จากการจัดสรรวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั่วประเทศ 77 จังหวัด จำนวน 700,000 โดส และต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เกิดเทรนด์ในทวิตเตอร์ #ทวงPfizerให้หน่วยด่านหน้า เรียกร้องวัคซีน Pfizer ที่ได้มาต้องฉีดให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้าอย่างไม่มีข้อแม้
จึงขอชวนย้อนกลับไปทบทวนหลักการ 4 ข้อที่คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสหรัฐฯ (The Advisory Committee on Immunization Practices: ACIP) ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจกระจายวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งถึงแม้จะเป็นแนวทางภายในประเทศ แต่ย่อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นได้
- เพิ่มประโยชน์สูงสุด และลดอันตรายต่ำสุด (Maximize benefits and minimize harms) การจัดสรรวัคซีนควรเพิ่มประโยชน์สูงสุดทั้งในระดับบุคคลและประชากร โดยลดการติดเชื้อ/ป่วยรุนแรง/เสียชีวิต ซึ่งจะลดภาระของระบบสาธารณสุข ภาคบริการที่สำคัญ และคงไว้ซึ่งการดำเนินไปของสังคม ดังนั้น กลุ่มที่จะได้รับวัคซีนต้องเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ/ป่วยรุนแรง/เสียชีวิต หรือปฏิบัติงานที่สำคัญ
ผู้ปฏิบัติงานที่สำคัญ (Essential Workers) ไม่ได้หมายถึงเพียงบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคลากรอื่นที่ทำงานเกี่ยวกับการปกป้องชีวิตหรือมีความสำคัญกับเศรษฐกิจสังคม เช่น การแพทย์ฉุกเฉิน ดับเพลิง ตำรวจ ไปรษณีย์ ขนส่งสาธารณะ การศึกษา เพราะพนักงานบางส่วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เพราะไม่สามารถเว้นระยะห่างทางกายภาพ หรือไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่เพียงพอ
- บรรเทาความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพ (Mitigate health inequities) ทุกคนมีโอกาสที่จะมีสุขภาพ โดยไม่ถูกขัดขวางจากบริบททางสังคม กลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ประสบความเหลื่อมล้ำที่เกี่ยวกับความเสี่ยงของโควิด การกระจายวัคซีนควรกำจัดความเหลื่อมล้ำที่เป็นอุปสรรคในการได้รับวัคซีน เช่น การเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำกัด พื้นที่ชนบท และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาใหม่
- ส่งเสริมความยุติธรรม (Promote justice) การสร้างความมั่นใจว่าทุกคนมีโอกาสเท่ากันในการได้รับวัคซีน ทั้งภายในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรในระยะแรกและระยะต่อมา รวมถึงความมุ่งมั่นในการขจัดอุปสรรคที่ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม หรือที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งทำให้แต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนเป็นสัดส่วนเท่ากัน ข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เครือข่าย และตัวแทนชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและประเมินแผน
- ส่งเสริมความโปร่งใส (Promote transparency) ความโปร่งใสสัมพันธ์กับกระบวนการตัดสินใจ และมีความสำคัญในการสร้างและรักษาความไว้วางใจจากประชาชนระหว่างการวางแผนและการดำเนินการฉีดวัคซีน โดยหลักการ กระบวนการตัดสินใจ และแผนการกระจายวัคซีน ต้องอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ชัดเจน เข้าใจได้ และเปิดเผยให้สาธารณะทราบ
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างและทบทวนกระบวนการตัดสินใจควรได้รับการอำนวยความสะดวก การติดตามการบริหารวัคซีนให้กับกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในระยะแรกจะนำไปสู่ความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในกระบวนการ นอกจากนี้ยังรวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับความแน่นอนของหลักฐานที่มีอยู่ และการสื่อสารข้อมูลใหม่ที่อาจเปลี่ยนคำแนะนำในเวลาที่เหมาะสม
บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งไม่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสำคัญกับ ‘ความโปร่งใส’ ในการกำหนดเกณฑ์จัดสรรวัคซีนในครั้งนี้ โดยควรอธิบายเหตุผลหรือข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ รวมถึงมีระบบติดตามการบริหารวัคซีนล็อตนี้เพื่อสร้างความไว้วางจากประชาชน
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง:
- How CDC Is Making COVID-19 Vaccine Recommendations https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/recommendations-process.html
- The Advisory Committee on Immunization Practices’ Ethical Principles for Allocating Initial Supplies of COVID-19 Vaccine — United States, 2020 https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6947e3.htm
- The Advisory Committee on Immunization Practices’ Updated Interim Recommendation for Allocation of COVID-19 Vaccine — United States, December 2020 https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm695152e2.htm