×

สรุป 4 มาตรการคลัง-ธปท. อัดเงินแสนล้านช่วย SMEs-ตราสารหนี้เอกชน

07.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (7 เมษายน) วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เพื่อออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมีมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน แบ่งเป็น 4 มาตรการ ได้แก่ 

 

มาตรการที่ 1 การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต 


ทั้งนี้มาตรการนี้จะเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้เท่านั้น ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่ ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเกณฑ์การบริหารสภาพคล่องชั่วคราวเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องให้ลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่ 

 

มาตรการที่ 2 การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก  


โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจัดสรร Soft Loan อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ให้ธนาคารวงเงินรวม 5 แสนล้านบาทเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยมีเงื่อนไขเช่น 

  • SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท 
  • มีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562  
  • มาตรการนี้ไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET และ  mai) 
  •  วงเงินที่ SMEs แต่ละรายสามารถขอกู้ได้จะไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 สำหรับ SMEs ที่สนใจ 
  • ช่วง 2 ปีแรก ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี 
  • ช่วง 6 เดือนแรก รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้


อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่ธนาคารในส่วนที่ปล่อยกู้เพิ่มเติมในกรณีที่หนี้กลายเป็นหนี้เสียเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปี 

  • ชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท 
  • ชดเชยให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท 

 

มาตรการที่ 3 มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน    

ช่วงที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกและไทยมีความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนบางส่วนเทขายตราสารหนี้ประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของ GDP ไทย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในวงกว้าง

 

ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังจึงเห็นควรจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund – BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564

ทั้งนี้บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์หรือการเพิ่มทุน ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด ทั้งนี้หากผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายตราสารหนี้ต่อนักลงทุนทั่วไปและมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือ ตราสารหนี้ที่กองทุน BFS จะลงทุนในคราวเดียวกันต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น 

 

มาตรการที่ 4 ลดเงินนำส่ง FIDF ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน 


ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund – FIDF) จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝากเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที    

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนข้างต้นได้ เพราะได้อำนาจจากพระราชกำหนด 2 ฉบับ ได้แก่ 

1. ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

2. ร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X