×

4 New Normal ของวงการแพทย์

04.01.2021
  • LOADING...
4 New Normal ของวงการแพทย์

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • งานวิจัยทางการแพทย์หนึ่งชิ้น หลังส่งต้นฉบับต้องใช้เวลาในการเดินทางผ่านมือผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตรวจทานเป็นเวลาเฉลี่ย 8-9 เดือน กว่าจะได้เผยแพร่ แต่วิกฤตโควิด-19 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ถูกผลิตและเผยแพร่มากมายในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ถูกย่นลงไปเหลือแค่ 20 วัน 
  • Hand Hygiene หรือการรักษาความสะอาดของมือ ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย เป็นสิ่งที่แพทย์ควรปฏิบัติเสมอ แต่จากหลายงานวิจัยพบว่า อัตราการปฏิบัติได้จริงอยู่ที่ราว 40-60% แต่วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลให้แพทย์ขยันล้างมือกันมากขึ้น โดยวิจัยพบว่าอัตราการล้างมือเพิ่มเป็นเกือบ 100% ในบางโรงพยาบาล 
  • Telemedicine ถูกยอมรับและใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วทั้งโลก ส่งผลให้มีการขยายตัวของตลาดทั่วโลกราว 30-60% แพทย์ที่เคยปฏิเสธ Telemedicine ต่างหันมาทดลองใช้และยอมรับมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งไม่เคยรู้จัก Telemedicine ก็มีโอกาสได้รู้จักและเปิดใจรับ

2020 เป็นปีที่ Oxford ถึงกับประกาศว่าไม่สามารถใช้คำเพียงคำเดียวมาอธิบายเป็น Word of the Year เฉกเช่นทุกปีได้ เพราะมีเรื่องราวมากมายที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง Pandemic, Lockdown, Coronavirus, Zoom Fatigue, Resilience, Staycation, Anthropause เป็นเพียงบางส่วนของคำศัพท์ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง รวมถึงอีกคำที่เชื่อว่ากระทบกับการใช้ชีวิตของทุกคน นั่นคือคำว่า ‘New Normal’

 

New Normal หรือความปกติใหม่นั้น เกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ความปกติใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตหลายด้าน เกิดในหลายวงการสาขาอาชีพ รวมถึงวงการแพทย์ที่มี New Normal เกิดขึ้นยิบย่อยมากมาย แต่มีอยู่ 4 เทรนด์ที่มีผลกระทบค่อนข้างมาก และน่าจะส่งแรงกระเพื่อมไปอีกนานแม้โควิด-19 จะอ่อนกำลังไปในอนาคต New Normal เหล่านี้ก็น่าจะยังคงอยู่ 

 

Speed 

โดยปกติแล้ววงการแพทย์จะเป็นวงการที่ค่อนข้างเคลื่อนตัวช้าแต่มั่นคง ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางการแพทย์หนึ่งชิ้น หลังจากผู้เขียนพร้อมส่งต้นฉบับแล้ว ต้องใช้เวลาในการเดินทางผ่านมือผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตรวจทานเป็นเวลาเฉลี่ย 8-9 เดือน กว่าจะได้เผยแพร่ แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้นักวิจัยและแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ถูกผลิตและเผยแพร่มากมายในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ถูกย่นลงไปเหลือแค่ 20 วัน และเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการระบาดเริ่มต้น นักวิจัยจากจีนก็เผยแพร่งานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากคนไข้ 73,000 คนเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิต

 

ส่วนการพัฒนาและผลิตวัคซีนนั้น โดยปกติใช้เวลา 10-15 ปีกว่าจะออกสู่ท้องตลาด แต่ด้วยความหนักหนาของวิกฤติการณ์ ส่งผลให้วัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาและใช้งานจริงในระยะเวลาเฉลี่ยเพียง 11 เดือน

 

Hygiene

Hand Hygiene หรือการรักษาความสะอาดของมือ ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย เป็นสิ่งที่แพทย์ควรปฏิบัติเสมอ แต่จากหลายงานวิจัยพบว่าอัตราการปฏิบัติได้จริงอยู่ที่ราว 40-60% แต่วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลให้แพทย์ขยันล้างมือกันมากขึ้น โดยวิจัยพบว่าอัตราการล้างมือเพิ่มเป็นเกือบ 100% ในบางโรงพยาบาล

 

นอกจากการล้างมือแล้ว การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย อย่างโดยส่วนตัวหมอเอง ในยุคก่อนโควิด-19 สำหรับหัตถการง่ายๆ อย่างการกดสิว จะใส่แค่ถุงมือและหน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์ปกป้อง แต่ในปัจจุบันจะมีทั้งหมวกและเฟซชีลด์เป็นอุปกรณ์เพิ่มเติมทุกครั้ง 

4 New Normal ของวงการแพทย์

 

Virtual Care

โทรเวช หรือ Telemedicine คือการที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำทางการแพทย์กับผู้ป่วยหรือผู้รับคำแนะนำที่อยู่ไกลออกไป Telemedicine ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่เคยมีกรอบหรือกฎที่แน่ชัด และไม่เคยได้รับความนิยม จนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Telemedicine ถูกยอมรับและใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วทั้งโลก ส่งผลให้มีการขยายตัวของตลาดทั่วโลกราว 30-60% แพทย์ที่เคยปฏิเสธ Telemedicine ต่างหันมาทดลองใช้และยอมรับมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งไม่เคยรู้จัก Telemedicine ก็มีโอกาสได้รู้จักและเปิดใจรับ

 

Virtual Care หรือการดูแลรักษาผ่านทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้กับแพทย์หลากสาขา ทั้งในรูปแบบของออนไลน์อย่างเดียว หรือผสมผสานออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช ที่มีการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ผนวกเข้ากับบริการเจาะเลือดถึงบ้านในรูปแบบออฟไลน์ แล้วฟังผลผ่านทางออนไลน์ และรับยาที่ถูกจัดส่งถึงบ้าน เป็นตัวอย่างของ Virtual Care ในแบบผสมผสาน 

 

How We Learn

แพทย์เองไม่ต่างจากสาขาวิชาชีพอื่นที่ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติม เสริมความรู้ใหม่ๆ ไปตลอด โดยส่วนใหญ่จะผ่านทางการประชุมวิชาการหรือสัมมนาต่างๆ ซึ่งวิกฤตโควิด-19 นี้ได้ส่งผลให้งานประชุมถูกยกเลิก หรือปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ส่งผลให้แพทย์ได้ฝึกเรียนผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนตัวหมอเองยอมรับว่าชอบการเรียนรูปแบบออนไลน์มากกว่า เพราะช่วยประหยัดเวลาได้มาก โดยเฉพาะประชุมวิชาการที่จัดในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบปกติต้องเสียเวลาบินไปกลับเป็นวัน และเจ็ตแล็กต่ออีกสักพักหลังจากบินกลับมา แม้จะมี Zoom Fatigue บ้าง แต่ก็ไม่เหนื่อยเท่ากับเจ็ตแล็ก เชื่อว่าการเรียนรูปแบบออนไลน์จะเป็นอีกเทรนด์ที่คงอยู่และขยายตัวต่อไป  

 

แม้วิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมานี้จะสอนให้เราได้เรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนา จนเกิด ‘New Normal’ ในหลายด้าน แต่คงจะดีกว่ามากหากพวกเราได้กลับสู่ภาวะปกติ Normal ที่ไม่มีการห่างไกลและสูญเสียมากมายขนาดนี้

 

ภาพของโรงพยาบาลสนามที่มีผู้ป่วยนอนเรียงกัน ภาพศพที่ถูกห่อด้วยพลาสติกป้องกันการแพร่เชื้อ ภาพสนามบินที่มีแต่เครื่องบินจอดนิ่งสงบ ภาพไทม์สแควร์ที่ร้างผู้คน วิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาพที่ควรจะอยู่แต่ในซีรีส์กลับเกิดขึ้นจริง 

 

ถ้าเดือนธันวาคมเป็นเอพิโสดสุดท้ายของซีซันแรก ขอให้ซีซันถัดไปโทนความหม่นของซีรีส์เรื่องนี้ลดลง แอ็กชันไม่ต้องมาก ดราม่าไม่ต้องหนัก มีโรแมนติกคอเมดี้แทรกบ้าง 2021 คงจะเป็นซีรีส์ที่สนุกน่าดูขึ้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • Berwick DM. Choices for the “New Normal”. JAMA. 2020;323(21):2125–2126.
  • U.S Department of Health and Human Services. Vaccine product approval process. U.S. Food and Drug Administration. Updated 01/09/2018. Accessed 01/17/2018.
  • Barakat, Amr F., et al. “Timeline from receipt to online publication of COVID-19 original research articles.” medRxiv (2020).
  • Jaklevic MC. Pandemic Spotlights In-home Colon Cancer Screening Tests. JAMA. Published online December 23, 2020.
  • Roshan R, Feroz AS, Rafique Z, Virani N. Rigorous Hand Hygiene Practices Among Health Care Workers Reduce Hospital-Associated Infections During the COVID-19 Pandemic. J Prim Care Community Health. 2020;11:2150132720943331. doi:10.1177/2150132720943331
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising