การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่เหตุการณ์บานปลายขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคขนส่ง (การบิน) การท่องเที่ยวปีนี้อาจมีรายได้ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป
ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารอีก 4 แห่งเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ได้แก่
- ธนาคารไทยพาณิชย์ เบื้องต้นเปิดใช้มาตรการผ่อนคลายผลกระทบระยะสั้นผ่านมาตรการพักชำระเงินต้น (Grace Period) นานสูงสุด 6 เดือน
- ธนาคารกสิกรไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่มีสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมและทางตรงใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ แบ่งเป็น 1. การชำระดอกเบี้ยและชำระเพิ่มเติม 20% ของดอกเบี้ย สูงสุด 12 เดือน และ 2. สนับสนุนวงเงินเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูกิจการ (สามารถใช้การค้ำประกันของ บสย. ได้)
- ธนาคารกรุงไทย มีมาตรการ 1. พักชำระหนี้เงินต้นตามระดับผลกระทบ (ไม่เกิน 12 เดือน) และขยายเวลาชำระหนี้ 2. ลูกค้าที่ใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเดิมสามารถขยายระยะเวลาค้ำประกันออกไปได้อีก 5 ปี (ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม) 3. ‘กรุงไทย SME เคียงข้างธุรกิจคุณ’ ให้เอสเอ็มอีขอสินเชื่อดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (0.01% ต่อปี) และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ พิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้สถาบันการเงินดูแลและพิจารณาให้ความช่วยเหลือใน 3 ข้อ ได้แก่
- ด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อให้ประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ย/ค่าธรรมเนียม
- ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้าง
- ผ่อนผันเพดานวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์