ผู้กำกับและทีมสร้างได้เริ่มจินตนาการถึงประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ขึ้นว่าใครคือคนที่พบกับสถานที่แห่งนี้เป็นกลุ่มแรก โดยพวกเขาเลือกให้ธาตุน้ำเป็นผู้อพยพมาอาศัยอยู่ก่อน จึงทำให้ธาตุน้ำมีประชากรมากที่สุด รวมถึงโครงสร้างและการคมนาคมส่วนใหญ่ของเมื่องก็มีน้ำเป็นส่วนสำคัญ ตามมาด้วยดิน ลม และไฟที่มาถึงเป็นกลุ่มสุดท้าย ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มสร้างและแบ่งเขตที่พักอาศัยของแต่ละธาตุ
เมื่อ Element City เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นจากเหล่าธาตุน้ำที่มาถึงก่อน ผู้กำกับและทีมสร้างจึงนำองค์ประกอบนี้มาใช้เป็นปมปัญหาหลักของตัวละครอย่าง Ember สาวธาตุไฟที่ไม่ถูกกับน้ำ ก่อนที่จะได้รับการต่อยอดเป็นเรื่องราวการผจญภัยของ Ember ที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อตนเอง
ในขณะที่รูปแบบของเมือง Element City เนื่องจากเมืองนี้มีการคมนาคมทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ทางผู้กำกับและทีมสร้างจึงออกแบบให้ Element City เป็นเมืองที่มีคลองมากมาย คล้ายกับเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่จะแบ่งเขตอาศัยไปตามธาตุต่างๆ
เช่น เมืองธาตุไฟ ทีมสร้างได้ออกแบบให้สิ่งก่อสร้างและสิ่งของต่างๆ มีรูปทรงที่คล้ายกับเปลวเพลิง มีพื้นผิวที่สัมผัสได้ถึงการถูกเผาไหม้ ห้อมล้อมไปด้วยควันไฟ เลือกใช้สีของเมืองไปทางโทนร้อน ให้ความรู้สึกถึงความแห้ง ส่วนเมืองธาตุน้ำจะถูกออกแบบให้ตรงกันข้ามกับเมืองธาตุไฟอย่างสิ้นเชิง ทั้งโทนสีที่เย็นกว่า มีความอิสระและลื่นไหลกว่า และกว้างใหญ่มากกว่า
ส่วนเรื่องราวการผจญภัยในโลกแห่งธาตุของ Ember และ Wade จะเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน เราคงต้องไปติดตามกันต่อในโรงภาพยนตร์
Elemental เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่าง Elemental ได้ที่:
ภาพ: Pixar
อ้างอิง:
- https://www.pixar.com/feature-films/monsters-inc
- https://screenrant.com/inside-out-pete-docter-interview/
- https://www.pixar.com/feature-films/inside-out
- https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2020-12-24/pixar-soul-great-before
- https://www.pixar.com/soul
- https://www.pixar.com/elemental
- https://screenrant.com/elemental-movie-element-city-design-development-director-explained/
- https://screenrant.com/elemental-pixar-movie-news-updates-release-date-story/