ในภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งรุนแรง การลงทุนนับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในสินทรัพย์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นคริปโตเคอร์เรนซี แล้วสินทรัพย์ดังกล่าวนั้นจะสามารถพานักลงทุนเอาตัวรอดช่วงนี้ได้หรือไม่ วันนี้ THE STANDARD WEALTH จะพาเพื่อนๆ ไปดูความเห็นจากนักลงทุนระดับโลกกัน
เริ่มกันที่ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีบนอาณาจักรการลงทุน Berkshire Hathaway ได้แสดงความเห็นต่อคริปโตเรื่อยมาว่า คริปโตนั้นก็ไม่ต่างจาก ‘ยาเบื่อหนู’ และเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลิตผลทางเศรษฐกิจใดๆ ทำให้ไม่สามารถประเมินมูลค่าใดออกมาได้
ส่วนคนที่สอง ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูคนสำคัญของคุณปู่บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นรองประธานของอาณาจักร Berkshire Hathaway ที่มีสไตล์การลงทุนแบบเน้นคุณค่าและแน่วแน่ในหลักการไม่แพ้กัน ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งนักลงทุนระดับโลกที่อยู่ตรงข้ามกับคริปโตอย่างชัดเจน ได้แสดงความเห็นไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เขารังเกียจคริปโตจากการที่มีเงินสีดำอยู่เต็มไปหมด หวังว่าคริปโตจะไม่เกิดขึ้นมายังดีเสียกว่า และเขาจะไม่ยอมให้ใครที่เทรดคริปโตมาแต่งงานกับคนในครอบครัวเขาด้วยซ้ำ ซึ่งปู่ชาร์ลียังสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลจีนที่สั่งแบนคริปโตด้วย
อย่างไรก็ตาม ทาง Berkshire ซึ่งถูกบริหารโดยนักลงทุนระดับตำนานอย่างบัฟเฟตต์และมังเกอร์ ซึ่งแม้จะไม่ชอบคริปโต แต่ก็ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทด้านฟินเทคอย่าง NuBank กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) โดยบริษัทนี้ดำเนินกิจการในประเทศบราซิล และยังมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการให้บริการการลงทุนในคริปโตอยู่เหมือนกัน
แม้สองคุณปู่คู่หูการลงทุนจะไม่ชอบคริปโตเลย แต่จากการลงทุนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตัวเขาเองก็รับรู้ว่าเป็นกระแสที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจอยู่กับเราในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่ว่า หากเกิดเหตุการณ์ตื่นทองเราอาจไม่ต้องไปซื้อหรือขายทอง แต่ให้ไปขายจอบหรือเสียมแทนก็เป็นได้
ทีนี้เราลองมาดูในส่วนของนักลงทุนระดับโลกที่มองคริปโตในมุมมองอื่นกันบ้าง
เรย์ ดาริโอ ผู้ก่อตั้งหนึ่งใน Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือ Bridgewater Associates เขามีสไตล์การลงทุนในรูปแบบกระจายสินทรัพย์ (Asset Class) ซึ่งแตกต่างจากบัฟเฟตต์และมังเกอร์ที่โฟกัสหุ้นรายบริษัท ทำให้ดาริโอมีมุมมองเชิงบวกต่อคริปโตมากกว่าคุณปู่บัฟเฟตต์และมังเกอร์
ดาริโอเคยให้ความเห็นไว้ว่า Bitcoin ควรได้รับการพิจารณาเป็นหนึ่งในสินทรัพย์สำหรับการลงทุนในพอร์ต โดยมีไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และตัวเขาเองก็ได้แบ่งเงินในพอร์ตไว้ซื้อคริปโตเล็กน้อยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ดาริโอได้ชี้มุมมองไว้ล่าสุดว่า ความสำเร็จของคริปโตที่นำไปสู่การเป็น ที่รู้จักในวงกว้าง (Mass Adoption) และเริ่มที่จะมีผู้คนสนใจมากเกินไป จะเป็นภัยต่อคริปโตเอง เนื่องจากจะท้าทายระบบการเงินแบบเก่าและทำให้รัฐบาลเข้าไปควบคุมได้
ชามาธ ปารลิแฮปปิธิยา ผู้จัดการและผู้ก่อตั้งกองทุน Social Capita อีกหนึ่งในนักลงทุนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เน้นกลยุทธ์การลงทุนในบริษัทและเทคโนโลยีที่เป็น ‘ดิสรัปทีฟ’ ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘The next Warren Buffett’ นั้นได้ประกาศว่า เขาเป็นหนึ่งในคนที่ลงทุนใน Bitcoin ไปหลายร้อยล้านดอลลาร์ (หลายพันล้านบาท) นับตั้งแต่เมื่อปี 2555 หรือ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเขามองต่างจากนักลงทุนรายอื่นๆ ว่า Bitcoin นั้นยากเกินกว่าที่จะถูกกำจัด เนื่องด้วยโครงสร้างที่ Bitcoin ออกแบบมาไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ต
ปารลิแฮปปิธิยายังได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า คงเป็นการยากที่จะให้ทำนายราคาว่า Bitcoin จะไปที่มูลค่าเท่าไร แต่เขาค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะเข้ามาแทนที่ทองคำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ราคามันเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อจากนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะแตะ 2 แสนดอลลาร์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ล่าสุดจากกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ปารลิแฮปปิธิยายังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่าน Twitter ส่วนตัวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่คริปโตจะถูกนำไปใช้งานในความเป็นจริง จากการที่ Bitcoin ไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินตัวกลางแต่อย่างใด ดังเช่นที่ชาวคริปโตรอคอยกันมา
จากมุมมองของนักลงทุนชั้นนำทั้ง 4 รายของโลก จะเห็นได้ว่ามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อสินทรัพย์ทางเลือกใหม่อย่างคริปโต ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนที่แตกต่างกันไป แต่จะเห็นได้ว่านักลงทุนเหล่านี้ต่างก็สามารถทำผลตอบแทนชั้นยอดได้ แม้จะลงทุนหรือไม่ลงทุนในคริปโตก็ตาม เพราะเขาเหล่านั้นต่าง รู้ดีในสิ่งที่ตัวเองเลือกนั่นเอง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP